งานแถลงข่าวเปิดตัว “โครงการทุนบูรณาการเพื่อความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ Thailand MED TECH Excellence Fund (TMTE Fund)” ในการประชุมสัมมนาทางวิชาการเพื่อการพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Medical Technology) สู่ความสำเร็จเชิงพาณิชย์
สกอ. ผนึกกำลัง 5 หน่วยงานวิจัยหลัก จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว "โครงการทุนบูรณาการเพื่อความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ Thailand MED TECH Excellence Fund (TMTE Fund)" ต่อยอดงานวิจัยที่มีศักยภาพสู่พาณิชย์ ฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. ตั้งงบปีแรกไว้เบื้องต้น 20 ล้านบาท นักวิจัยและภาคเอกชนที่สนใจส่งข้อเสนอโครงการได้ถึง 30 ก.ย.
วันที่ 6 สิงหาคม 2561 ศาสตราจารย์ คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมสัมมนาทางวิชาการเพื่อการพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์สู่ความสำเร็จเชิงพาณิชย์ ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และเครือข่ายหน่วยงานสนับสนุนด้านงานวิจัย รวม 5 หน่วยงาน พร้อมจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ “โครงการทุนบูรณาการเพื่อความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ Thailand MED TECH Excellence Fund (TMTE Fund)” ณ ห้องประชุมเบญจสิริ แกรนด์ บอลรูม โรงแรมโนโวเทล สุขุมวิท 20 เป้าหมายเพื่อพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ไทยให้ก้าวสู่สากล
วัตถุประสงค์ของความร่วมมือดังกล่าว คือ เพื่อผลักดันและแก้ปัญหาการพัฒนาผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ในประเทศไทยที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งต้องการการสนับสนุนทุนและความช่วยเหลืออื่นๆ เช่น กฎระเบียบ นโยบายที่เกี่ยวข้อง การประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดงานครั้งนี้จึงมุ่งเน้นประชาสัมพันธ์โครงการทุนบูรณาการสู่ผู้ประกอบการ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตลอดจนประสบการณ์การส่งเสริมสนับสนุนทุนงานวิจัยด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ อันจะนำไปสู่การพัฒนาผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ ตลอดจนการจดทะเบียนสิทธิบัตรหรือทรัพย์สินทางปัญญา และการประยุกต์ใช้ผลงานวิจัยในอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคมและประเทศชาติในรูปแบบอุตสาหกรรมที่ทดแทนสินค้านำเข้า และผลิตนวัตกรรมใหม่สู่ตลาดโลก
ศาสตราจารย์ คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
โครงการทุนบูรณาการฯ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานสนับสนุนด้านงานวิจัยต่างๆ 5 หน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนจากหน่วยงานที่มีกลไกอื่นๆ ซึ่งเชื่อมต่อในกระบวนการพัฒนางานวิจัยผลิตออกสู่เชิงพาณิชย์ ได้แก่ องค์การอาหารและยา (อย.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กรมทรัพย์สินทางปัญญา กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิและกลุ่มวิชาชีพ ได้แก่ โครงการศูนย์วิจัยทางคลินิกแห่งชาติ (National Clinical Research Center หรือ NCRC) กลุ่มผู้ซื้อและผู้เกี่ยวข้องกับการใช้ ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อสนับสนุนทุนด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์แก่บริษัทเอกชนหรือสตาร์ทอัพที่มีความพร้อม โดยมีเกณฑ์พิจารณาจากระดับความพร้อมด้านเทคโนโลยี ความพร้อมด้านการตลาด ไปจนถึงความพร้อมด้านการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” เปลี่ยนการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม และเปลี่ยนวิธีการจาก “ทำมาก ได้น้อย” เป็น “ทำน้อย ได้มาก” ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี
ทุนดังกล่าวมีลักษณะพิเศษ คือ ดำเนินการพิจารณาตัดสินโครงการที่เหมาะสมโดยคณะกรรมการกลางที่ประกอบด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ตลอดจนผู้ผลิต ผู้ใช้งาน บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงผู้กำกับตรวจสอบกฎระเบียบ นโยบาย และผู้สนับสนุนส่งเสริมทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน โดยการดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนหลัก คือ ขั้นที่ 1 ปรับปรุงต้นแบบ (อบรม ความพร้อมทางการตลาด พัฒนาต้นแบบ และวางแผนจดสิทธิบัตร) ขั้นที่ 2 ทดสอบต้นแบบ (ทดสอบมาตรฐาน ทดสอบปรีคลินิก ทดลองในสัตว์และในคน จดสิทธิบัตร) และขั้นที่ 3 พร้อมจำหน่ายสู่ตลาด (สนับสนุนกาตลาด ออกผลิตภัณฑ์ ขึ้นบัญชีนวัตกรรม)
ด้าน ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการ สถาบันอุดมศึกษาร่วมภาคเอกชน พัฒนาการศึกษา การวิจัย นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ระบุว่าสิ่งสำคัญของโครงการนี้ คือ ทำอย่างไรให้งานวิจัยทางการแพทย์ที่มีศักยภาพต่อยอดให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ สร้างงาน สร้างรายได้มากขึ้น มหาวิทยาลัย/หน่วยงานก็ได้รับประโยชน์กลับขึ้นมาหมุนเวียนในระบบวิจัยในระยะยาวและทำให้มี GDP ของประเทศมากขึ้น
รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ (บนเวที คนที่ 2 จากซ้าย) ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. ขณะกำลังชี้แจงรายละเอียดโครงการทุนบูรณาการให้แก่ผู้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาวิชาการ
รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. เปิดเผยว่า สกว.ยินดีให้การสนับสนุนนักวิจัยที่มีผลงานพร้อมที่จะต่อยอดพาณิชย์ โดยจะต้องมีภาคเอกชนสนับสนุนอย่างน้อยร้อยละ 20 โดยเบื้องต้นในปีแรกทาง สกว. ตั้งกรอบงบประมาณในการสนับสนุนทุนวิจัยไว้ที่ 20 ล้านบาท ขณะที่นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สวทช. กล่าวว่า ภาคเอกชนที่มีผลิตภัณฑ์แล้วแต่ยังขาดงบประมาณในการทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ เราจะมีคูปองสตาร์ทอัพให้เพื่อนำไปใช้สนับสนุนการแสดงสินค้า ประกวด เปิดตัว เข้าร่วมสัมมนา หรือประชาสัมพันธ์ออนไลน์ รวมถึงค่าตอบแทนให้ผู้ที่มาช่วยงาน ค่าเดินทางหรือจัดสัมมนา เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่มีผลิตภัณฑ์แล้วแต่ยังขาดการสนับสนุนในส่วนนี้
ส่วน ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS กล่าวถึงให้การสนับสนุนงานวิจัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ว่าจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ว่าจะเป็นด้านยา ส่วนผสมที่นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งการไปถึงปลายทางได้นั้นจะต้องมีการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่ โดยงานวิจัยอยู่ที่ต้นทาง นักวิจัยส่วนใหญ่อยู่ในมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานวิจัย เมื่อไปถึงขั้นการทดสอบในปรีคลินิกก็จะเริ่มแตะกลุ่มที่เป็นโรงพยาบาล จนถึงขั้นการผลิตที่ผ่านมาตรฐาน GMP และการขึ้นทะเบียนยากับ อย. ซึ่งนักวิจัยอาจไม่ถนัดเพราะไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อการนี้ เราจึงต้องออกแบบทั้งระบบ ให้สามารถทะลุทะลวงปัญหาทั้งหมด เพื่อหาทางตอบโจทย์ของประเทศให้ได้ ผ่านการสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย หน่วยทดสอบ และผู้ลงทุน
บรรยากาศการชี้แจงรายละเอียดโครงการทุนบูรณาการแก่ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาวิชาการ
ผู้ที่สนใจโดยเฉพาะผู้ประกอบการภาคเอกชนสามารถส่งข้อเสนอโครงการได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 กันยายน 2561 โดยยื่นข้อเสนอโครงการ พร้อมนำส่งข้อมูลด้วยสื่อบันทึกข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 1 ชุด ไปยังกลุ่มนโยบายการพัฒนาทรัพยากรบุคคลอุดมศึกษา สำนักส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะบุคลากร สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขที่ 328 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 ประกาศผลการพิจารณาคัดเลือกทางเว็บไซด์ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่ http://www.mua.go.th และผ่านทาง Facebook ที่ https://www.facebook.com/TMTEFund สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มนโยบายการพัฒนาทรัพยากรบุคคลอุดมศึกษาสำนักส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะบุคลากร สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา โทร 0 261 05330-1
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ
https://www.trf.or.th/trf-events-activities/12487-thailand-med-tech-excellence-fund