เอ็มเทค สวทช. จับมือ มก. นำร่องใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และช่วยลดปริมาณฝุ่นจิ๋ว PM2.5

ณ ห้องประชุมกำพล อดุลย์วิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือในการนำร่องใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 ภายใต้โครงการสนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซลให้สูงขึ้น

โดยโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2560 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ มีแผนงานการนำร่องใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 กับรถยนต์ส่วนกลางและรถโดยสารสวัสดิการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่น้อยกว่า 10 คัน เพื่อประเมินเตรียมความพร้อมใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 เป็นเชื้อเพลิงทางเลือก และช่วยลดปริมาณฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ภายในรั้วมหาวิทยาลัย

  

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ดำเนินการขยายผลกระบวนการ H-FAME (เฮช-เฟม) ในการเพิ่มคุณภาพไบโอดีเซล สู่การผลิตระดับโรงงานสาธิต

ซึ่งได้มีการผลิต H-FAME (เฮช-เฟม) เพื่อผสมในดีเซลในสัดส่วนร้อยละ 10 สำหรับการนำร่องใช้งานกับยานยนต์หลากหลายประเภทกว่า 80 คัน ในหน่วยงานราชการ และการร่วมมือกันครั้งนี้ เอ็มเทค และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะร่วมกันติดตามการใช้งานของยานพาหนะที่ใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 อย่างใกล้ชิดเพื่อประมวลผลการใช้งาน ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการใช้เชื้อเพลิง B10 ในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดปริมาณฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ในบรรยากาศบริเวณมหาวิทยาลัย จากการใช้เชื้อเพลิงที่มีปริมาณไบโอดีเซลเป็นส่วนผสมอีกด้วย

  

ดร.จงรักษ์ วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการการนำร่องใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 กับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ครั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะนำน้ำมัน B10 ไปใช้กับรถยนต์ส่วนกลางและรถโดยสารสวัสดิการ ไม่น้อยกว่า 10 คัน โดยจะเก็บข้อมูลและร่วมกันประเมินผลการใช้ B10 จากไบโอดีเซลที่ได้รับการเพิ่มคุณภาพแล้ว ก่อนผลักดันให้เกิดการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป และความร่วมมือนี้ยังสอดคล้องกับโครงการมหาวิทยาลัยสีเขียวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่สร้างความตระหนักการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพและลดมลพิษที่เกิดจากการเดินรถโดยสารภายในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะฝุ่นจิ๋ว PM 2.5

  

ด้าน สมชาย สถากุลเจริญ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ) กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีการดำเนินงานแล้วเสร็จในส่วนของการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มคุณภาพไบโอดีเซล (H-FAME) ในระดับโรงงานสาธิต ตลอดจนได้ทำการทดสอบการใช้งานในรถกระบะ จำนวน 8 คัน กว่า 80,000 กิโลเมตร และพร้อมนำร่องใช้ B10 ภาคสนาม เพื่อร่วมขับเคลื่อนแนวทางการใช้ไบโอดีเซลผสมในสัดส่วนที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดิบ ตลอดจนช่วยเกษตรกรชาวสวนปาล์มในประเทศ ในการเพิ่มอุปสงค์การใช้น้ำมันปาล์มเพื่อผลิตเป็นไบโอดีเซล ตามแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงริเริ่มไว้กว่า 30 ปีที่แล้ว รวมถึงการลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ

https://www.nstda.or.th/th/news/12392-20190212-b10