ก.วิทย์ฯ สวทช. หนุนเศรษฐกิจนวัตกรรมตั้ง InnoSpace (Thailand) ดันสตาร์ทอัพไทยสู่สากล

19 ธันวาคม 2561 กรุงเทพฯ : กระทรวงอุตสาหกรรม ดึงเอกชนไทยลงขัน 500 ล้านบาท และประสานความร่วมมือกับ Hong Kong cyberPort หน่วยงานส่งเสริมสตาร์ทอัพของอิสราเอลผู้นำสตาร์ทอัพโลก สวทช. และสถาบันการศึกษา ก่อตั้ง InnoSpace (Thailand) ครั้งแรกในเมืองไทย เป็นแพลตฟอร์มกลางครบวงจร เชื่อมต่อกับระบบนิเวศสากล เพื่อผลักดันกลุ่มสตาร์ทอัพไทยโกอินเตอร์ มุ่งเป้าอุตสาหกรรมเป้าหมาย เน้นเกษตรอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศ ขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม และจะเปิดตัวต้นปี 2562

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับความร่วมมือในการจัดตั้ง InnoSpace (Thailand) กับภาคเอกชนรายใหญ่ทั้งไทยและต่างประเทศ โครงการนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ถือเป็น National Startup Platform ในการส่งเสริมและพัฒนาสตาร์ทอัพไทยอย่างครบวงจร เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมอย่างยั่งยืน โดยมีกระบวนการบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการในทุกระดับ ครอบคลุมทุกสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย

 

โดยเฉพาะสาขาการเกษตร ซึ่งเป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทยไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ แพลตฟอร์มนี้จะผลักดันให้สตาร์ทอัพไทยมีขีดความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมและเข้าสู่ตลาดระดับนานาชาติได้อย่างรวดเร็วขึ้น โดยจะต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศหลายแห่งที่ร่วมเป็นเครือข่ายพันธมิตรในการดำเนินโครงการนี้ และจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดใช้ชื่อว่า “บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด” หรือ InnoSpace (Thailand) Co., Ltd. คาดว่าจะจัดตั้งในต้นปี 2562 มีทุนประเดิม 500 ล้านบาท

โดยมีเอกชนรายใหญ่เป็นผู้ถือหุ้น เช่น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (มหาชน) และเครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมกันนี้เพื่อเชื่อมโยงและรองรับนโยบายรัฐได้เชิญกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งขาติ (สวทช.) เข้าร่วมถือหุ้นด้วย อีกทั้งได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในการส่งเสริมและพัฒนาสตาร์ทอัพจากต่างประเทศ ได้แก่ Hong Kong CyberPort และหน่วยงานส่งเสริมสตาร์ทอัพประเทศอิสราเอล เพื่อขยายและเชื่อมต่อระบบนิเวศของไทยสู่สากล และเชื่อมโยงสู่พื้นที่โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EECi ณ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) จ.ระยอง นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายอีก 5 แห่งได้แก่ ศูนย์ ITC กล้วยน้ำไท และศูนย์ ITC จ.เชียงใหม่ CMU SToP มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ในอนาคตจะเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงอุตฯ ได้หารือความร่วมมือของโครงการ 3 รูปแบบคือ พันธมิตรด้านการบ่มเพาะ (Incubation Partner) พันธมิตรด้านองค์ความรู้ (Knowledge Partner) และพันธมิตรด้านการลงทุน (Investment Partner) เช่น บริษัทเอกชนรายใหญ่ สวทช. และสถาบันการศึกษา รวมถึง Hong Kong CyberPort หน่วยส่งเสริมสตาร์ทอัพประเทศอิสราเอล Hong Kong Trade Development Council (HKTDC) และสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA)

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในความร่วมมือโครงการ InnoSpace (Thailand) ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้เป็นผู้ริเริ่ม เพื่อพัฒนาและส่งเสริม Startup ของประเทศไทย ในรูปแบบประชารัฐเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมอย่างยั่งยืน โดยเป็นการเชื่อมโยงภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ทั้งภายในและต่างประเทศ ร่วมกันเป็นเครือข่ายพันธมิตรในการดำเนินงาน ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้น ต้องใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่ง สวทช. มีการดำเนินงานที่ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่ชัดเจน มีการกำหนดประเด็นมุ่งเน้นและเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและการนำนวัตกรรมไปใช้เพื่อการพัฒนาฐานของระบบเศรษฐกิจนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่มูลค่า สร้างเสริมความแข็งแรงด้าน วทน. ให้กับสังคมไทย ได้แก่ การสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิต นวัตกรรมเพื่อการเกษตรยั่งยืน การพัฒนานวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการขนส่ง เป็นต้น รวมทั้งการให้บริการสนับสนุนเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการให้นำ วทน. ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เช่น บริการให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี การร่วมลงทุน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การประเมินจัดอันดับเทคโนโลยี การรับรองงานวิจัยเพื่อยกเว้นภาษี 300% และบัญชีนวัตกรรมไทย เป็นต้น

 

สำหรับการจัดตั้ง InnoSpace (Thailand) นี้ สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าร่วมถือหุ้นด้วย และมีการใช้พื้นที่ EECi เป็นที่ตั้งของโครงการฯ ทั้งนี้ EECi มีอุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่และ Biorefinery เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ InnoSpace (Thailand) นอกจากนี้ สวทช. ยังได้เชิญชวนให้ InnoSpace (Thailand) มาร่วมลงทุนใน Holding Company ของ สวทช. ที่จะจัดตั้งขึ้นในสัดส่วนร้อยละ 50 โดย NSTDA Holding Company จะมีสถานะเป็นหน่วยงานเอกชนที่มีรูปแบบที่คล่องตัวและบริหารงานในเชิงธุรกิจ ซึ่งอาศัยกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยี เพื่อเชื่อมโยงความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับอุตสาหกรรม การค้า และการลงทุน ทั้งนี้รูปแบบธุรกิจของ NSTDA Holding Company เบื้องต้นจะประกอบด้วย 1. การร่วมลงทุนในบริษัท Startup หรือ Spin-off 2. การบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี 3. การร่วมลงทุนในธุรกิจเงินร่วมลงทุน 4. การจัดตั้งบริษัทให้บริการทางเทคนิค และ 5. การซื้อขายและถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งจากการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 ได้รับทราบแนวทางการจัดตั้ง Holding Company ของ สวทช. แล้ว โดยเห็นควรให้ สวทช. ถือหุ้นร้อยละ 50 ร่วมกับมูลนิธิหรือบริษัทเอกชนที่เป็นกลาง อีกร้อยละ 50 ซึ่งโครงการ InnoSpace (Thailand) ที่จะจัดตั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นหน่วยงานเอกชนที่มีความเป็นกลางและมีวัตถุประสงค์การลงทุนที่สอดคล้องกับ Holding Company ของ สวทช. และการจัดตั้ง InnoSpace (Thailand) จะเป็น Platform ครบวงจรในการสร้างเสริม บ่มเพาะ และพัฒนา Startup ของประเทศไทย ในลักษณะ Open innovation ด้านโอกาสการลงทุนและเชิงพาณิชย์ และด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการยกระดับนวัตกรรมในระดับพื้นที่ และเชื่อมโยงสู่สากล เพื่อให้องค์กรเชื่อมโยงและรองรับนโยบายของภาครัฐ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ

https://www.nstda.or.th/th/news/12320-20181219-innospace