ดูแลตนเองอย่างไร เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง
ดูแลตนเองอย่างไร เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

ดูแลตนเองอย่างไร เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เกี่ยวกับ สุขภาพกาย

แม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศว่าประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่สภาพอากาศในช่วงปลายฝนต้นหนาวอย่างนี้ ยังคงมีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้หลายคนปรับสภาพร่างกายไม่ทันจนเจ็บไข้ได้ป่วย

ดังนั้น ในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ จึงควรดูแลรักษาสุขภาพกันเป็นพิเศษ เพราะเสี่ยงจะป่วยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ทั้งไข้หวัด ปอดบวม หอบหืด หรือหลอดลมอักเสบได้ง่าย โดยเฉพาะเด็ก และผู้สูงอายุ  เนื่องจากกลุ่มบุคคลเหล่านี้มีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนปกติ

ทั้งนี้  อาการไข้หวัด ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บ หรือแสบคอ และอาจมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย  แต่หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ จะมีอาการหนาวสั่น ตัวร้อนจัด มึนศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว ปวดกระดูก และอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย

ส่วนอาการปอดบวมนั้น ในระยะเริ่มแรกจะมีอาการหอบเหนื่อย มีอาการไข้ ไอ หรือมีเสมหะ และระยะต่อมา เสมหะจะเป็นหนอง ซึ่งในรายที่มีอาการรุนแรง อาจจะเป็นหนองในเยื่อหุ้มปอด และเจ็บหน้าอก ขณะที่บางรายอาจติดเชื้อรุนแรง และมีความดันโลหิตต่ำ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้

หากมีอาการไม่สบายเป็นไข้หวัด มีไข้ ไอ มีน้ำมูก ควรพักผ่อนอยู่กับบ้าน หรือหากมีความจำเป็นต้องออกไปในสถานที่สาธารณะ ควรใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค หรือหากตัวร้อนมาก ให้รับประทานยาลดไข้ ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หรือถ้าอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีอาการไอมาก แน่นหน้าอก มีไข้นานเกิน 2 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ 

1. หมั่นดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ

2. สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน ทำร่างกายให้อบอุ่น

3. ควรงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากส่งผลให้ระบบภูมิต้านทานโรคในร่างกายต่ำลง ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย

4. รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ลดหวาน มัน เค็ม และปรุงอาหารให้สุกก่อนการบริโภค

5. ดื่มน้ำสะอาด และรับประทานผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง มะละกอสุก สับปะรด

6. ล้างมือด้วยน้ำสบู่ หรือเจลทำความสะอาดทุกครั้ง หลังจากทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ดูหนัง เข้าห้องน้ำ เป็นต้น

7. ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพราะจะทำให้ร่างแข็งแรงต้านทานต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆได้ เช่นการเดิน การวิ่งเหยาะๆ การปั่นจักรยาน การเล่นกีฬาที่มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

8. หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือคลุกคลีกับผู้ป่วย รวมทั้งไม่ใช้สิ่งของรวมกับผู้ป่วย เช่น จาน ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ และถ้ามีผู้ป่วยในบ้าน ควรให้ปิดปากด้วยหน้ากากอนามัย เวลาไอ หรือจาม

9. หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีคนแออัดอากาศถ่ายเทไม่สะดวก เพราะอาจติดเชื้อโรคกลับมาได้ โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ

iStock, กระทรวงสาธารณสุข และ http://www.sanook.com/health/8785/