สปสช. ผนึก ธ.ก.ส. จับมือ สวทช. ผลิตเครื่องตรวจวัดสุขภาพฯ ป้องกันโรคไม่ติดต่อ เฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10

สปสช. ร่วมมือ ธ.ก.ส. จัดโครงการ “รู้เท่าทันเท่ากับการป้องกันโรคไม่ติดต่อเฉลิมพระเกียรติ” เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10 จับมือ สวทช. หน่วยงานด้านวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พัฒนาและผลิตเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ ติดตั้งที่ ธ.ก.ส. เริ่มเดือนกรกฎาคมนี้ พร้อมกระจายไปยัง 10 จังหวัดๆ ละ 10 เครื่อง ตั้งเป้าครบ 100 เครื่อง ภายในปี 2562 หวังให้ประชาชนเข้าถึงเครื่องตรวจวัดสุขภาพฯ ง่ายขึ้น เกิดความตระหนัก รู้เท่าทัน และป้องกันตนเองจากโรคไม่ติดต่อ ภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยสูงสุดทุกปี

วันที่ 31 พฤษภาคม 2562 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และนายกษาปณ์ เงินรวง ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมแถลงข่าวลงนามความร่วมมือ การพัฒนาและผลิตเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ ตามโครงการ “รู้เท่าทันเท่ากับการป้องกันโรคไม่ติดต่อเฉลิมพระเกียรติ” เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ โถงชั้น 1 ทาวเวอร์ C อาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 (INC2) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ปทุมธานี

  

ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเปิดการแถลงฯ ว่า การพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นองค์รวมต้องดำเนินด้วยการอาศัยสนับสนุนความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ดังเช่นที่ สปสช. สวทช. และ ธ.ก.ส. ร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐนอกเหนือองค์กรสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของ สวทช. หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ถือว่าสำคัญในการสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข ลดการนำเข้าเครื่องมือจากต่างประเทศ ช่วยเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคง บทบาทของ ธ.ก.ส. ในการสร้างความมั่นคงทางการเงินที่ใกล้ชิดประชาชนกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดที่ต้องมีสุขภาพดี และบทบาทของ สปสช. ในการสร้างการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐานให้กับประชนชนคนไทย ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานล้วนแต่สร้างคุณูปการในการช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรง ทั้งในตรวจการคัดกรอง ประเมินภาวะสุขภาพได้ด้วยตนเอง รู้และตระหนักเรื่องการป้องกันดูแลและสร้างเสริมสุขภาพตนเองให้สุขภาพดีอย่างสม่ำเสมอ ไม่เป็นภาระแก่ครอบครัว ชุมชน หรือหน่วยงานของรัฐ

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โครงการดังกล่าวฯ เกิดขึ้นภายหลังจาก สปสช. ได้ร่วมมือกับ ธ.ก.ส. เสนอโครงการ “รู้เท่าทันเท่ากับการป้องกันโรคไม่ติดต่อเฉลิมพระเกียรติ” เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ สำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันด้านสุขภาพและตระหนักเรื่องการป้องกันดูแลและสร้างเสริมสุขภาพตนเองให้สุขภาพดีและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม ตามยุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (Promotion and Prevention : P&P) ของการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการลดอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตยืนยาวขึ้น

  

ทั้งนี้ในโครงการดังกล่าวฯ สปสช. และ ธ.ก.ส. ยังผนึกกำลังในการทำงานร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความสามารถอันเหนือชั้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยในการพัฒนาและผลิตเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้น และเป็นที่มาของการลงนามความร่วมมือทั้ง 3 หน่วยงานในครั้งนี้ โดยเครื่องวัดดังกล่าวฯ ประกอบไปด้วย การวัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก วัดดัชนีมวลกาย ทั้งนี้เมื่อตรวจวัดเสร็จแล้วผลของการวัดที่ได้จะถูกแปลค่าและให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวได้ อีกทั้งข้อมูลจะถูกถ่ายโอนเข้าสู่ Cloud ซึ่งเชื่อมโยงกับ Smart phone ของผู้วัด ซึ่งสามารถนำผลดังกล่าวในการเฝ้าระวังการป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง Non-communicable diseases หรือ NCDs ได้ หรือหากพบอาการผิดปกติก็สามารถนำข้อมูลไปปรึกษาแพทย์ได้ “จากข้อมูลในปี 2558 มีผู้ป่วยเสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อ NCDs โดยเฉพาะ 4 กลุ่มโรคหลักประกอบด้วย โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ถึงร้อยละ 71.3 ของการเสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายป้องกันโรคระดับปฐมภูมิ (primary prevention) ทั้ง 2 หน่วยงาน จึงได้ผนึกกำลังร่วมมือกับ สวทช. ให้มาช่วยพัฒนาและผลิตเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้น จำนวน 100 เครื่อง เพื่อนำไปติดตั้งยัง ธ.ก.ส. และสถานที่เป้าหมายในพื้นที่ทั่วประเทศ 10 จังหวัดๆ ละ 10 แห่ง โดยจะเริ่มส่งมอบเครื่องฯ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 อันเป็นเดือนแห่งการเฉลิมพระชนมพรรษาครบรอบ 66 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”

  

เลขาธิการ สปสช. กล่าวด้วยว่า ความร่วมมือครั้งนี้ สปสช. พร้อมสนับสนุนการพัฒนาเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ประโยชน์ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ โดย สปสช. จะจัดเตรียมข้อมูลเพื่อใช้สำหรับการดูแลและเฝ้าระวังสุขภาพ และให้ข้อมูลการแปลผลพร้อมคำแนะนำในการดูแลสุขภาพของผู้ถูกวัดสุขภาพจากเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ และพร้อมเป็นผู้ให้ข้อมูลด้านสถานที่ติดตั้งแก่ ธ.ก.ส. เพื่อให้ประชาชนได้รับการคัดกรอง ประเมินภาวะสุขภาพได้ด้วยตนเอง ในกรณีประชากรกลุ่มเสี่ยงสูง ได้รับการติดตามดูแลสุขภาพไม่เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังรายใหม่สามารถดูแลสุขภาพกลับไปเป็นกลุ่มปกติได้ และในประชากรกลุ่มป่วยได้รับคำแนะนำให้เข้ารับบริการรักษาตามมาตรฐานต่อไป

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. โดย ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ มีทีมวิจัยที่พร้อมวิจัย พัฒนาและผลิตเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ ซึ่งเครื่องฯ ดังกล่าว จะเชื่อมต่อกับระบบคลาวด์ (Cloud) สามารถกระจายข้อมูลไปยังเครื่องอื่นๆ ได้หลายเครื่องพร้อมกัน ทำให้สามารถประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ ด้านสุขภาพและการป้องกันโรคให้ประชาชนรับทราบได้อย่างทันที “จุดเด่นของเครื่อง คือ ข้อมูลที่วัดได้จะถูกส่งไปที่ระบบคลาวด์ (Cloud) ซึ่งจะเก็บข้อมูลของผู้ถูกวัดแต่ละคนไว้ สำหรับการติดตามความคืบหน้าระบบสุขภาพที่เป็นระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เช่น สปสช. อาจจะประกาศนโยบายให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี เมื่อประชาชนได้รับข้อมูลแล้ว ทาง สปสช. ก็จะสามารถติดตามได้ว่า หลังจากประกาศนโยบายไปแล้ว 1 ปี มีอัตราการป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไรบ้าง โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถทำเป็นระบบเพื่อรายงานผลให้ผู้กำหนดนโยบาย นำไปกำหนดนโยบายสุขภาพที่เหมาะสมกับชุมชนแต่ละพื้นที่แต่ละภูมิภาคได้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ดร.ณรงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับเครื่องดังกล่าว ประกอบไปด้วย การวัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก วัดดัชนีมวลกาย โดยเมื่อตรวจวัดเสร็จ ผลของการวัดที่ได้จะถูกแปลค่าและประเมินระดับความเสี่ยงด้านสุขภาพ มีข้อมูลให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว รวมทั้งมีคำแนะนำให้พบแพทย์ตามสถานพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย อย่างไรก็ตามระบบระบบคลาวด์ (Cloud) จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือช่วยเสริมการจัดเก็บข้อมูลที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ได้ทำอยู่แล้วนั้นให้เป็นระบบมากขึ้น ทั้งนี้ในอนาคตทีมวิจัยจะพัฒนาต่อยอด ให้เครื่องฯ มีฟังก์ชันเซ็นเซอร์เพิ่มเติม เช่น เซ็นเซอร์การตรวจวัดสารพิษในร่างกายให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกค้าหลัก ของ ธ.ก.ส. ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อมูลสำคัญที่จะสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อการกำหนดนโยบายการป้องกันสุขภาพ แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งเครื่องนี้จะเป็นการผลักดันให้เกิดการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถต่อยอด นำไปสู่การใช้งาน และตอบโจทย์เทคโนโลยีที่จะช่วยในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ด้าน นายกษาปณ์ เงินรวง ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส. ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาและผลิตเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ พร้อมทั้งพื้นที่ของ ธ.ก.ส. เป็นสถานที่ติดตั้ง ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงเครื่องวัดได้ด้วยตนเองและนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์สำหรับให้การดูแลและเฝ้าระวังสุขภาพของผู้ถูกวัดได้ด้วยตัวเอง ร่วมกับ สปสช. และ สวทช. เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันด้านสุขภาพและตระหนักเรื่องป้องกันดูแลและสร้างเสริมสุขภาพตนเองให้สุขภาพดีเบื้องต้น ให้กับลูกค้า ธ.ก.ส. ประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ ธ.ก.ส. ในการเพิ่มขีดความสามารถเกษตรกรไทย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรที่ดี รู้เท่าทันด้านสุขภาพและตระหนักเรื่องป้องกันดูแลและสร้างเสริมสุขภาพตนเองให้สุขภาพดี

ข้อมูลเพิ่มเติม
ระบบคลาวด์ (Cloud System) เป็นการทำงานร่วมกันของเซิร์ฟเวอร์จำนวนมาก และการแยกส่วนของการทำงานแบบเป็นระบบนี้ ทำให้การทำงานของเว็บหรือเซิร์ฟเวอร์เสมือนของท่าน ไม่ติดขัด และมั่นใจได้ตลอดเวลา แตกต่างจากเว็บโฮสติ้ง หรือ เซิร์ฟเวอร์ธรรมดาทั่วไป ที่หากเกิดการติดขัดเสียหายของอุปกรณ์นั้นๆ ก็จะทำให้การทำงานหยุดลงโดยไม่มีระบบทดแทน

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ

https://www.nstda.or.th/th/news/12576-20190531