ประกาศสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
เรื่อง การรับสมัครทุนโครงการพัฒนาเครือข่ายวิจัยนานาชาติ
ประจำปีงบประมาณ 2562
หลักการและเหตุผล
เนื่องจากการทำงานวิจัยในลักษณะเป็นเครือข่ายวิจัยให้เกิดการดำเนินการวิจัยร่วมกัน (Collaboration) จะก่อให้เกิดผลงานวิจัยที่มีผลกระทบสูงในทางวิชาการ ดังนั้น การสร้างเครือข่ายวิจัยระดับนานาชาติที่เข้มแข็งจะทำให้เกิดผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง และได้รับการนำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ตลอดจนก่อให้เกิดความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
เพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินการวิจัยในลักษณะที่เป็นเครือข่าย ในปีงบประมาณ 2562 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงได้จัดให้มี “ทุนสนับสนุนโครงการพัฒนาเครือข่ายวิจัยนานาชาติ (International Research Network: IRN)” โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนงานวิจัยที่ตอบโจทย์ปัญหาของประเทศตามแนวนโยบายยุทธศาสตร์ 5 ปี สกว. (พ.ศ. 2560-2564) และสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนสร้างผลงานวิจัยที่มีผลกระทบสูง และก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างนักวิจัยทั้งระหว่างนักวิจัยในประเทศ และระหว่างนักวิจัยไทยกับนักวิจัยในต่างประเทศ อันจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในการวิจัยของประเทศตามนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติและช่วยแก้ปัญหาในเรื่องที่มีความสำคัญของประเทศได้
วัตถุประสงค์
- เพื่อพัฒนาเครือข่ายวิจัยระดับนานาชาติหรือต่อยอดและสร้างความเข้มแข็งให้แก่เครือข่ายวิจัยระดับนานาชาติที่มีอยู่แล้วและมีโจทย์วิจัยที่จำเพาะและชัดเจน โดยเครือข่ายวิจัยนี้จะมีองค์ประกอบ คือ นักวิจัยไทย นักวิจัยต่างประเทศ องค์กรภาครัฐ/ภาคเอกชนของไทย และ/หรือองค์กรของต่างประเทศ
- เพื่อสนับสนุนให้เครือข่ายวิจัยผลิตผลงานวิจัยระดับนานาชาติที่สามารถนำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เชิงอุตสาหกรรม พาณิชย์ สังคม/ชุมชน วิชาการ และนโยบาย ผ่านกลไกการทำงานร่วมกันในลักษณะเครือข่าย
- เพื่อสร้างเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาระหว่างเครือข่ายทุกภาคส่วน และทุกระดับทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
- เพื่อพัฒนาระบบวิจัยของประเทศให้เข้มแข็ง ครอบคลุมการบริหารจัดการวิจัย ระบบงบประมาณ ระบบติดตามและประเมินผล โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของเครือข่ายวิจัยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
เป้าหมาย
- ได้เครือข่ายวิจัยนานาชาติที่มีโจทย์จำเพาะและชัดเจน มีผลกระทบในการแก้ปัญหาเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
- ได้ผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพในระดับสูง ได้แก่ ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ สิทธิบัตร และ/หรือองค์ความรู้เชิงลึก และความรู้ฐาน (Platform Knowledge) ครอบคลุมเทคโนโลยีฐาน (Platform Technology) ในหัวข้อวิจัยของแต่ละเครือข่าย
- ได้นักวิจัยที่มีศักยภาพสูงทั้งในด้านการวิจัย และการบริหารจัดการงานในลักษณะเครือข่าย ตลอดจนสามารถพัฒนาความร่วมมือกับนักวิจัยและหน่วยงานวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย ตลอดจนหน่วยงานให้ทุนภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น การจัดทำ MoU ระหว่างหน่วยงาน การร่วมสนับสนุนทุนเพื่อการดำเนินงานของเครือข่าย เป็นต้น
- นักวิจัยระดับปริญญาเอก และนักวิจัยหลังปริญญาเอก
หลักเกณฑ์การจัดสรรทุนวิจัย
1. ขอบเขตงานวิจัยที่สนับสนุน
สนับสนุนงานวิจัยตั้งแต่ระดับ Basic Research ในทุกสาขาวิชาที่มีโจทย์วิจัยตามแนวนโยบายยุทธศาสตร์ 5 ปี สกว. (พ.ศ. 2560-2564) สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี และนโยบาย Thailand 4.0
2. วงเงินสนับสนุนเครือข่ายวิจัยนานาชาติและระยะเวลาดำเนินการ
ให้การสนับสนุนทุนในการพัฒนาหรือต่อยอดเครือข่ายวิจัยนานาชาติสำหรับแต่ละเครือข่าย ในวงเงินไม่เกิน 10,000,000 บาท ระยะเวลาการรับทุน 3 ปี โดยเครือข่ายวิจัยที่เสนอขอรับทุนสามารถเลือกเสนอของบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามรายการดังนี้
- งบประมาณสำหรับพัฒนาเครือข่ายวิจัยนานาชาติ
- งบประมาณสำหรับการวิจัย
- ทุนนักศึกษาระดับปริญญาเอก ทุนละไม่เกิน 3 ปี
- ค่าใช้จ่ายประจำเดือนๆ ละ ไม่เกิน 12,000 บาท
- ค่าธรรมเนียมการศึกษา จ่ายตามจริงแต่ไม่เกินปีละ 70,000 บาท
- ทุนนักวิจัยหลังปริญญาเอก
- กรณีเป็นนักวิจัยไทย ค่าใช้จ่ายประจำเดือนๆ ละ ไม่เกิน 35,000 บาท
- กรณีเป็นนักวิจัยต่างชาติ ค่าใช้จ่ายประจำเดือนๆ ละ ไม่เกิน 45,000 บาท
หมายเหตุ: ค่าตอบแทนนักวิจัยในเครือข่ายและค่าจ้างเจ้าหน้าที่บริหารงานต้องไม่เกิน 15% ของงบประมาณทั้งหมด
3. ลักษณะเครือข่ายวิจัยที่เสนอขอรับทุนเครือข่ายวิจัยนานาชาติ
- คุณสมบัติความเป็นเครือข่ายที่สามารถขอเสนอรับทุนได้มีดังนี้
- เครือข่ายต้องประกอบด้วยคณะผู้วิจัยที่ทำงานร่วมกันเป็นลักษณะกลุ่มวิจัยจากสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยในประเทศและในต่างประเทศ โดยทีมนักวิจัยไทยต้องมีนักวิจัยมาจากอย่างน้อย 2 สถาบันในไทย และนักวิจัยจากสถาบันในต่างประเทศที่มีศักยภาพสูง
- เครือข่ายที่มีการดำเนินงานอยู่แล้ว และนักวิจัยทั้งในไทยและต่างประเทศทำงานวิจัยร่วมกันและสร้างเครือข่ายร่วมกันมาอย่างน้อย 2 ปี
- มีโครงสร้างของเครือข่ายวิจัยที่เข้มแข็ง เครือข่ายมีวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนและสอดคล้องกับหลักการของโครงการพัฒนาเครือข่ายวิจัยนานาชาติ
- ในกรณีที่เครือข่ายมีความร่วมมือและได้รับการสนับสนุนทุนจากหน่วยงานวิจัย ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
อนึ่ง สกว. ให้ความสำคัญแก่เครือข่ายวิจัยที่มีโครงสร้างของเครือข่ายที่เข้มแข็ง โดยควรประกอบไปด้วยหัวหน้าเครือข่ายวิจัยและนักวิจัยร่วมหลักที่มีประสบการณ์และมีศักยภาพสูงในด้านที่เสนอขอรับทุนและด้านความร่วมมือกับนักวิจัยและสถาบันในต่างประเทศ นอกจากนี้ เครือข่ายวิจัยต้องมีศักยภาพในการพัฒนาผู้ร่วมเครือข่ายที่มีประสบการณ์รองลงมาและพัฒนาให้เครือข่ายมีขีดความสามารถสูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสามารถพัฒนาเครือข่ายให้เกิดความยั่งยืนได้
- เป็นโปรแกรมวิจัยที่ดำเนินการในประเทศไทย และมีการทบทวนองค์ความรู้และเอกสารที่มีการตีพิมพ์แล้วอย่างครบถ้วนและครอบคลุม เป็นการวิจัยเพื่อหาองค์ความรู้ใหม่อย่างแท้จริง ไม่เป็นการวิจัยซ้ำกับองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้ว หรือถ้าเป็นการวิจัยเพื่อยืนยันองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่แล้วก็ต้องเป็นการวิจัยที่มีความจำเป็นอย่างแท้จริง
- มีการนิยามปัญหาและจุดมุ่งหมายอย่างชัดเจน และมีเหตุผลแสดงว่าการวิจัยองค์ความรู้ใหม่ของโครงการที่เสนอจะเป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาประเทศ
- เป็นโปรแกรมวิจัยที่ผ่านความเห็นชอบจากสถาบันต้นสังกัดของผู้เสนอขอรับทุน โดยสถาบันต้นสังกัดของผู้เสนอขอรับทุนจะต้องให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกแก่โครงการวิจัยที่ได้รับทุน
4. คุณสมบัติของผู้เสนอขอรับทุนเครือข่ายวิจัยนานาชาติ
- คุณสมบัติของนักวิจัยหลัก (Principal Investigator, PI) ที่เป็นหัวหน้าเครือข่าย
- มีอายุไม่เกิน 67 ปี (นับถึงวันยื่นใบสมัคร) และในกรณีมีอายุตั้งแต่ 57 ปีขึ้นไป ต้นสังกัดต้องรับรองว่าจะสามารถอยู่ทำงานกับต้นสังกัดได้นานพอที่สามารถดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จ ในกรณีที่นักวิจัยหลักรับนักศึกษาปริญญาเอก ต้องมีอายุไม่เกิน 62 ปี (นับถึงวันยื่นใบสมัคร)
- เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่า และทำงานประจำสังกัดอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยที่มีหลักสูตรปริญญาเอกรองรับการทำงานของเครือข่ายวิจัยนานาชาติที่ยื่นเสนอขอรับการสนับสนุน
- เป็นผู้ที่ทำวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยสำหรับ
- สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้องมีผลงานวิจัยที่ไม่ใช่ผลงานจากการทำวิทยานิพนธ์ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล Web of Science ที่มีค่า Impact Factor และ/หรือ Scopus ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา (ปี พ.ศ. 2557-2561) และต้องเป็นเจ้าของบทความชื่อแรกหรือเป็น corresponding author ไม่น้อยกว่า 5 เรื่อง และนับจากการจบการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่าต้องเป็นผู้ที่มี h-index ในฐานข้อมูล Scopus ไม่ต่ำกว่า 10
- สำหรับสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ นับจากการจบการศึกษาระดับปริญญาเอกต้องมีผลงานวิจัยที่ไม่ใช่ผลงานจากการทำวิทยานิพนธ์ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล Web of Science ที่มีค่า Impact Factor และ/หรือ Scopus ฐานข้อมูลด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่ สกว. ยอมรับ โดยเป็นเจ้าของบทความชื่อแรกหรือเป็น corresponding author หรือมีหนังสือ ตำรา เอกสารทางวิชาการ (monograph) ที่ตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ ไม่น้อยกว่า 3 เรื่อง
- มีประสบการณ์และผลงานการสร้างเครือข่ายวิจัยกับนักวิจัยต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น การได้รับทุนสนับสนุนจากแหล่งทุนต่างประเทศในโครงการวิจัยที่ได้ทำร่วมกัน การตีพิมพ์ผลงานวิจัยร่วมกัน (co-publication) การคุมวิทยานิพนธ์ร่วมกัน (co-advisor) การจัดประชุมวิชาการ เป็นต้น
- ไม่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารตั้งแต่ระดับคณบดีขึ้นไป
- ไม่อยู่ระหว่างการรับทุนวิจัยขนาดใหญ่ เช่น ทุนศาสตราวิจัยดีเด่น สกว. ทุนเมธีวิจัยอาวุโส สกว. โครงการวิจัยขนาดใหญ่ สวทช. ยกเว้นในกรณีอยู่ระหว่างใกล้เสร็จสิ้นโครงการ และสามารถดำเนินโครงการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน นับจากวันที่ประกาศผลทุน
- เป็นผู้ที่มีประวัติการรับทุนจาก สกว. ที่ดี
- มีความสามารถในการเป็นผู้นำเครือข่ายวิจัยและบริหารจัดการโปรแกรมวิจัย เพื่อให้เครือข่ายวิจัยสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
- ในกรณีที่จะรับนักศึกษาปริญญาเอกต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในหลักสูตรที่จะส่งนักศึกษามาขอรับทุน
- คุณสมบัติของนักวิจัยร่วม (Associate Researcher) ในเครือข่ายที่จะสามารถรับนักศึกษาปริญญาเอก และ/หรือ ทุนวิจัยของเครือข่าย
- มีอายุไม่เกิน 62 ปี (นับถึงวันยื่นใบสมัคร) และในกรณีมีอายุตั้งแต่ 57 ปีขึ้นไป ต้นสังกัดต้องรับรองว่าจะสามารถอยู่ทำงานกับต้นสังกัดได้นานพอที่สามารถดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จ
- เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่า และทำงานประจำสังกัดอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาหรือหน่วยงานในประเทศไทย
- เป็นผู้ที่ทำวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยสำหรับ
- สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้องมีผลงานวิจัยที่ไม่ใช่ผลงานจากการทำวิทยานิพนธ์ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล Web of Science ที่มีค่า Impact Factor และ/หรือ Scopus ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี พ.ศ. 2557-2561) ไม่น้อยกว่า 3 เรื่อง โดยเป็นเจ้าของบทความชื่อแรกหรือเป็น corresponding author ไม่น้อยกว่า 1 เรื่อง
- สำหรับสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ นับจากการจบการศึกษาระดับปริญญาเอกต้องมีผลงานวิจัยที่ไม่ใช่ผลงานจากการทำวิทยานิพนธ์ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล Web of Science ที่มีค่า Impact Factor และ/หรือ Scopus ฐานข้อมูลด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่ สกว. ยอมรับ โดยเป็นเจ้าของบทความชื่อแรกหรือเป็น corresponding author หรือมีหนังสือ ตำรา เอกสารทางวิชาการ (monograph) ที่ตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ ไม่น้อยกว่า 1 เรื่อง
- เป็นผู้ที่มีประวัติการรับทุนจาก สกว. ที่ดี
- มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในหลักสูตรที่จะส่งนักศึกษามาขอรับทุน
- คุณสมบัติของนักวิจัยร่วม (Associate Researcher) ในเครือข่าย กรณีที่ไม่ได้ขอสมัครรับทุนนักศึกษาปริญญาเอกจากเครือข่าย
- มีอายุไม่เกิน 67 ปี (นับถึงวันยื่นใบสมัคร) และในกรณีมีอายุตั้งแต่ 57 ปีขึ้นไป ต้นสังกัดต้องรับรองว่าจะสามารถอยู่ทำงานกับต้นสังกัดได้นานพอที่สามารถดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จ
- เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่า และทำงานประจำสังกัดอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันวิจัยในประเทศไทย
- เป็นผู้ที่ทำวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยสำหรับ
- สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้องมีผลงานวิจัยที่ไม่ใช่ผลงานจากการทำวิทยานิพนธ์ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล Web of Science ที่มีค่า Impact Factor และ/หรือ Scopus ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี พ.ศ. 2557-2561) โดยเป็นเจ้าของบทความชื่อแรกหรือเป็น corresponding author ไม่น้อยกว่า 1 เรื่อง
- สำหรับสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ นับจากการจบการศึกษาระดับปริญญาเอกต้องมีผลงานวิจัยที่ไม่ใช่ผลงานจากการทำวิทยานิพนธ์ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล Web of Science และ/หรือ Scopus ฐานข้อมูลด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่ สกว. ยอมรับ โดยเป็นเจ้าของบทความชื่อแรกหรือเป็น corresponding author หรือมีหนังสือ ตำรา เอกสารทางวิชาการ (monograph) ที่ตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ ไม่น้อยกว่า 1 เรื่อง
- ในช่วงเวลาที่รับทุน ทั้งนักวิจัยหลักและนักวิจัยร่วมในเครือข่ายต้องไม่รับทุนทำวิจัยหลายโครงการในเวลาเดียวกัน และหากมีความจำเป็นต้องรับทุนจากแหล่งทุนอื่นเพิ่มเติม ต้องแสดงเหตุผลที่ชัดเจนว่าการรับทุนนั้นเป็นการเสริมเพื่อให้โครงการมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยไม่มีความซ้ำซ้อนของโปรแกรมวิจัยและโครงการวิจัยย่อยในเครือข่ายวิจัยนานาชาติที่ยื่นขอรับการสนับสนุน ทั้งนี้ หมวดงบประมาณจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน
5. การประเมินข้อเสนอโปรแกรมวิจัยของเครือข่ายและกลไกในการติดตามประเมินผล
- คณะกรรมการพิจารณาข้อเสนอโครงการวิจัยจากข้อเสนอโปรแกรมวิจัยเชิงหลักการ (Concept proposal of research program) ของเครือข่าย โดยศึกษารายละเอียดข้อเสนอโปรแกรมวิจัยในเบื้องต้น เพื่อประเมินความเหมาะสม ความเป็นไปได้ ทั้งในด้านวิชาการ งบประมาณ ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ
-
เมื่อข้อเสนอโปรแกรมวิจัยเชิงหลักการผ่านการประเมินในชั้นต้น ผู้เสนอขอรับการสนับสนุนจะต้องส่งข้อเสนอโปรแกรมวิจัยฉบับเต็ม (Full proposal) การประเมินเพื่อจัดสรรทุนดำเนินการโดยคณะกรรมการคัดเลือกทุนและใช้ผู้ตรวจสอบข้อเสนอโครงการ (reviewers) ภายนอกทั้งจากในไทยและต่างประเทศร่วมด้วย
อนึ่ง หากกลุ่มผู้เสนอโครงการเครือข่ายวิจัยนานาชาติมีความเห็นว่า ควรส่งเอกสารให้ผู้ทรงคุณวุฒิท่านใดพิจารณา กรุณาระบุท้ายข้อเสนอโครงการด้วย พร้อมทั้งข้อมูลเท่าที่มีเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญของผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละท่านและความเกี่ยวพัน (ถ้ามี) กับนักวิจัยในโครงการ โดยเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 2-3 ท่าน คณะกรรมการอาจจะเรียนเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่ผู้เสนอโครงการแนะนำมาหรือไม่ก็ได้ ผลการพิจารณาของคณะกรรมการเป็นประการใดให้ถือเป็นที่สิ้นสุด ผู้ยื่นขอทุนจะอุทธรณ์มิได้
- คณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิจะติดตามและประเมินผลโครงการเครือข่ายวิจัยนานาชาติและโครงการย่อยที่ได้รับทุนแต่ละเครือข่ายเพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าของการดำเนินงานกับเป้าหมายของแผนการดำเนินงาน รวมทั้งตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของแต่ละโครงการวิจัยย่อยในแต่ละเครือข่าย โดยมีการดำเนินการ ในรูปแบบต่อไปนี้
- นักวิจัยหลักที่เป็นหัวหน้าของเครือข่ายวิจัยนานาชาติ (PI) รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการวิจัยด้วยเอกสาร และนำเสนอผลงานแบบบรรยายร่วมกับนักวิจัยร่วมและนักศึกษาปริญญาเอกภายใต้เครือข่ายตามระยะเวลาที่กำหนด
- คณะกรรมการตรวจเยี่ยมโครงการ เพื่อรับทราบสภาพการทำงาน ปัญหาอุปสรรค เพื่อให้ข้อแนะนำ และหามาตรการในการแก้ปัญหาได้ถูกต้องและทันเวลา
- สกว. จัดประชุมทางวิชาการเพื่อให้นักวิจัยในเครือข่ายและนักศึกษาระดับปริญญาเอกที่ได้รับทุนสนับสนุนผ่านเครือข่ายนำเสนอผลงานแบบบรรยายเมื่อดำเนินงานไประยะหนึ่ง และมีผลงานก้าวหน้าพอสมควร
6. การทำสัญญารับทุน
สัญญารับทุนเป็นการลงนาม 3 ฝ่าย คือ ผู้ให้ทุน (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) ผู้รับทุน (สถาบันต้นสังกัดของนักวิจัยหลักซึ่งเป็นหัวหน้าเครือข่าย) และนักวิจัยร่วมหลักผู้รับทุน
7. เงื่อนไขต่อสถาบันต้นสังกัด
- สถาบันต้นสังกัดของนักวิจัยหลักซึ่งเป็นหัวหน้าเครือข่ายวิจัยนานาชาติสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายในรูปแบบของ infrastructure และ/หรือ ครุภัณฑ์ที่มีราคาสูงในการดำเนินการวิจัยขั้นก้าวหน้าของเครือข่าย และให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกแก่โครงการวิจัยย่อยและนักศึกษาปริญญาเอกที่ได้รับทุน และจะไม่หักเงินทุนเป็นค่าใช้จ่ายทางอ้อม (indirect or overhead cost) ใดๆ ทั้งสิ้น
- สถาบันต้นสังกัดของผู้เสนอขอรับทุนจากหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่สถาบันเจ้าสังกัดของนักวิจัยหลักให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกแก่โครงการวิจัยย่อยและนักศึกษาปริญญาเอกที่ได้รับทุน และจะไม่หักเงินทุนเป็นค่าใช้จ่ายทางอ้อม (indirect or overhead cost) ใดๆ ทั้งสิ้น
8. การสมัครและกำหนดเวลาเสนอโครงการ (กำหนดเวลาการรับสมัครและการพิจารณาทุนตามเอกสารแนบ 2)
- เครือข่ายที่ประสงค์จะเสนอขอรับทุนขอให้ดำเนินการดังนี้
- หัวหน้าเครือข่ายวิจัยส่งเอกสารให้ สกว. ผ่านทางอีเมล์ trfirn@trf.or.th ภายในวันที่ 2 มกราคม 2562 ดังนี้
- แบบฟอร์มสรุปข้อเสนอโครงการวิจัย
- ข้อเสนอโปรแกรมวิจัยเชิงหลักการ (Concept proposal of research program) ของเครือข่าย
- หนังสือจากนักวิจัยและ/หรือหน่วยงานวิจัยต่างประเทศที่แจ้งตอบรับความร่วมมือในการทำวิจัยภายใต้เครือข่าย พร้อมแนบประวัติของนักวิจัยร่วมต่างประเทศ
- เอกสารแสดงการร่วมมือระหว่างนักวิจัยไทยและต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา
-
หัวหน้าเครือข่ายวิจัยและนักวิจัยร่วมไทยลงทะเบียนในระบบและกรอกข้อมูลประวัตินักวิจัยพร้อมแนบเอกสารแสดงผลงานผ่านเว็บไซต์ http://irn.trf.or.th ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2561 - 2 มกราคม 2562
ขอให้ส่งเฉพาะแบบฟอร์มสรุปข้อเสนอโครงการวิจัย (ตามข้อ 1.1) ที่มีการลงนามแล้วมาที่
โครงการพัฒนาเครือข่ายวิจัยนานาชาติ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ชั้น 14 อาคาร เอส เอ็ม ทาวเวอร์ 979/17-21 ถนนพหลโยธิน
แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
ทั้งนี้ คณะกรรมการจะพิจารณาประเด็นวิจัยและคุณสมบัติของนักวิจัยในเครือข่าย และแจ้งผลให้ทราบภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562
- เครือข่ายที่ผ่านการพิจารณาประเด็นวิจัยและคุณสมบัติของนักวิจัยแล้ว ขอให้หัวหน้าเครือข่ายวิจัยยื่นข้อเสนอโปรแกรมวิจัยฉบับเต็ม (Full Proposal) ผ่านทางเว็บไซต์ http://irn.trf.or.th ตั้งแต่วันที่ 1 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ สกว. จะประกาศผลเครือข่ายที่ได้รับการคัดเลือกภายในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
ประกาศ ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
(ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ)
ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ติดต่อสอบถาม
โครงการพัฒนาเครือข่ายวิจัยนานาชาติ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
โทรศัพท์ 0-2278-8280 โทรสาร 0-2298-0452
อีเมล์ trfirn@trf.or.th
➥ เอกสารประกาศรับสมัครทุน และรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับทุนสามารถดาวน์โหลดได้จากเอกสารแนบ (Attachments) ด้านล่างนี้
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ
https://www.trf.or.th/trf-announcement/grants-and-funding/irn/13042-international-research-network-fund-2562