ไทย-จีน จัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วมด้านจุลินทรีย์ หวังสร้างนวัตกรรมจากจุลินทรีย์และเทคโนโลยีแห่งอนาคต

19 ตุลาคม 2561 โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ : กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับ Institute of Microbiology, Chinese Academy of Sciences (IMCAS) สาธารณรัฐประชาชนจีน จัดพิธีเปิด “ห้องปฏิบัติการวิจัยร่วมด้านจุลินทรีย์ไทย-จีน” เพื่อเสริมสร้างศักยภาพงานวิจัยด้านจุลินทรีย์ เพื่อใช้ในการอนุรักษ์และการพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ และการพัฒนาการประมวลผลข้อมูลจุลินทรีย์แบบบิ๊กดาต้า (Microbial Big Data) เพื่อการค้นพบองค์ความรู้ที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมจากจุลินทรีย์และเทคโนโลยีแห่งอนาคต อีกทั้งยังมีการลงนามความร่วมมือระหว่าง สวทช. กับ Chinese Academy of Sciences (CAS) ในการสนับสนุนการจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วมในสาขาอื่นๆ ต่อไป

ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในการดำรงชีวิตเพิ่มมากขึ้น จากปัญหาการลดลงของแหล่งเชื้อเพลิงในธรรมชาติและการขาดแคลนอาหาร ทำให้การเสาะหาแหล่งทรัพยากรอื่นๆ ที่สามารถนำมาทดแทนกลายเป็นความท้าทายใหม่ๆ ของทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งแหล่งทรัพยากรที่หลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยมุ่งให้ความสนใจก็คือ “จุลินทรีย์” ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก จุลินทรีย์เหล่านี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมหลากหลายด้าน อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร ยา สารเคมี และการเกษตร ดังนั้นการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการเก็บรวบรวมและอนุรักษ์ทรัพยากรจุลินทรีย์เหล่านี้ไว้ เพื่อการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆในอนาคต จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. โดย ไบโอเทค เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องของการเก็บรักษาและอนุรักษ์จุลินทรีย์มาโดยตลอด โดยมีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการเก็บรวมรวมสายพันธุ์จุลินทรีย์ มาตั้งแต่ปี 2539 โดยที่ผ่านมาได้มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายในประเทศ เช่น หน่วยเก็บรักษาจุลินทรีย์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หน่วยเก็บรักษาจุลินทรีย์ทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และศูนย์จุลินทรีย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และร่วมกันจัดตั้ง เครือข่ายศูนย์เก็บรักษาจุลินทรีย์แห่งประเทศไทย หรือ TNCC เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรจุลินทรีย์ของประเทศ  ต่อมา สวทช. ยังได้จัดตั้งศูนย์ชีววัสดุแห่งประเทศไทย (Thailand Bioresource Research Center : TBRC) ให้เป็นศูนย์กลางการให้บริการสายพันธุ์จุลินทรีย์และเทคโนโลยีจุลินทรีย์เพื่อการต่อยอดงานวิจัยและอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยศูนย์ชีววัสดุประเทศไทยและศูนย์จุลินทรีย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้มีความร่วมมือกันในการยกระดับการจัดเก็บรักษา การควบคุมคุณภาพสายพันธุ์จุลินทรีย์ตามมาตรฐานนานาชาติ พัฒนาและให้บริการสายพันธุ์จุลินทรีย์สู่สาธารณะภายใต้กรอบอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อรองรับและสนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรจุลินทรีย์ในด้านต่างๆอย่างยั่งยืน

ด้าน Prof. Yaping Zhang Vice President of Chinese Academy of Sciences (CAS) กล่าวว่า เมื่อปี 2556 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกาศใช้นโยบาย "One Belt, One Road" หรือหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ที่มีรากฐานมาจากเส้นทางสายไหมในอดีต เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือกับนานาประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการขนส่ง IMCAS เป็นหน่วยงานที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและมีโครงสร้างพื้นฐานในการวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพจุลินทรีย์ โดยเฉพาะด้านการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลของจุลินทรีย์และการบูรณาการข้อมูลระหว่างศูนย์จุลินทรีย์ในเครือข่ายระดับนานาชาติ ซึ่ง IMCAS เป็นเจ้าภาพในการจัดการ World Data Center for Microorganisms (WDCM) โดยมีการพัฒนาฐานข้อมูลและเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ศูนย์จุลินทรีย์ที่เป็นสมาชิก และดำเนินนโยบายเส้นทางสายไหมทางเทคโนโลยีจุลินทรีย์ (Microbial Silk Road Cooperation) ซึ่งใช้ผลักดันความร่วมมือกับนานาประเทศ เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายของโลกจากปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ  โดยการสนันสนุนกิจกรรมงานวิจัยและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรจุลินทรีย์เพื่อการเข้าถึงข้อมูลและนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยยังคงคำนึงถึงกฎ ระเบียบ ของประเทศนั้นๆ และนานาชาติ ซึ่งรูปแบบที่ IMCAS สนับสนุนจะมีทั้งการจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วม การจัดประชุมสัมมนา ตลอดจนการแลกเปลี่ยนบุคลากร เพื่อสนองนโยบาย One Belt, One Road และการสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย และจีน รวมทั้ง Chinese Academy of Sciences (CAS) ประกอบกับความพร้อมทั้งด้านบุคลากร อุปกรณ์เครื่องมืองานวิจัย และงบประมาณ  ทำให้ IMCAS ไบโอเทค และ วว. ตกลงจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วมด้านจุลินทรีย์ ไทย-จีน ขึ้นทั้งในประเทศไทย และประเทศจีน

ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการไบโอเทค กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการร่วมวิจัยฯ นี้ จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ใช้สนับสนุนนักวิจัยทั้งไบโอเทค วว. และ IMCAS ในการปฏิบัติงานวิจัยร่วมกัน และยังเป็นการเปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่นๆ ทั้งในประเทศไทยและจีน ได้มาหารือริเริ่มโครงการวิจัยร่วมกัน โดยกิจกรรมงานวิจัยในระยะเริ่มต้นจะประกอบด้วย 1) การเชื่อมต่อคลังข้อมูลจีโนมของจุลินทรีย์ 2) การศึกษาวิจัยจุลินทรีย์และใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ประเภทยีสต์ แบคทีเรียสร้างกรดแลคติค และราทำลายแมลง 3) การถ่ายทอดเทคโนโลยีจุลินทรีย์ที่ประยุกต์ใช้ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การเกษตร การแพทย์ และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ 4) การพัฒนาบุคลากรผ่านการแลกเปลี่ยนนักวิจัยและนักศึกษาในโครงการวิจัยร่วม การจัดสัมมนา และฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ

 

ดร.ณรงค์ กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือกับ Institute of Microbiology, Chinese Academy of Sciences (IMCAS) ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งที่ สวทช. จะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานระดับโลกอย่าง IMCAS และการสร้างความร่วมมือนี้ จะให้ทำไทยเป็นประเทศแรกที่จะเป็นจุดเชื่อมบนเส้นทางสายไหมระหว่างจีนและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ นำมาซึ่งความแข็งแกร่งของความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาในอนาคตต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ

https://www.nstda.or.th/th/news/12234-20181019-mou-imcas