ฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ สกว. ประกาศรับข้อเสนอโครงการวิจัย “โครงการมาเลเซีย: นัยที่สำคัญต่อประเทศไทย” (รุ่นที่ 6)
TRFlogo2556

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ประกาศรับข้อเสนอโครงการวิจัย

โครงการมาเลเซีย: นัยที่สำคัญต่อประเทศไทย (รุ่นที่ 6)

โครงการมาเลเซีย: นัยที่สำคัญต่อประเทศไทย เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 มีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างชุมชนนักวิจัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยรุ่นใหม่ได้พัฒนาและใช้ศักยภาพความเป็นนักวิจัยในพื้นที่รอยต่อระหว่างประเทศไทยและมาเลเซียในการศึกษาประเด็นปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ท้องถิ่นที่นักวิจัยสนใจ และ/หรือศึกษาเปรียบเทียบลักษณะและวิธีการแก้ไขปัญหาเดียวกันในพื้นที่ประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ เพื่อสร้างชุดความรู้เกี่ยวกับพื้นที่ ผู้คน วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และปัญหา ในดินแดนสามจังหวัดชายแดนใต้และพื้นที่ประเทศมาเลเซียที่มีนัยสำคัญต่อประเทศไทย เพื่อให้นักวิจัยในพื้นที่สามารถนำข้อค้นพบ ข้อเปรียบเทียบ มานำเสนอเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาในพื้นที่ของตน หรือเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้

โครงการดังกล่าวมีวิธีดำเนินโครงการในรูปแบบ “การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ” เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยรุ่นใหม่ได้รับฟังและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ปัญหา ข้อสังเกต และความคิดเห็น ในการพัฒนาโจทย์วิจัย การเก็บข้อมูลภาคสนาม การค้นคว้าข้อมูลเอกสาร การประมวล และวิเคราะห์ข้อมูล ร่วมกับนักวิจัยที่มีประสบการณ์ทำวิจัยในเชิงรัฐศาสตร์-มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์สังคม และเศรษฐศาสตร์ โดยคาดหวังว่านักวิจัยที่เข้าร่วมโครงการจะนำความเห็น และประสบการณ์เหล่านี้ไปครุ่นคิดเพื่อหาวิธีสร้างความเข้มแข็งให้กับงานวิจัยในพื้นที่ของตนเองต่อไป รวมทั้งเพื่อช่วยให้เกิดความเข้มแข็งของประชาคมวิจัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย

ปัจจุบัน สกว. ได้ให้ทุนสนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่มาแล้วทั้งหมด 5 รุ่น โดยใน ปีงบประมาณ 2562 โครงการมาเลเซีย: นัยที่สำคัญต่อประเทศไทย จะเปิดรับข้อเสนอโครงการวิจัยจากนักวิจัยรุ่นใหม่ในรุ่นที่ 6

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

  1. เพื่อสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจ และแนวทางในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
  2. เพื่อทบทวนงานวิจัยที่เคยมีมาในประเด็น คน-รัฐ-กับความรู้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กับมาเลเซียทั้งในฐานะภูมิศาสตร์กายภาพ และ ภูมิศาสตร์วัฒนธรรม ในประเด็นต่างๆ ดังนี้

(1) กรอบการวิจัยเรื่องคน

  • ชาวไร่, ชาวนา, ชาวสวน, ชาวประมง เพื่อให้เห็นภาพวิถีชีวิตของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะเรื่องหนี้สินครัวเรือน พฤติกรรมการบริโภคของคนมุสลิม และพฤติกรรมการบริโภคของชาวพุทธในบริบทสังคมชายแดนใต้ ฯลฯ
  • คนรุ่นใหม่กับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ อาทิ
    • การใช้สิ่งเสพติด เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ยาเสพติดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะกระท่อมและกัญชา ทั้งกรณีที่ใช้เพื่อการผ่อนคลาย และความคิดเห็นต่อเรื่องการทำให้สารเสพติดบางชนิดใช้ได้ทางการแพทย์โดยไม่ผิดกฎหมาย
    • การใช้สื่อสังคมออนไลน์ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความคิดทางการเมือง การหย่อนใจ การบริโภค กับการเลือกใช้สื่อสังคมออนไลน์
    • การทำงานและใช้เวลาว่างร่วมกับคนต่างศาสนิก เพื่อศึกษาการใช้พื้นที่สาธารณะที่มีคนต่างฐานะ สถานภาพ ศาสนา อุดมการณ์ทางการเมือง
  • แรงงานต่างด้าวในจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเห็นประเภทของธุรกิจ-อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นแต่อาจขาดแคลนแรงงานในพื้นที่ งานและความเป็นอยู่ของแรงงาน ความเข้าใจคนและวัฒนธรรมของแรงงาน รวมทั้งการปรับตัวเพื่อให้สามารถทำงานและใช้ชีวิตในพื้นที่ได้

(2) กรอบการวิจัยเรื่อง “รัฐ”

  • การทำงานของภาครัฐ ศึกษาการทำงานของหน่วยงานของรัฐที่ทำโครงการแก้ไขปัญหาในชุมชน นโยบายของรัฐที่ต้องเชื่อมโยงกับบทบาทของมาเลเซีย การใช้งานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่
  • ชีวิตและการทำงานของข้าราชการมลายูมุสลิม ศึกษาชีวิตในสำนักงานของข้าราชการมุสลิมในแง่มุมต่างๆ อาทิ การทำความรู้จักสำนักงานและงานที่ได้รับมอบหมาย กฎกติกาในการทำงาน เพื่อนร่วมงาน โอกาสก้าวหน้าในการทำงาน/สายงาน การได้รับการยอมรับจากครอบครัวและชุมชนในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นต้น

(3) กรอบการวิจัยเรื่อง “ความรู้”

  • ภูมิทัศน์ความเป็นมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะชาวมุสลิมที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายอื่นที่ไม่ใช่ซุนนีย์ และกลุ่มชาวซุนนีย์ที่ยึดถือแนวการปฏิบัติแบบดั้งเดิม ศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ (ชุมชน การทำมาหากิน การปฏิบัติกิจทางศาสนาทั้งในชีวิตประจำวันและโอกาสพิเศษ ความสัมพันธ์กับชาวมุสลิมกลุ่มอื่น) เพื่อให้เห็นความหลากหลายของชาวมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้
  • ภูมิทัศน์ความเป็นพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเชื้อสายต่างๆ ที่นับถือศาสนาพุทธ ความสัมพันธ์และความผูกพันกับพื้นที่บ้านเกิด/ภูมิลำเนา ความสัมพันธ์กับชาวมลายูมุสลิม การนิยามความเป็นมุสลิมของชาวพุทธในพื้นที่จากการมีปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน ข่าวคราวเรื่องความรุนแรง และการประชาสัมพันธ์ของรัฐ

นักวิจัยเป้าหมาย

  1. นักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ได้งานวิจัยในแง่มุมใหม่ๆ โดยเริ่มจากการทำวิจัยโครงการขนาดเล็กก่อน
  2. นักวิจัย/นักศึกษา จากมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพ โดยพิจารณานักวิจัย/นักศึกษาที่มีภูมิลำเนาอยู่ใกล้ชายแดนไทย – มาเลเซียเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิ์ขอรับทุนวิจัยชุดโครงการมาเลเซีย รุ่นที่ 6 ต้องเป็นนักวิจัยที่ไม่เคยได้รับทุนจากชุดโครงการมาเลเซียฯ ของ สกว. มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าโครงการหรือนักวิจัยร่วม

ขอบเขตการวิจัย

เลือกพื้นที่ศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้กรอบงบประมาณไม่เกิน 350,000.00 บาท (สามแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)

กระบวนการวิจัย

ใช้การเก็บข้อมูลโดยการทำงานภาคสนาม ประกอบกับการค้นคว้าข้อมูลจากเอกสาร และสื่ออื่นๆ

ระยะเวลาโครงการ

ไม่เกิน 12 เดือน

การเสนอโครงการ

  1. เสนอประเด็นที่นักวิจัยต้องการศึกษา โดยบอกเล่าเรื่องราว และ/หรือเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความสนใจ และ/หรือจะเป็นกรณีศึกษาของโครงการวิจัย
  2. นักวิจัยต้องแสดงให้เห็นว่าได้ทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ต้องการศึกษาจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะจากงานวิจัยของ สกว. และ/หรือ วช. เพื่อทำให้เห็นความสำคัญของปัญหาการวิจัยและเห็นว่าโครงการวิจัยที่เสนอจะมีความแตกต่าง หรือต่อยอดงานวิจัยก่อนหน้านี้อย่างไร

    นอกจากนี้ ขอให้ทำบรรณานุกรมงานวิจัย และหนังสือที่ศึกษาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการวิจัยอย่างครบถ้วนแนบมากับข้อเสนอโครงการด้วย

แนวทางการใช้ประโยชน์

  1. นำเสนอข้อมูลหรือข้อเท็จจริงจากงานวิจัยเพื่อแสดงความก้าวหน้าทางความรู้ต่อสาธารณะในการประชุมทางวิชาการ
  2. นำเสนอข้อสรุปของงานวิจัยในรูปบทความวิชาการ
  3. จัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ปิดรับข้อเสนอโครงการ ภายในวันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม 2562

Download แบบฟอร์มการเขียนข้อเสนอโครงการได้จาก www.trf.or.th (หัวข้อ “ข่าวประชาสัมพันธ์ สกว.”) และนำส่งมาทาง Email: rapeeporn@trf.or.th (ก่อนเวลา 23.59 น. ของวันที่ 17 พฤษภาคม 2562)
(ส่งมาทางอีเมลเท่านั้น หากได้รับแล้ว สกว. จะตอบกลับอีเมลของท่าน)

หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่: รพีพร โทร 0-2278-8217 / rapeeporn@trf.or.th


➥ เอกสารประกาศและแบบฟอร์มสามารถดาวน์โหลดได้จากเอกสารแนบ (Attachments) ด้านล่างนี้

 

Attachments:
FileDescriptionDownloads
ประกาศรับข้อเสนอโครงการวิจัย “โครงการมาเลเซีย: นัยที่สำคัญต่อประเทศไทย” (รุ่นที่ 6) 130
แบบฟอร์มสำหรับข้อเสนอโครงการ “โครงการมาเลเซีย: นัยที่สำคัญต่อประเทศไทย” (รุ่นที่ 6) 54

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ

https://www.trf.or.th/trf-announcement/grants-and-funding/div1/13479-call-for-proposals-of-6th-malaysia-project,-important-implications-for-thailand