วช. ผลักดันแนวทางการเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ไมโครพลาสติก
วช. ผลักดันแนวทางการเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ไมโครพลาสติก

 

วช. ผลักดันแนวทางการเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ไมโครพลาสติก เพื่อการวิจัย

สังคมไทยเริ่มมีการตื่นตัวเรื่องการใช้พลาสติกและขยะพลาสติกกันมากขึ้น นับเป็นเรื่องที่ดี ที่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มีส่วนในการขับเคลื่อนเรื่องนี้มาตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จนนำไปสู่การกำหนดแผนงานการสนับสนุนทุนวิจัยภายใต้ โครงการท้าทายไทย ชื่อ “ทะเลไทย...ไร้ขยะ” ซึ่งกำลังดำเนินการได้ดีอยู่ ในปัจจุบัน
และสืบเนื่องจากที่มีการพบว่า ไมโครพลาสติกมีการตกค้างในสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตทั้งในน้ำ ดิน และตะกอนดินในหลายพื้นที่ของประเทศ และมีความจำเป็นที่ต้องมีการวิจัยในอีกหลายประเด็นของหน่วยงานวิจัยทั่วประเทศทั้งในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งการติดตามสถานการณ์การตกค้างของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต อย่างไรก็ตามการเก็บตัวอย่างและการวิเคราะห์ของหน่วยงานวิจัยมีความแตกต่างกันและในบางประเด็นไม่มีกำหนดวิธีการไว้ จึงเป็นการเรียนรู้และทดลองของนักวิจัยเอง ทำให้อาจมีปัญหาในการเปรียบเทียบผลการวิจัย


ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวในการแถลงข่าวความร่วมมือและสัมมนาทางวิชาการแนวทางการเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ไมโครพลาสติก วันที่ 18 กันยายน 2562
ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ โฮเต็ล ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร ว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้เห็นถึงปัญหาและผลกระทบของขยะพลาสติกตกค้างมากกว่าการเป็นขยะในแหล่งน้ำและส่งผลกระทบต่อชีวิตของสัตว์น้ำ เช่น พยูนมาเรียมน้อย หรือเศษขยะพลาสติกขนาดใหญ่ตกค้างในร่างกายของสัตว์น้ำ โดย วช. ได้มองไปถึงการแตกตัวหรือย่อยของพลาสติกเหล่านี้ การตกค้างของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อม น้ำ ดิน ตะกอนดิน สิ่งมีชีวิตและห่วงโซ่อาหาร ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้รับความสนใจเฉพาะนักวิจัยในบางประเทศ การกำหนดการขนาดของไมโครพลาสติกเพื่อเทียบให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ยังไม่มีการกำหนด ทำให้เปรียบเทียบการตกค้าง หรือความรุนแรงของปัญหาไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นวิธีการเก็บตัวอย่างและการวิเคราะห์ของแต่ละหน่วยงานวิจัยที่มีความแตกต่างกันและในบางประเด็นไม่มีการกำหนดวิธีการไว้ จึงเป็นการเรียนรู้และทดลองของนักวิจัยเอง ทำให้อาจมีปัญหาในการเปรียบเทียบผลการวิจัย


ซึ่งสถานการณ์ในเวทีโลกยังอยู่ระหว่างการหารือกันของหน่วยงานต่าง ๆ ในหลายประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน เวทีนานาชาติในการหารือส่วนใหญ่จะเน้นการเก็บตัวอย่างในระบบนิเวศในทะเลเป็นหลัก ส่วนในน้ำจืดและน้ำกร่อยยังไม่มีการเตรียมการ
ดังนั้น วช. จึงได้ร่วมหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ WESTPAC หรือ ION Sub-Commission for the Western Pacific ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ UNESCO เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นแนวทางในการเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ไมโครพลาสติกที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต และเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของนักวิจัยหรือบุคคลที่สนใจในการวิเคราะห์ไมโครพลาสติก


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ

https://www.nrct.go.th/news/วช-ผลักดันแนวทางการเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ไมโครพลาสติก