รมว.ศึกษาธิการ แนะทางรอดมหาวิทยาลัยไทย โจทย์ชัด-แก้ระเบียบก่อนแก้ปัญหา
TOAC2019

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขณะบรรยายในหัวข้อ “ทางรอดของมหาวิทยาลัยในยุค Disruptive” ในงาน “นักวิจัยรุ่นใหม่...พบ...เมธีวิจัยอาวุโส สกว.” ครั้งที่ 18

รมว.ศึกษาธิการแนะทางรอดของมหาวิทยาลัยในยุค Disruptive และมีเงินน้อย เราต้องเรียนรู้จากประวัติศาสตร์เพื่อให้มีมุมมอง สร้างระบบนิเวศให้คนเก่งมารวมกัน โจทย์และคำถามต้องชัด ปรับแก้กฎหมายและระเบียบต่างๆ ก่อนจะแก้ปัญหา สำคัญคือนักวิจัยต้องมองตัวเองว่าควรได้ทุนหรือไม่

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวระหว่างการบรรยายเรื่อง “ทางรอดของมหาวิทยาลัยในยุค Disruptive” ในงานประชุมวิชาการ ‘นักวิจัยรุ่นใหม่...พบ...เมธีวิจัยอาวุโส สกว.’ ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ว่า Disruptive มีมานานแล้วนับร้อยปีดังที่ โทมัส เอดิสัน กล่าวว่าโรงเรียนจะไม่มีความจำเป็นเพราะสอนผ่านโทรทัศน์ได้ เราต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและ disruptive ในครั้งนี้อยากฝากให้คิดหลายประเด็น ประเด็นแรกคือ “ประวัติศาสตร์” ซึ่งมีความสำคัญมาก จะเห็นว่าผู้บริหารระดับสูงทั่วโลกหลายคนสำเร็จการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ หลังสงครามโลกครั้งที่สองการศึกษามีการเปลี่ยนแปลงมากเพื่อความอยู่รอด ให้ทุนโดยตรงแก่ผู้ที่มีความสามารถในแต่ละด้าน เมื่อทรัพยากรมีน้อยธรรมชาติจะเรียกร้องหาความเท่าเทียมกัน คนที่เก่งจะเรียกร้องหาความยอดเยี่ยม สตาร์ทอัพไม่ได้เกิดโดยบังเอิญแต่จะเกิดขึ้นในที่ที่มีคนเก่งมารวมกัน

TOAC2019

การบรรยายโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในหัวข้อ “ทางรอดของมหาวิทยาลัยในยุค Disruptive”

เรามีเงินน้อยแล้วจะผลิตอะไรได้ ไทยไม่ใช่ประเทศแห่งการผลิต สถาบันที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานจะมีความเข้มแข็งและก้าวหน้ามาก อยากบอกว่า สกว. ไม่ต้องกลุ้มใจ เรามีเงินน้อยต้องเลือกให้ทุน โมเดลของการให้ทุนมีหลายรูปแบบ ผู้นำต้องสร้างระบบนิเวศ มีสิ่งแวดล้อมที่ดี แทบไม่มีความคิดอะไรของมนุษย์ที่จะใหม่ไปมากกว่านี้ จะคิดอะไรใหม่ได้อย่างไรถ้าไม่มีประวัติศาสตร์ ต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อให้มีมุมมอง แต่ยอมรับว่านวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็ทำให้มนุษย์สะดวกสบายขึ้น

ประเด็นต่อมา “โจทย์ต้องชัด” ยิ่งเงินน้อยโจทย์ต้องยิ่งชัด ทำเองไหวหรือไม่ โปแลนด์จ้างผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศตัดสินทุน ถ้าเป็น สกว. สกอ. และมหาวิทยาลัย กล้าหรือไม่ที่จะลองรบกับผู้มาขอทุน เราต้องเปิดกว้าง นอกจากนี้ยังต้องมี “กฎหมาย” อดีตอธิการบดีแห่งหนึ่งเคยกล่าวว่า อะไรไม่ได้ห้าม ห้ามทำ และอะไรที่จะทำต้องมีกฎหมายเขียนไว้ มีระเบียบให้ทำ ปัญหาของเราคือติดอยู่ในกรอบ จึงต้องแก้ระเบียบให้ได้ก่อนเพื่อจะได้แก้ปัญหา บ้านเราเรื่องใหญ่ๆ ให้คนเล็กๆ ทำ เราต้องกล้าตัดสินใจและหาช่องทางที่จะไปให้ได้ สุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุดในฐานะที่เงินน้อยคือ “คำถามต้องชัด” เราต้องมีคำถามที่ดี ชัดเจน อยากรู้อยากเห็น ครูควรจะถามตัวเองว่าอยากเป็นนักเรียนในชั้นที่ตัวเองสอนหรือไม่ เช่นเดียวกับนักวิจัยควรจะถามตัวเองว่าถ้าเป็น สกว. เราควรจะได้รับทุนหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 
 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ

https://www.trf.or.th/trf-events-activities/13156-survival-of-thai-universities-in-the-age-of-disruption