ประกาศใช้ พ.ร.บ. สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พลิกโฉม สวทน. สู่ สอวช. “กิติพงค์” พร้อมนำทีมสร้างอนาคตประเทศ ครอบคลุมทั้งด้านการอุดมศึกษา สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

พฤษภาคม 2562  


ตามที่ รัฐบาลได้ริเริ่มการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ของประเทศ โดยรวมหน่วยงานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาอยู่ในกระทรวงเดียวกัน เป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีเป้าหมายขับเคลื่อนประเทศให้เป็นประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม และการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 โดยการปฏิรูป 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. การปฏิรูปการบริหารราชการ เพื่อให้มีการบูรณาการการทำงานด้านวิจัยและการสร้างบุคลากร 2. การปฏิรูปกฎระเบียบ เพื่อผลักดันให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมสามารถสร้างประโยชน์ต่อทั้งเศรษฐกิจ สังคม และชุมชน และ 3. ปฏิรูประบบงบประมาณ ด้วยการปรับรูปแบบและวิธีการทางงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด โดยพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสำนักงานราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศ พ.ร.บ. ดังกล่าว   มีผลทำให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เปลี่ยนเป็น “สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ” หรือ สอวช. ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป ด้าน กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เผย เป็นภารกิจที่มีความท้าทาย และพร้อมนำทีมสร้างอนาคตที่ดีให้กับประเทศไทย โดยเน้นย้ำจะดูแลนโยบายครอบคลุมทั้งมิติการอุดมศึกษา สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อววน.)

 


ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เปิดเผยในฐานะผู้อำนวยการ สอวช. ว่า ระหว่างเส้นทางการเปลี่ยนผ่านสู่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับการจัดตั้งกระทรวงใหม่ เพื่อให้องค์กรสามารถรองรับภารกิจใหม่ได้อย่างไร้รอยต่อและสามารถตอบสนองนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยบทบาทหน้าที่ของ สอวช. ภายใต้กระทรวงใหม่นี้ มีความสำคัญและมีความท้าทายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนและงบประมาณ รวมถึงการติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้าน อววน. ของประเทศ รวมถึงจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือซุปเปอร์บอร์ด ที่มีนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน โดยสภานโยบายฯ มีหน้าที่ในการเสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านการ อววน. ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท และแผนอื่น รวมทั้งนโยบายของรัฐบาล ต่อคณะรัฐมนตรี และพิจารณากรอบวงเงินงบประมาณประจำปีด้าน อววน.  ของประเทศ ก่อนที่สำนักงบประมาณจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี ส่วนนโยบายและยุทธศาสตร์จากสภานโยบายฯ จะส่งต่อให้คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คณะกรรมการการอุดมศึกษาและคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา นำไปแปลงสู่การปฏิบัติให้สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก เชื่อมโยงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนและภาครัฐ และสามารถพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน
 
“สอวช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการจะทำหน้าที่รับผิดชอบงานวิชาการและงานธุรการของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ ซุปเปอร์บอร์ด และมีหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของสภานโยบายเพื่อกำหนดทิศทางพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกได้ โดยใช้การวิจัยและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจ ชุมชน และสังคม รวมทั้งสนับสนุนการนำผลงานวิจัย และนวัตกรรมที่สำเร็จแล้วไปสู่การผลิตที่ได้มาตรฐาน เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ” ดร.กิติพงค์ กล่าว
 
สำหรับอำนาจหน้าที่ของ สอวช. ตาม พ.ร.บ. สภานโยบาย ฯ ประกอบด้วย
  1. รับผิดชอบงานวิชาการและงานธุรการ สนับสนุนสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คณะกรรมการ คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง และคณะอนุกรรมการ
  2. เสนอความเห็นเกี่ยวกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ของประเทศ
  3. เสนอความเห็นเกี่ยวกับกรอบวงเงินงบประมาณประจำปีด้าน อววน. ของประเทศ รวมทั้งระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการ
  4. เสนอความเห็นเกี่ยวกับการเร่งรัดและติดตามให้มีการเสนอหรือการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับ อววน.
  5. สนับสนุนการดำเนินการ การติดตามและประเมินผลของคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง
  6. ประสานงานให้มีการจัดทำ บูรณาการ และเชื่อมโยงฐานข้อมูลการอุดมศึกษาฐานข้อมูลมาตรฐานการอุดมศึกษา และฐานข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลดังกล่าว
  7. ประสานงานและให้ความร่วมมือกับส่วนราชการหน่วยงานอื่นของรัฐ หน่วยงานภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับด้าน อววน.
 
อย่างไรก็ตาม การทำงานของ สอวช. ต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการอุดมศึกษา ภาคสังคมและชุมชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการเป็นประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม (Thailand 4.0) และเพื่อเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 โดยนโยบายที่ขับเคลื่อนจะไม่ใช่แค่เพียงนโยบายที่ตอบโจทย์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย หรือนวัตกรรมเท่านั้น แต่จะให้ความสำคัญกับนโยบายด้านการอุดมศึกษา สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ควบคู่ไปด้วย
 
สำหรับภารกิจที่มีความท้าทาย และมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ คือ การเซทระบบบริหารการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่ สอวช. จะต้องทำหน้าที่ในการสนับสนุนงานวิชาการก่อนเสนอต่อสภานโยบายฯ คณะกรรมการ คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง และคณะอนุกรรมการ รวมทั้งประสานงานและติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ทำหน้าที่ออกแบบระบบการทำงานและกระบวนการที่สำคัญของกระทรวงฯ รวมทั้งพัฒนาข้อเสนอนโยบาย มาตรการ กฎหมาย และกลไกเพื่อส่งเสริมการพัฒนา อววน. รวมทั้งจัดทำข้อเสนอกรอบงบประมาณด้าน อววน. ของประเทศ และระบบจัดสรรและบริหารงบประมาณในด้านดังกล่าว ตลอดจนออกแบบระบบการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้าน อววน. ของประเทศ
 
นอกจากนี้ ในด้านนโยบายการอุดมศึกษา ต้องมีการทำงานบูรณาการ และเชื่อมโยงการอุดมศึกษาเข้ากับ วทน. ซึ่งจะทำให้มีพลังมากขึ้น โดยบทบาทของงานด้านนโยบายการพัฒนากำลังคนและการอุดมศึกษา ของ สอวช. จะดำเนินการจัดทำนโยบายพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ครอบคลุมทั้งการผลิตบัณฑิตและบุคลากรในระบบวิจัยและนวัตกรรม การจัดทำข้อเสนอนโยบาย มาตรการหรือสิทธิประโยชน์สำหรับการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตามนโยบายที่สำคัญของประเทศ พัฒนาระบบกลไกการขับเคลื่อนการอุดมศึกษาในด้านการวิจัยและนวัตกรรม พัฒนาระบบสร้างความร่วมมือการผลิตและการใช้ประโยชน์บุคลากรในระบบวิจัยและนวัตกรรม มีการวิจัยเชิงนโยบายผ่านการทดลองในโครงการนำร่อง ตลอดจนมีการประเมินผลการขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในอนาคตอาจจำเป็นต้องมีการขยายขอบเขตงานที่กว้างขึ้น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ตามนโยบายของกระทรวงต่อไป
 
สำหรับงานสำคัญด้านยุทธศาสตร์วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะดำเนินการทำงานเชิงรุกมากยิ่งขึ้น โดยจะมีการจัดทำข้อเสนอแนะวาระการพัฒนาด้าน อววน. ของประเทศ พัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์การลงทุนด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พัฒนามาตรการส่งเสริมการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปใช้เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ และสังคม ชุมชน ท้องถิ่น ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะยุทธศาสตร์การวิจัยด้านสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ และความร่วมมือกับต่างประเทศด้าน อววน. รวมถึงภารกิจในการเชื่อมโยงและบูรณาการฐานข้อมูลด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อการกำหนดนโยบาย เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตาม ก่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ สอวช. ในวันนี้ สวทน. ได้สร้างสรรค์ผลงาน และส่งมอบนโยบายที่สร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 11 ปี ไม่ว่าจะเป็นโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร ที่ได้ดำเนินการในหลากหลายด้าน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ ทั้งการให้บริการผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ ในรูปแบบการให้บริการจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพื่อให้ผู้ประกอบการอาหารของไทยเข้าถึงแหล่งทรัพยากร บุคลากรการวิจัย การบริการ แหล่งเงินทุน สิทธิประโยชน์ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ และภาคมหาวิทยาลัย เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารนวัตกรรมอาหารออกสู่ตลาดได้รวดเร็ว มีคุณภาพตามมาตรฐาน และตรงกับความต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารอีกด้วย ทั้งนี้ สวทน. ได้ส่งต่อเมืองนวัตกรรมอาหารให้ทาง สวทช. รับช่วงต่อเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างผลกระทบต่อสังคมได้มากยิ่งขึ้น
 
นอกจากนี้ สวทน. ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติการพิสูจน์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. .... เพื่อให้มีพื้นที่ทดลองให้สามารถเกิดการทดสอบเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมได้อย่างปลอดภัยก่อนการพิจารณาอนุญาตให้ใช้ในวงกว้าง ซึ่งจะเป็นการให้อำนาจแก่หน่วยงานของรัฐในการยกเว้น ผ่อนปรน กฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ เป็นการชั่วคราวภายใต้ขอบเขตที่จำกัดเพื่อทำการพิสูจน์ โดยเป็นกลไกรองรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ หรือกรณีกฎหมายที่มีอยู่มีความล้าสมัยให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นระบบ
 
อีกหนึ่งผลงานสำคัญของ สวทน. คือ การจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. .... หรือ Bayh - Dole Act ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 อนุมัติและรับทราบหลักการ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว ซึ่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีหลักการสำคัญเพื่อขจัดอุปสรรคในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยการมอบสิทธิความเป็นเจ้าของในผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากการสนับสนุนทุนจากหน่วยงานให้ทุนของรัฐ ให้แก่ผู้รับทุนซึ่งส่วนใหญ่ ได้แก่ สถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัย เมื่อมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยเป็นเจ้าของผลงานวิจัย จะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วยการทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิไปยังภาคเอกชนเพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้า บริการ และออกขายในตลาดต่อไปได้อย่างคล่องตัว โดยมีนักวิจัยในสังกัดสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้ทำวิจัยทำหน้าที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ไปยังภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้รับเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้นได้โดยตรง และไม่ติดกับกฎระเบียบของหน่วยงานให้ทุนในเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยจะได้รับรายได้จากการอนุญาตให้ใช้สิทธิ และจะต้องจัดสรรรายได้ให้กับนักวิจัยในสัดส่วนที่เหมาะสม เมื่อนักวิจัยได้รับส่วนแบ่งรายได้ก็จะเกิดแรงจูงใจในการสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของภาคการผลิตและบริการ ยิ่งไปกว่านั้น หากนักวิจัยจะนำเอาผลงานวิจัยนั้นไปต่อยอดและทำธุรกิจเองโดยตั้งเป็นบริษัทก็สามารถทำได้ หรือหากผู้ประกอบการ Startup สนใจทำธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้นก็สามารถทำได้รวดเร็วและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
 
Link พ.ร.บ. สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/057/T_0008.PDF

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ

http://www.sti.or.th/news-detail.php?news_type=2&news_id=454