เปิดเวทีไขปริศนา แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

สกว. ร่วมกับ CRISP มธ. จัดสัมมนา ‘ความรู้และความไม่รู้ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย : มายาคติและทางออก’

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดงานสัมมนา "ความรู้และความไม่รู้ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย : มายาคติและทางออก" ห้องประชุมใหญ่ชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวเปิดงาน

งานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อไขปริศนาความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินของประเทศไทยและค้นหาแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวเปิดงาน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงมณี เลาวกุล นักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยข้อมูลความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆในโลก โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง มูลค่าทรัพย์สินครึ่งหนึ่งของทั้งหมดยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มครัวเรือน 10% แรกที่มีมูลค่าทรัพย์สินมากที่สุด โดยครัวเรือนกลุ่ม 10% แรกนี้ มีมูลค่าทรัพย์สินเฉลี่ยสูงกว่าครัวเรือนกลุ่มที่มีมูลค่าทรัพย์สินต่ำสุด 10% สุดท้ายถึง 375.2 เท่าและหากพิจารณาแหล่งที่มาของรายได้ของครัวเรือนที่มีมูลค่าทรัพย์สินในระดับ Top 1 % ก็จะพบว่ารายได้ส่วนใหญ่ประมาณ 45% มาจากการทำธุรกรรมและการลงทุน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่ารายได้ที่รับจากการจ้างงานซึ่งอยู่ที่ 34% แต่ทั้งนี้คณะผู้วิจัยประสบปัญหาการเข้าถึงฐานข้อมูลครัวเรือนที่มีความมั่งคั่งระดับสูง ซึ่งอนุมานได้ว่าความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินที่แท้จริงสูงกว่าตัวเลขที่แสดงไว้ในงานวิจัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงมณี เลาวกุล นักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ด้านการพิจารณาทรัพย์สินประเภทที่ดินพบว่า ในปี พ.ศ. 2555 ผู้ถือครองที่ดิน 10% แรก ที่ถือครองที่ดินมากที่สุด ถือครองที่ดิน 61.48% ของที่ดินที่มีโฉนดทั้งหมด ผู้ถือครองที่ดินสูงสุด 1% ถือครองที่ดินคิดเป็น 1 ใน 4 ของที่ดินที่มีโฉนดทั้งหมด นอกจากนี้ข้อมูลมหาเศรษฐีของไทยซึ่งจัดเก็บโดย Forbes ยังแสดงให้เห็นว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 – 2561 ความมั่งคั่งในกลุ่มมหาเศรษฐีไทย ที่มีทรัพย์สินมูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 10 เท่า จากมูลค่ารวม 13,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ.2552 เพิ่มขึ้นเป็น 149,150 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ. 2561 โดยสัดส่วนมูลค่าทรัพย์สินรวมของ 40 อันดับแรกของมหาเศรษฐีไทยคิดเป็น 32 % ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี

ในด้านทรัพย์สินทางการเงินหากพิจารณาจากปริมาณเงินรับฝากในระบบธนาคารพาณิชย์จะพบว่า ณ เดือนตุลาคม 2561 สัดส่วนจำนวนบัญชีที่มีปริมาณเงินรับฝากไม่เกิน 50,000 บาทนั้นสูงถึง 87.42% ของจำนวนบัญชีทั้งหมด แต่บัญชีเหล่านี้มีมูลค่ารับเงินฝากทั้งหมดคิดเป็นเพียง 2.89% ของทั้งหมด ในขณะที่จำนวนบัญชีที่ปริมาณรับเงินรบฝากตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป มีเพียง 0.002% แต่มีมูลค่าเงินรับฝากรวมถึง 18.07% ของทั้งหมด

ดังนั้นไม่ว่าจะพิจารณาในมิติใด สังคมไทยก็มีการกระจุกตัวของการถือครองทรัพย์สินค่อนข้างมาก นโยบายที่จะลดความเหลื่อมล้ำได้ นอกจากจะใช้นโยบายทางด้านรายได้แล้ว จะต้องมีนโยบายที่เน้นไปที่การกระจายการถือครองทรัพย์สินให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นด้วย จึงจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ โดยตนขอให้ข้อมูลข้อเนอแนะทางนโยบาย 10 ข้อ คือ

  1. ต้องทำให้ข้อมูลทั้งทางด้านรายได้และทรัพย์สินเป็นข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้
  2. รัฐต้องมุ่งลดการผูกขาดทางธุรกิจ และส่งเสริมการแข่งขัน
  3. ส่งเสริมให้มีการกระจายอำนาจทั้งการเมืองและการคลัง เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ
  4. ต้องแก้ไขปรับปรุงให้การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสามารถเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการลดความเหลื่อมล้ำได้ใน 2 มิติ คือ การกระจายอำนาจทางการคลัง และการลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินในรูปของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยรัฐบาลควรลดการยกเว้นภาษีลง ปรับการลดหย่อนและอัตราภาษีให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อเป็นแหล่งรายได้ที่ดีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน
  5. ด้านภาษีมรดก ควรลดการยกเว้นภาษีลง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินในระยะยาว
  6. ควรมีการขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กว้างและครอบคลุมมากขึ้น และมีมาตรการที่จะทำให้ผู้มีเงินได้เข้ามาในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในแนวนอน
  7. ควรมีการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มของทุน เช่น กำไรจากการซื้อขายหุ้น กำไรจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
  8. ลดรายจ่ายทางภาษีที่เกิดจากมาตรการลดหย่อนภาษีและการให้สิทธิพิเศษทางภาษีต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์กับผู้ที่มีความมั่งคั่ง และไม่ควรใช้มาตรการทางการคลังที่หวังผลเพียงในระยะสั้น
  9. ส่งเสริมให้มีการจัดทำฐานข้อมูลคนยากจนอย่างเป็นระบบ ทั่วถึง และโปร่งใส เพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณทางด้านสวัสดิการต่างๆ ลงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุด
  10. มุ่งส่งเสริมการใช้จ่ายของรัฐบาลทางด้านสวัสดิการที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ดี เช่น การศึกษา สาธารณสุข การประกันสังคม การอุดหนุนคนที่มีรายได้น้อย และการอุดหนุนคนสูงอายุ สำหรับสวัสดิการด้านการศึกษาควรพยายามลดความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบประมาณ และควรเพิ่มงบประมาณรายหัวสำหรับเด็กด้อยโอกาส ในด้านการประกันสังคม ควรขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบและแรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น

ศาสตราจารย์ ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ให้ข้อมูลว่า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เรายังไม่สามารสรุปได้ว่าไทยมีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลกตามกระแสข่าวเมื่อเร็วๆนี้ เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้มากนักในเวลาสั้นๆไม่กี่ปี ส่วนตัวเลขสัดส่วนการถือครองทรัพย์สินของกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด 1% แรก ต่างก็คำนวณขึ้นมาจากการแบ่งกลุ่มคนในประเทศเดียวกันออกเป็นกลุ่มต่างๆตามฐานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงต้องตระหนักถึงข้อจำกัดของมันหากจะนำไปใช้เปรียบเทียบในมิติระหว่างประเทศด้วย นอกจากนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้นมีหลากหลายมิติ เช่น ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่ง ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ความเหลื่อมล้ำของโอกาสการศึกษาและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข เป็นต้น ดังนั้นตัวชี้วัดที่จะใช้เปรียบเทียบในมิติระหว่างประเทศจึงต้องคำนึงถึงระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและระดับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศด้วย ปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยในอนาคตอันใกล้ภายใต้แผน Thailand 4.0 เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วนั่นเอง

ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในขณะที่ ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า หากพูดถึงคำว่าความเหลื่อมล้ำนั้น มีความหมายถึง 4 มิติคือ

  1. ความเหลื่อมล้ำที่สื่อความหมายถึงความไม่เสมอภาคและความไม่เป็นธรรม
  2. ความแตกต่างที่มีความหมายถึงความไม่เท่าเทียม
  3. ความลักลั่นที่หมายถึงการขาดระเบียบไม่เป็นไปตามลำดับ
  4. ความหลากหลายที่ตีความได้ถึงความแตกต่างทางรูปแบบ

โดยความเหลื่อมล้ำมีทั้งมิติที่มองเห็นและมองไม่เห็น เรามักจะพูดถึงการกระจายแต่รายได้ การกระจายความเจริญ แต่ยังมีอีกหลายมิติที่ถูกมองข้ามและไม่ควรถูกเพิกเฉย อาทิ ความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพยากร ทั้งที่ดิน ป่าไม้ ไฟฟ้า พลังงาน สิทธิชุมชนและสิทธิอุตสาหกรรม ความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล  ความเหลื่อมล้ำทางด้านความรู้ ที่ผ่านมานโยบายที่ไม่เข้าใจปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศอย่างเข้าอกเข้าใจนั้นนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำที่ซ้ำซ้อน

 

 
 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ

https://www.trf.or.th/trf-events-activities/13138-solving-the-mystery-of-inequality-forum