เผยแผนแม่บทจัดการน้ำ ลดวิฤตภัยแล้งใน 5 ปี

ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. เป็นประธานเปิดงาน “เวทีสาธารณะนโยบายน้ำ สกว. ครั้งที่ 10 : การบริหารจัดการน้ำภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับยุทธศาสตร์น้ำของประเทศ”

สกว. – จุฬาฯ ร่วมเปิดเวทีสาธารณะนโยบายน้ำ สกว. ครั้งที่ 10 "การบริหารจัดการน้ำภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับยุทธศาสตร์น้ำของประเทศ"

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานในการเปิดงาน “เวทีสาธารณะนโยบายน้ำ สกว. ครั้งที่ 10 : การบริหารจัดการน้ำภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับยุทธศาสตร์น้ำของประเทศ” เวทีที่จัดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการทรัพยากรน้ำและร่วมกันหาแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพือให้เกิดความยั่งยืนตามแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ ณ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ

นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ รักษาการที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ รักษาการที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงข้อมูลแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี (2561 – 2580) ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่า มีเป้าหมายใหญ่ 4 ด้านด้วยกันคือ

  1. ด้านการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ประปาหมู่บ้านต้องมีคุณภาพได้มาตรฐานภายในปี 2573 มีการขยายเขตประปา สำรองน้ำต้นทุนเพื่อรองรับเมืองหลัก เมืองท่องเที่ยว หรือเศรษฐกิจที่สำคัญ อัตราการใช้น้ำต่อประชากรต้องลดลงภายในปี 2570
  2. ด้านการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต จะพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำและระบบส่งน้ำให้เต็มศักยภาพ พัฒนาแหล่งน้ำทางเลือกสนับสนุนพื้นที่สำคัญ จัดหาน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝนลดความเสี่ยงและความเสียหายในพื้นที่วิกฤต ร้อยละ 50 ตลอดจนเพิ่มผลิตภาพและปรับโครงสร้างการใช้น้ำ
  3. ด้านการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย มีการปรับปรุงการระบายน้ำและสิ่งกีดขวาง จัดทำผังลุ่มน้ำและบังคับใช้ในผังเมืองรวมและจังหวัดทุกลุ่มน้ำ ป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง 764 เมือง บรรเทาอุทกภัยพื้นที่วิกฤตร้อยละ 60 เพิ่มประสิทธิภาพการปรับตัวและเผชิญเหตุในพื้นที่น้ำท่วม
  4. ด้านการจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ป้องกันและลดการเกิดน้ำเสียที่ต้นทาง พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน การนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ จัดสรรน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ และฟื้นฟูแม่น้ำ ลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติ
  5. ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ มุ่งเน้นการฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม ป้องกันการเกิดการชะล้างและการพังทลายของดินในพื้นที่เกษตรลาดชัด และ
  6. ด้านการบริหารจัดการ สร้างระบบฐานข้อมูล ระบบติดตามประเมินผล สนับสนุนการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงการพัฒนานักวิจัย นวัตกรรม เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มภาคบริการและการผลิต

โดยปัจจุบันคณะทำงานได้จัดทำเป้าหมายเร่งด่วนระยะ 5 ปี เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย เพื่อทำตามแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำดังกล่าวที่วางไว้ อาทิ เพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้าน 10,194 หมู่บ้าน   จัดทำโครงการพัฒนาระบบน้ำชุมชนเพื่อเกษตรกรยังชีพนอกเขตชลประทานสู้ภัยแล้ง 1,837 ตำบล เพื่อแก้วิกฤตภัยแล้งให้ลดลงอย่างน้อยร้อยละ 50 ตลอดจนเพิ่มผลิตภาพปรับโครงสร้างการใช้น้ำในพื้นที่ชลประทานเดิม พื้นที่อุตสาหกรรมภาคตะวันออก และพื้นที่พัฒนาระบบส่งน้ำใหม่

รศ. ดร.สุจริต คุณธนกุลวงศ์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในขณะที่ รศ.ดร.สุจริต คุณธนกุลวงศ์ นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า สถานภาพการบริหารจัดการน้ำของประเทศที่ผ่านมามีความมุ่งมั่นในการแก้แต่ยังคงมีอีกหลายปัญหาที่รออยู่ ปัจจุบันจึงมีการวางเป้าหมาย แผนแม่บทเพื่อแก้ปัญหาและสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต ภายใต้การดำเนินการหลายระดับทั้งในส่วนของการซ่อม สร้าง การพัฒนาที่ต้องก้าวกระโดด ทั้งนี้กระบวนการดังกล่าวต้องดำเนินการไปพร้อมๆกับ การเตรียมคน เตรียมข้อมูลด้านวิชาการ ตลอดจนข้อมูลข่าวสารและการปรับตัว ตลอดจนควรมีการสร้างแพลตฟอร์มการทดลองเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน โดนอนาคตอันใกล้ที่ไทยกำลังก้าวสู่ยุค 5G เทคโนโลยีนี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเรื่องน้ำด้วย

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ

https://www.trf.or.th/trf-events-activities/13431-water-management-masterplan-for-reducing-drought-crisis