ประติมากรรมฝาท่อระบายน้ำ ศิลปะสุดชิคปรับโฉมกรุงเทพฯ

ลวดลายบนฝาท่อระบายน้ำซึ่งแสดงถึงอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน

ฝ่ายมนุษยศาสตร์ฯ สกว. สนับสนุนทุนวิจัย "ประติมากรรมฝาท่อระบายน้ำ" ปรับโฉมกรุงเทพฯ ส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชน

แนวคิดที่ว่าประติมากรรมเป็นองค์ประกอบหนึ่งของเมืองและช่วยให้เมืองมีความงดงาม เป็นแนวคิดทางศิลปะและการจัดผังเมืองที่สังคมไทยได้อิทธิพลจากตะวันตก ในระยะแรกประติมากรรมบนที่สาธารณะของเมืองเกิดขึ้นโดยการจัดการของรัฐ ซึ่งมีการเตรียมพื้นที่สำหรับติดตั้งอย่างเหมาะสม และโครงการมักถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของการจัดผังเมือง เช่น ตั้งอยู่บนลานพระราชวัง หรือตั้งบนแยกถนนที่ตัดขึ้นใหม่ งานประติมากรรมสาธารณะในช่วงเริ่มต้นของไทยมักเป็นอนุสาวรีย์หรือเป็นส่วนประดับสะพาน น้ำพุ หรืออาจเป็นส่วนประดับอาคารของราชการ การจัดการอย่างชัดเจนในระยะแรก ๆ โดยรัฐ ทำให้ประติมากรรมบนที่สาธารณะมีทางสุนทรีย์ และสื่อความหมายของผลงานถึงสาธารณชนได้ดี ทั้งยังเป็นหมุดหมายที่ส่งเสริมภูมิทัศน์ของเมือง

อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมามีการขยายตัวของเขตเมืองอย่างรวดเร็ว การจัดการเมืองไม่ทันต่อสถานการณ์ได้ทำลายทัศนียภาพของเมืองที่เคยงดงามในอดีต การขยายถนนได้รื้อทำลายสะพานซึ่งมีอายุกว่า 100 ปีลงมาก งานศิลปกรรมประดับตกแต่งสะพานรวมไปถึงน้ำพุประดับตามแยกถนนสายสำคัญจึงถูกรื้อทำลายลงด้วย ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีความแออัด การจัดสรรพื้นที่ในเมืองให้เป็นที่สาธารณะใหม่ขึ้น เช่น ลานคนเมือง จัตุรัสเมือง หรือสวนหย่อมทำได้ยาก สภาพเมืองปัจจุบันจึงไม่เอื้ออำนวยต่อโครงงานประติมากรรมบนที่สาธารณะเช่นในอดีต

กรุงเทพมหานครมีแนวคิดและความพยายามแทรกงานศิลปะลงบนพื้นที่เมือง โดยริเริ่มโครงการติดตั้งงานประติมากรรมถาวรตามจุดตัดของถนนหลายแห่ง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่สามารถจัดสรรพื้นที่เหมาะสมให้แก่ผลงานประติมากรรม ผลงานบางชิ้นถูกรื้อทิ้งเมื่อมีการปรับปรุงผิวจราจร บางชิ้นถูกปล่อยให้ทรุดโทรมเพราะขาดการดูแล กรุงเทพมหานครจึงมักเลือกสวนสาธารณะเป็นที่ติดตั้งโครงการประติมากรรม แต่ก็ไม่ได้มีส่วนช่วยให้พื้นที่ชุมชนและภูมิทัศน์ของเมืองมีทัศนียภาพโดยรวมที่ดีขึ้นมากนัก

ปัจจุบันมีภาคธุรกิจ องค์กร และเอกชนหลายรายนำประติมากรรมมาติดตั้งหน้าอาคารสำนักงานของตัวเอง ช่วยสร้างทัศนียภาพของเมืองให้งดงามไปพร้อมกับการส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงธุรกิจขององค์กร เป็นที่น่าสังเกตว่าโครงการเหล่านี้มักเกิดในย่านธุรกิจสำคัญบนพื้นที่ ซึ่งเจ้าของเป็นผู้ดูแลรักษาให้งานประติมากรรมอยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ ส่วนในย่านชุมชนที่มีงานประติมากรรมติดตั้ง หากไม่อยู่ในพื้นที่ของหน่วยงานราชการมักขาดผู้ดูแลรับผิดชอบ ทำให้ผลงานเหล่านั้นเสื่อมโทรมในเวลาไม่นานและมักถูกรื้อถอนไป ผลลัพธ์ของการจัดการที่ผ่านมาชี้ชัดว่าการจัดการทัศนียภาพของเมืองขนาดมหานครโดยรัฐฝ่ายเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป การปรับปรุงภูมิทัศน์ในเมืองให้งดงามขึ้นจึงต้องการความร่วมมือจากหลายฝ่าย โครงการประติมากรรมบนพื้นที่สาธารณะที่จะประสบผลสำเร็จต้องการการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ ศิลปิน และชุมชน

รศ.จักรพันธ์ วิลาสินีกุล จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ฝ่ายมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เห็นความสำคัญของแนวคิดดังกล่าวจึงได้สนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “การออกแบบประติมากรรมบนที่สาธารณะกับการมีส่วนร่วมของชุมชน” แก่ รองศาสตราจารย์ จักรพันธ์ วิลาสินีกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประติมากรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมา วิถีชีวิต และการค้าของชุมชน รวมถึงลักษณะทางศิลปกรรมของสถานที่สำคัญในอดีตและโบราณสถานที่ยังหลงเหลืออยู่ในย่านชุมชนริมคลองโอ่งอ่าง ซึ่งผู้วิจัยเห็นว่าสามารถใช้เป็นเนื้อหาในการออกแบบงานศิลปะได้ ผลงานอาจช่วยส่งเสริมอัตลักษณ์ของชุมชนให้เด่นชัดขึ้นและส่งผลทางอ้อมต่อการค้า ซึ่งการสร้างศิลปะสาธารณะสามารถสื่อให้เห็นถึงความผูกผันกับพื้นที่ของชุมชน ประวัติศาสตร์และพัฒนาการของชุมชนและเมือง อัตลักษณ์และวัฒนธรรมของท้องถิ่น ชุมชน และเชื้อชาติให้เป็นที่รู้จัก รวมถึงการค้าและแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน คุณค่าของโบราณสถาน ศาสนสถาน และวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ พร้อมกับส่งเสริมภาพลักษณ์ใหม่และความคิดสร้างสรรค์ร่วมสมัย ตลอดจนสิ่งแวดล้อมเชิงกายภาพของชุมชนที่มีการจัดภูมิทัศน์ให้งดงาม

เมื่อพิจารณาสภาพแวดล้อมของทางเดินริมคลองและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ผู้วิจัยเห็นว่าในแต่ละช่วงทางเดินริมคลองสามารถติดตั้งงานศิลปะได้หลากหลายลักษณะ จึงเสนอแนวทางการออกแบบงานศิลปะประเภทต่าง ๆ ทั้งงานประติมากรรมและงานออกแบบศิลปะ 3 มิติ โดยเสนอให้ใช้รูปแบบงานศิลปะหลากหลายร่วมกัน เพื่อช่วยให้ทางเดินนี้มีองค์ประกอบทางศิลปะที่เป็นเอกภาพและเกิดทัศนียภาพที่งดงาม และเพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดทางเดินริมน้ำสายวัฒนธรรม จึงแบ่งรูปแบบการออกแบบงานศิลปะออกเป็น 6 รูปแบบ ประกอบด้วย ประติมากรรมลอยตัว ประติมากรรมนูนต่ำ ม้านั่ง ฝาท่อระบายน้ำและสาธารณูปโภค ศิลปะกราฟฟิตี้ และรั้วกันทางเดินริมน้ำ

“กองจัดรูปที่ดินและปรับปรุงฟื้นฟูเมือง สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ได้นำผลการวิจัยไปใช้และเป็นแนวทางการออกแบบเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์โดยส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชน “โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองโอ่งอ่าง” และโครงการศิลปะชุมชน “กิจกรรมแต้มสี กรุงเทพฯ” ปี 2561ซึ่งสำนักผังเมืองได้ศึกษาปรับปรุงพื้นที่ริมคลองรอบกรุงตลอดเส้นทางจากแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศใต้จรดทิศเหนือนอกจากนี้ในโครงการส่วนต่อจากคลองโอ่งอ่างที่กรุงเทพมหานครมีแผนในการดำเนินการต่อไปนั้น การใช้งานศิลปะโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมก็เป็นแนวทางหนึ่งในการแสวงหาความร่วมมือจากชุมชน” รองศาสตราจารย์จักรพันธ์กล่าว

 

 
 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ

https://www.trf.or.th/tourism-and-culture-news/14105-artistic-manhole-cover