สกว.เปิดเวทีการศึกษาต้านคอร์รัปชัน ปลูกค่านิยมแก่เด็กด้วยสื่อรูปแบบใหม่

ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การศึกษาเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน: จากบทเรียนสู่การปฏิบัติ”

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "การศึกษาเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน: จากบทเรียนสู่การปฏิบัติ" จัดโดย สกว. ศูนย์ทดลองการออกแบบสถาปัตยกรรมและกลไกสร้างสำนึกต่อสังคม (SIAM-Lab) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และใช้ข้อมูลความรู้ช่วยกันขับเคลื่อนเครือข่ายเพื่อการป้องกันคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพด้วยวิธีการใหม่ที่มีพลัง สร้าง "วัฒนธรรมต้านคอร์รัปชัน" และส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

Prof. Ariane Lambert-Mogiliansky แห่ง Paris School of Economics ผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวว่า การควบคุมคอร์รัปชันอย่างยั่งยืนนั้นภาคประชาสังคมและภาคเอกชนจะต้องมีส่วนร่วมในเชิงรุก พัฒนากลไกและความรับผิดชอบควบคู่กับการปฏิรูปองค์กร กฎหมายและสถาบัน ที่ออกแบบมาอย่างดี บทบาทของการศึกษาต้องนำไปสู่การลงมือปฏิบัติจริงเพื่อให้เกิดความร่วมมือจากพลเมืองและบริษัท ทั้งนี้คอร์รัปชันเป็นปัญหาพหุมิติ มีปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนและใหญ่เกินตัวในการเป็นผู้พิทักษ์ธรรมาภิบาล แต่ประชาชนสามารถใช้ความรู้เป็นอาวุธต้านคอร์รัปชันเพื่อให้เข้าใจวิธีการอย่างจริงจังและควบคุมปัญหาในสังคมได้

Prof. Ariane Lambert-Mogiliansky แห่ง Paris School of Economics

รัฐภาคีจะต้องดำเนินการอย่างเหมาะสมในการส่งเสริมการมีส่วนร่วม มีมาตรการต่างๆ และกิจกรรม เช่น หลักสูตรในสถานศึกษาทั้งในวงกว้างและเฉพาะเจาะจง ซึ่ง SIAM-Lab ต้องเชื่อมโยงกับการศึกษาเพื่อให้เข้าใจปัญหามากขึ้น รวมถึงการฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่รัฐและเอกชน “เรามองปัญหาคอร์รัปชันเป็นเรื่องน่าเบื่อ คนรุ่นใหม่ไม่อยากมีส่วนร่วม แต่เราต้องอยู่ร่วมกันอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี จึงควรเปิดใจหรือตั้งคำถามกับเด็ก ทำให้เป็นเรื่องน่าสนุก อาจจะมีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่เป็นพหุวิทยาการร่วมกับประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา เพื่อสร้างการกระทำที่จับต้องได้ ให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือทำให้เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน”

ขณะที่ ผศ. ดร.กุลลินี มุทธากลิน นักวิจัย SIAM-Lab ร่วมให้ภาพบทเรียนจากสังคมไทยจากศึกษา “สื่อกับการปลูกฝังความเข้าใจปัญหาคอร์รัปชันในเด็ก กรณีศึกษาของไทย” ว่าการเปลี่ยนแปลงค่านิยมเรื่องต่อต้านคอร์รัปชันจะต้องทำตั้งแต่เด็ก โรงเรียน ครูและผู้ปกครองจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างค่านิยมและทัศนคติที่ถูกต้องให้กับนักเรียน งานวิจัยพบว่าสื่อไทยทั้งนิทานและการ์ตูนหรือแอนิเมชัน มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องคอร์รัปชันน้อยเมื่อเทียบกับการปลูกฝังเรื่องความซื่อสัตย์อันเป็นพื้นฐานความเข้าใจเรื่องคอร์รัปชันเมื่อเด็กโตขึ้น ซึ่งความซื่อสัตย์และคุณธรรมอื่นๆ สามารถสนับสนุนร่วมกันได้ ขณะที่สื่อต่างประเทศส่วนใหญ่ให้เด็กเป็นผู้ตั้งคำถาม และใช้สื่อหลากหลาย

ผศ. ดร.กุลลินี มุทธากลิน นักวิจัย SIAM-Lab

“อยากเสนอแนะให้สื่อต่างๆ เน้นย้ำบทบาทของเด็กในการต่อต้านคอร์รัปชัน สร้างสมดุลของแนวทางในการอบรมสั่งสอนแบบบนลงล่างโดยให้น้ำหนักกับการคิดอย่างวิพากษ์และการแก้ปัญหาของเด็ก เพื่อให้เด็กเรียนรู้จากการใช้วิจารณญาณของตนเองผ่านการชี้ให้เห็นถึงสาเหตุ ทางเลือกต่างๆ ของการกระทำและผลกระทบของการกระทำที่ไม่ซื่อตรงหรือคอร์รัปชัน และควรนำมิติวิธีคิดของพุทธศาสนาที่เรียกว่า “วิภัชชวาท” มาใช้ มองและแสดงความจริงโดยแยกแยะออกให้เห็นแต่ละด้านให้ครอบคลุมทุกด้าน รวมถึงเพิ่มเติมสื่อรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อให้เข้าถึงหรือเหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงอายุมากขึ้น”

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ

https://www.trf.or.th/trf-events-activities/13014-anti-corruption-education-turning-lessons-into-practice