ฝ่ายวิชาการ สกว. ประกาศรับสมัครทุนชุดโครงการวิจัยพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์ “ความหลากหลายทางชีวภาพ” ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สกว. และ Chinese Academy of Sciences (CAS) ประจำปีงบประมาณ 2561

ประกาศสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

การรับสมัครทุนชุดโครงการวิจัยพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์
“ความหลากหลายทางชีวภาพ”

ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ Chinese Academy of Sciences (CAS) ประจำปีงบประมาณ 2561

หลักการและเหตุผล

ฝ่ายวิชาการ สกว. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่ายงานวิจัยระดับนานาชาติ และการสร้างพันธมิตรวิจัย เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี  ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการยกระดับความเข้มแข็งทางวิชาการให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล  ในการนี้ สกว. ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ Chinese Academy of Sciences (CAS) ตั้งแต่ปี 2558 เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยไทย และนักวิจัยจากสาธารณรัฐประชาชนจีนด้านความหลากหลายทางชีวภาพได้แลกเปลี่ยนความรู้และสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยในโจทย์วิจัยที่เป็นความสนใจร่วมกัน โดยภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือนี้ ฝ่ายวิชาการ สกว. และ CAS จะจัดให้มี Joint Workshop on Science and Technology Cooperation: Biodiversity ต่อเนื่องเพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยไทย และนักวิจัยจากสาธารณรัฐประชาชนจีนด้านความหลากหลายทางชีวภาพนำเสนอผลงานวิจัย  แลกเปลี่ยนความรู้และสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยในโจทย์ที่เป็นความสนใจร่วมกัน และเกิดเป็นโจทย์วิจัยของภูมิภาคและของโลก

ในปีงบประมาณ 2561 ฝ่ายวิชาการ สกว. เห็นชอบให้มีการสนับสนุนทุนชุดโครงการวิจัยพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Basic Research) ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีการกำหนดหัวข้อหลัก 4 หัวข้อคือ 1) การวิเคราะห์ความหลากหลายทางชีวภาพเชิงการสำรวจไปจนถึงการจัดทำบัญชีรายการเชิงลึก (Inventory Biodiversity) 2) การศึกษาระบบนิเวศวิทยา ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม หรือแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติเช่น ดิน น้ำ ป่า 3) ชีวผลิตภัณฑ์จากฐานความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity-based Bioproducts) 4) การแปลงฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพไปสู่ข้อมูลดิจิทัล (Digitization of Biodiversity)

สกว. คาดหวังว่าการสนับสนุนทุนวิจัยในครั้งนี้จะเป็นการสร้างเสริมศักยภาพของนักวิจัยไทยที่จะสร้างองค์ความรู้ใหม่ของโลก การส่งเสริมและพัฒนาการจัดการองค์ความรู้ การพัฒนาและปรับปรุงระบบฐานข้อมูลให้เป็นมาตรฐานสากล รวมถึงการต่อยอดงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs)

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อรวมกลุ่มการวิจัยพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ กระตุ้นให้เกิดเครือข่ายและความร่วมมือของนักวิจัยที่ทำงานในสาขาที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการทำงานเป็นทีมซึ่งมีเป้าหมายเดียวกัน ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ
  2. เพื่อสนับสนุนให้มีการสร้างองค์ความรู้ใหม่ และนำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงวิชาการ เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม พาณิชย์ รวมถึงด้านชุมชนและสังคม
  3. เพื่อสนับสนุนการยกระดับขีดความสามารถด้านการวิจัยของประเทศ และสร้างความเข้มแข็งให้กับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยของประเทศไทย

หลักเกณฑ์การจัดสรรทุนวิจัย

1. ขอบเขตของงานวิจัยที่ให้การสนับสนุน

สกว. โดยฝ่ายวิชาการ ได้กำหนดกรอบเพื่อสนับสนุนการวิจัยแบบมีทิศทางจากข้อมูลงานวิจัยพื้นฐานที่เข้มแข็งที่ดำเนินการมาแล้วสู่การต่อยอดการวิเคราะห์เชิงลึก และการมุ่งสู่การใช้ประโยชน์ ดังนี้

  1. การวิเคราะห์ความหลากหลายทางชีวภาพเชิงการสำรวจไปจนถึงการจัดทำบัญชีรายการเชิงลึก (Inventory Biodiversity)

    การวิจัยความหลากหลายของสปีชีส์ พันธุกรรมของพืช สัตว์ จุลินทรีย์ในระบบนิเวศต่างๆ ในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงในอาเซียน ที่ใช้ข้อมูลจากงานอนุกรมวิธานดั้งเดิมนำไปสู่การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการ (phylogenetic relationships) ด้วยลักษณะทางสัณฐานวิทยาและชีวโมเลกุล (morphology and molecular characteristics) ตลอดจนการจัดทำบัญชีรายการและฐานข้อมูลด้วยเทคนิคสมัยใหม่ จากข้อมูลทางสัณฐานสู่ข้อมูลเชิงดิจิทัล (digitization)

  2. การศึกษาระบบนิเวศวิทยา ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม หรือแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติเช่น ดิน น้ำ ป่า
  3. ชีวผลิตภัณฑ์จากฐานความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity-based Bioproducts)

    งานวิจัยด้านผลิตภัณฑ์ ผลผลิต อาจเป็นได้ทั้งงานวิจัยวัตถุดิบ (raw material) กระบวนการผลิต หรือผลิตภัณฑ์สุดท้าย (final product) ซึ่งต้องมีต้นกำเนิดจากทรัพยากรทางชีวภาพ (natural-resource derived) ทั้งพืช สัตว์และจุลินทรีย์ โดยการต่อยอดจากพื้นความรู้ (basic knowledge) และ/หรือ ข้อมูลในฐานข้อมูล (database) ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) งานวิจัยต้องแสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์ และ/หรือ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของความหลากหลายของทรัพยากรทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรือการสร้างนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งเชิงพาณิชย์ หรืออุตสาหกรรม ทั้งทางด้านการแพทย์ เภสัช อาหาร เครื่องสำอางและเทคโนโลยีชีวภาพ

  4. การแปลงฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพไปสู่ข้อมูลดิจิทัล (Digitization of Biodiversity)

    การจัดแปลงข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพทั้งจากฐานข้อมูลเชิงสัณฐานวิทยา ชีวโมเลกุล ไปเป็นข้อมูลเชิงดิจิทัลด้วยเทคนิคสมัยใหม่ ทั้งนี้อาจเป็นการวิจัยร่วมกันกับโครงการในข้อ 1

2. ลักษณะโครงการวิจัยที่เสนอขอรับทุน

  1. 2.1 เป็นโครงการวิจัยที่ดำเนินการในประเทศไทยเป็นหลัก และมีการสำรวจสถานภาพองค์ความรู้และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่มีการตีพิมพ์แล้วอย่างครบถ้วนและครอบคลุม เป็นการวิจัยเพื่อหาองค์ความรู้ใหม่อย่างแท้จริง  ไม่เป็นการวิจัยซ้ำกับองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วหรือถ้าเป็นการวิจัยเพื่อยืนยันข้อสรุปเดิมที่มีอยู่แล้วก็ต้องมีการใช้ข้อมูลใหม่ มีการตีความใหม่และ/หรือมีการสร้างระเบียบวิธีใหม่
  2. 2.2 มีการนิยามปัญหา และจุดมุ่งหมายอย่างชัดเจนและมีเหตุผลแสดงว่าการแสวงหาความรู้ใหม่ของโครงการที่เสนอจะเป็นทั้งการเสริมสร้างความสามารถในการวิจัยให้แก่นักวิจัยและสร้างองค์ความรู้ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ
  3. 2.3 เป็นโครงการวิจัยที่ผ่านความเห็นชอบจากสถาบันต้นสังกัดของผู้เสนอขอรับทุน โดยสถาบันต้นสังกัดของผู้เสนอขอรับทุนจะต้องให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกแก่โครงการวิจัยที่ได้รับทุน
  4. 2.4 ในกรณีที่โครงการวิจัยมีการพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยร่วมกับนักวิจัยจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะได้รับการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ โดยโครงการที่มีความร่วมมือกับนักวิจัยจาก Chinese Academy of Sciences (CAS) นักวิจัยรุ่นใหม่ในโครงการจะมีโอกาสในการสมัครขอรับทุนประเภท mobility จาก CAS เพิ่มเติม
  5. 2.5 ผลงานวิจัยที่คาดว่าจะได้รับ
    1. 2.5.1 ผลงานวิจัยที่ได้ต้องสามารถตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล Web of Science ควอไทล์ที่ 1-3 หรือในฐานข้อมูล Scopus ควอไทล์ที่ 1-2 หรือการยื่นจดสิทธิบัตร
    2. 2.5.2 ผลงานวิจัยที่ได้ต้องมีศักยภาพสูงในการพัฒนาต่อยอดไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์ด้านวิชาการ ด้านพาณิชย์ ด้านนโยบาย ด้านสาธารณะ หรือด้านชุมชนและพื้นที่

ทั้งนี้ผลงานวิจัยต้องไม่ถือเป็นความลับยกเว้นในกรณีที่จะมีการยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตร โดยการตีพิมพ์และเผยแพร่ผลงานให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ผู้รับทุนสามารถนำไปตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในรูปแบบอื่นได้โดยขอให้ระบุแหล่งทุนสนับสนุนด้วยทุกครั้ง

3. คุณสมบัติของนักวิจัยหลัก วงเงินทุนวิจัย ระยะเวลาดำเนินการ และผลงานที่ได้จากโครงการ

สกว. จะพิจารณาสนับสนุนทุนในวงเงินที่สอดคล้องกับคุณสมบัติของนักวิจัย และผลงานที่ได้จากโครงการดังนี้

  1. 3.1 ทุนสำหรับนักวิจัยและอาจารย์รุ่นใหม่
    • นักวิจัยหลัก (PI) เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่า ทำงานประจำสังกัดอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาหรือหน่วยงานในประเทศไทย มีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ โดยมีผลงานตีพิมพ์ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติที่เป็นที่ยอมรับ ไม่น้อยกว่า 1 เรื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี ค.ศ. 2013-2017)
    • วงเงินไม่เกิน 600,000 บาท ระยะเวลาของทุนไม่เกิน 2 ปี ซึ่งค่าตอบแทนนักวิจัยหลักไม่เกิน 13,000 บาทต่อเดือน
    • ไม่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารตั้งแต่ระดับหัวหน้าภาควิชาขึ้นไปและมีเวลาทำวิจัยไม่น้อยกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
    • จะต้องมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติอย่างน้อย 1 บทความที่อยู่ในฐานข้อมูล Web of Science ควอไทล์ที่ 1-3 หรือในฐานข้อมูล Scopus ควอไทล์ที่ 1-2 หรือการยื่นจดสิทธิบัตร โดย สกว. สนับสนุนการผลิตผลงานที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านวิชาการ ด้านพาณิชย์ ด้านนโยบาย ด้านสาธารณะ หรือด้านชุมชนและพื้นที่
  1. 3.2 ทุนสำหรับนักวิจัยและอาจารย์รุ่นกลาง
    • นักวิจัยหลัก (PI) เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่า ทำงานประจำสังกัดอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาหรือหน่วยงานในประเทศไทย มีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ โดยมีผลงานตีพิมพ์ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติที่เป็นที่ยอมรับ ไม่น้อยกว่า 2 เรื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี ค.ศ. 2013-2017)
    • วงเงินไม่เกิน 1,500,000 - 3,000,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดและคุณภาพของโครงการ ระยะเวลาของทุนไม่เกิน 3 ปี โดยค่าตอบแทนนักวิจัยหลักไม่เกิน 20,000-25,000 บาทต่อเดือน
    • นักวิจัยหลักของโครงการที่ผ่านการประเมินในเบื้องต้นจะได้รับเชิญให้มานำเสนอโครงการแบบบรรยายต่อคณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อการพิจารณาสนับสนุนโครงการ
    • ไม่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารตั้งแต่ระดับคณบดีขึ้นไปและมีเวลาทำวิจัยไม่น้อยกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
    • โครงการจะต้องมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติอย่างน้อย 2-3 บทความที่อยู่ในฐานข้อมูล Web of Science ควอไทล์ที่ 1-3 หรือในฐานข้อมูล Scopus ควอไทล์ที่ 1-2 หรือการยื่นจดสิทธิบัตร และสามารถผลิตผลงานที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านวิชาการ ด้านพาณิชย์ ด้านนโยบาย ด้านสาธารณะ หรือด้านชุมชนและพื้นที่ ทั้งนี้ผลงานจากโครงการจะขึ้นอยู่กับขนาดและลักษณะของโครงการ

ทั้งนี้ทุนทั้งสองระดับ ในช่วงเวลาที่รับทุนนักวิจัยหลัก จะต้องไม่รับทุนทำวิจัยหลายโครงการในเวลาเดียวกัน และหากมีความจำเป็นต้องรับทุนจากแหล่งทุนอื่นเพิ่มเติมต้องแสดงเหตุผลที่ชัดเจนว่าการรับทุนนั้นเป็นการเสริมเพื่อให้โครงการมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และหมวดงบประมาณจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน

4. การประเมินข้อเสนอโครงการและกลไกในการติดตามประเมินผล

  1. 4.1 การประเมินข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อจัดสรรทุน เป็นการศึกษารายละเอียดข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อประเมินความเหมาะสม  ความเป็นไปได้ทั้งในด้านวิชาการ งบประมาณ ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบโดย "คณะกรรมการประเมินข้อเสนอโครงการ" และใช้ "ผู้ตรวจสอบข้อเสนอโครงการ" (reviewer) ภายนอกร่วมด้วย ดังนั้นหากกลุ่มผู้เสนอโครงการวิจัยมีความเห็นว่าควรส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิท่านใดพิจารณา กรุณาระบุท้ายข้อเสนอโครงการด้วยพร้อมทั้งข้อมูลเท่าที่มีเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญของผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละท่านและความเกี่ยวพัน (ถ้ามี) กับนักวิจัยในโครงการ โดยเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 2-3 ท่าน คณะกรรมการอาจจะใช้ผู้ทรงคุณวุฒิที่ผู้เสนอโครงการแนะนำมาหรือไม่ก็ได้ ผลการพิจารณาของคณะกรรมการเป็นประการใด ให้ถือเป็นที่สิ้นสุด ผู้ยื่นขอทุนจะอุทธรณ์มิได้ สำหรับผู้เสนอโครงการทุนสำหรับนักวิจัยหรืออาจารย์รุ่นกลางที่ผ่านการประเมินในเบื้องต้นจะได้รับเชิญให้มาเสนอโครงการแบบบรรยายต่อคณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณาการสนับสนุนโครงการ ทั้งนี้หากผู้เสนอโครงการไม่สามารถมานำเสนอโครงการด้วยตนเองได้ สกว. ขอสงวนสิทธิถือว่าผู้เสนอโครงการสละสิทธิ์
  2. 4.2 การติดตามและประเมินผลโครงการวิจัยที่ได้รับทุนแต่ละโครงการเพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าของการดำเนินงานกับเป้าหมายของแผนการดำเนินงาน รวมทั้งตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของแต่ละโครงการวิจัย โดยคณะกรรมการประเมินและผู้ทรงคุณวุฒิ มีการดำเนินการในรูปแบบต่อไปนี้
    • หัวหน้าโครงการวิจัยผู้รับทุน รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการวิจัยด้วยเอกสาร และนำเสนอผลงานแบบบรรยายตามระยะเวลาที่กำหนด
    • ตรวจเยี่ยมโครงการ เพื่อรับทราบสภาพการทำงาน ปัญหาอุปสรรค เพื่อให้ข้อแนะนำ และหามาตรการในการแก้ปัญหาได้ถูกต้องและทันเวลา
    • จัดประชุมทางวิชาการเพื่อให้หัวหน้าโครงการวิจัยผู้รับทุนนำเสนอผลงานแบบบรรยายเมื่อดำเนินงานไประยะหนึ่ง และมีผลงานก้าวหน้าพอสมควร

5. การทำสัญญารับทุน

สัญญารับทุนเป็นการร่วมลงนาม 3 ฝ่าย คือ ผู้ให้ทุน (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) ผู้รับทุน (สถาบันต้นสังกัดของหัวหน้าโครงการวิจัยผู้รับทุน) และหัวหน้าโครงการวิจัยผู้รับทุน

6. เงื่อนไขต่อสถาบันต้นสังกัด

สถาบันต้นสังกัดต้องเห็นชอบการสนับสนุนทุนวิจัยตลอดโครงการ และจะไม่หักเงินทุนเป็นค่าใช้จ่ายทางอ้อม (indirect or overhead cost) ใดๆ ทั้งสิ้น

8. การสมัครและกำหนดเวลาเสนอโครงการ

การสมัครขอให้สมัครผ่านทางอีเมล์ saengpetch@trf.or.th โดยกรอกข้อมูลตามที่กำหนดและแนบไฟล์ซึ่งเป็น PDF ไฟล์ ดังนี้

  1. 7.1 แบบเสนอโครงการวิจัยซึ่งประกอบด้วยบทคัดย่อและข้อเสนอโครงการวิจัย (ภาษาอังกฤษ)
  2. 7.2 หน้าแรกของ reprint ของนักวิจัยหลักที่เป็นผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติภายใน 5 ปีที่ผ่านมา (ปี ค.ศ. 2013 ถึงปัจจุบัน)
  3. 7.3 ข้อมูลประวัติของนักวิจัยหลักและนักวิจัยร่วมโครงการ (ภาษาอังกฤษ)
  4. 7.4 แบบฟอร์มการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย (ภาษาไทย)

เปิดรับข้อเสนอโครงการตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2561 หมดเขตรับข้อเสนอโครงการวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2561 โดยจะแจ้งผลการพิจารณาให้ทราบภายในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ประกาศ ณ วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2561

(ศ.นพ. สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ)
ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

ติดต่อสอบถาม

ฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์ ชั้น 14 เลขที่ 979 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์ 0-2278-8254 โทรสาร 0-2278-8248
E-mail : saengpetch@trf.or.th


➥ เอกสารประกาศและแบบฟอร์มสามารถดาวน์โหลดได้จากเอกสารแนบ (Attachments) ด้านล่างนี้

Attachments:
FileDescriptionDownloads
Download this file (Call_for_Papers-Biodiversity.pdf)Call for Paper (TRF-CAS) ประกาศรับข้อเสนอโครงการทุนวิจัยพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์ ... Biodiversity 21
Download this file (Announcement_with_Research_Proposal_Form-Biodiversity.doc)Research Proposal Form ประกาศรับข้อเสนอโครงการทุนวิจัยฯ และ แบบฟอร์มข้อเสนอโครงการ 3
 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ

https://www.trf.or.th/232-trf-announcement/trf-grants-and-funding-announcement/ard/11782-trf-cas-call-for-papers-biodiversity