วช. เผย 10 เรื่องเด่นการวิจัยไทย ปี 2562

เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 62 ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เผย 10 เรื่องเด่นการวิจัยไทยในปี 2562 ได้แก่
1. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) (Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation : MHESI) กระทรวงใหม่ล่าสุดของประเทศ ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 2 พ.ค. 2562 จากการควบรวม 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนและสนับสนุนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม
2. วช. โฉมใหม่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ - วช. 5G สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปลี่ยนเป็น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ตั้งแต่การวิจัยจนถึงการนำไปใช้ประโยชน์ประกาศนโยบาย วช. 5G พลิกโฉมเป็นส่วนราชการที่มีประสิทธิภาพสูง รวดเร็ว คล่องตัว เชื่อมโยงนโยบายสู่การปฏิบัติได้ทันที
3. กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และบทบาท PMU ในการบริหารการวิจัยและนวัตกรรม มีการบริหารงบประมาณการวิจัยของประเทศผ่านกลไกกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเกิดหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม (Program Management Unit, PMU) หลักทั้งในและนอกกระทรวงการอุดมศึกษา ฯ ประกอบด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และจัดตั้ง หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม อีก 3 PMU ขึ้นใหม่ ได้แก่ ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)
4. งบวิจัยและนวัตกรรมของไทย ถึง 1.25% ของ GDP ประเทศไทยมีการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพิ่มขึ้นเป็น 216,376 ล้านบาท คิดเป็น 1.25% ของ GDP และคาดว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายของประเทศที่ตั้งไว้คือ 1.5% GDP ภายในปี 2565 และ 2.0% GDP ภายในปี 2570
5. ฐานข้อมูลกลางการวิจัยของประเทศ เกิดฐานข้อมูลกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ มีการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพของข้อมูล เช่น Analytic & Prediction, Cloud Computing, IOR, AI, Big data เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการวิจัยและนวัตกรรมระดับชาติและนานาชาติ เป็นฐานข้อมูลการวิจัยและนวัตกรรม ที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นเอกภาพ โดย วช. และสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รับผิดชอบ
6. วิจัยไทยใช้ได้จริง ผลงานวิจัยของนักวิจัยไทย. สามารถนำไปใช้ได้จริงจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น
• ปลดล็อคส่งออกมะม่วงไปสหรัฐอเมริกา ตอบสนองแนวคิด BCG Model โดยความสำเร็จของผลงานวิจัยและพัฒนา ทำให้สามารถส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองไปยังสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จในรอบ 12 ปี
• ศูนย์ข้อมูลฝุ่น PM 2.5 อย่างครบวงจร เรียกว่า ระบบข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเบ็ดเสร็จ (NRCT Air Quality Information Center) เพื่อให้เป็น Platform การตรวจวัดและข้อมูลค่าฝุ่นละอองที่มีความถูกต้อง แม่นยำ และเป็นมาตรฐานเดียวกัน ให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างทันท่วงที
• ธนาคารปูม้าทั่วประเทศ ขยายผลจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม และบูรณาการขับเคลื่อนธนาคารปูม้า จำนวน 531 แห่ง จากเป้าหมาย 500 แห่ง โดยมีจำนวนแม่ปูเข้าสู่ธนาคารกว่า 113,000 ตัว ประมาณการจะมีลูกปู กลับเข้าสู่ทะเลไทย 56.5 ล้านตัว
7. ผลงานวิจัยไทยคว้ารางวัลระดับโลก นักวิจัยไทยคว้ารางวัลระดับโลกใน 4 เวทีนานาชาติ จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เกาหลี เยอรมัน มาเลเซีย ได้รางวัลเป็น
• รางวัลเกียรติยศ (Grand Prize) จากผลงานเรื่อง ระบบควบคุมอุณหภูมิการเผาไหม้เครื่องกังหันก๊าซ แบบอัตโนมัติ ของ กฟผ.
3 เหรียญทองเกียรติยศ
12 Special Prizes
69 เหรียญทอง
128 เหรียญเงิน
88 เหรียญทองแดง
8. โครงการวิจัยท้าทายไทย การวิจัยมุ่งเป้าขนาดใหญ่เพื่อประชาชน
• ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ แก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับ และมะเร็งท่อน้ำดีแบบครบวงจร อัตราการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ลดลงจาก 43% เหลือ 13% ใน 2 ปี
• Precision Medicine in Cancer ช่วยให้แพทย์ค้นหาผู้ป่วยมะเร็งที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ป้องกันหรือคัดกรองมะเร็งในสมาชิกครอบครัว เช่น ในกรณีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจะช่วยป้องกันหรือลดโอกาสเกิดมะเร็งรายใหม่ได้ราวปีละ 5,000 ราย
9. วิจัยเพื่อท้องถิ่น ผลิดอกออกผล
• นวัตกรรมในการจัดฟาร์มกระบือแบบประณีต ทำให้การจัดการฟาร์มกระบือมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิตอาหาร โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่น ทำให้กระบือมีคุณภาพดี
• การกระตุ้นการออกดอกและเพิ่มการติดผลของลิ้นจี่พันธุ์ค่อม ทำให้ลิ้นจี่พันธุ์ค่อมออกดอกและควบคุมให้มีการพัฒนาจนสามารถเก็บผลผลิตได้
• เครื่องอบแห้งผลิตผลการเกษตร ช่วยลดความชื้นผลผลิตทางการเกษตร สามารถเคลื่อนย้ายได้ ทำให้ลดระยะเวลาและลดปัญหาการขาดแรงงาน โดยกลุ่มเกษตรกรใน 17 จังหวัดได้ใช้เครื่องนี้แล้ว
10. เชื่อมไทย เชื่อมโลกด้วยการวิจัย
• ศูนย์แห่งความเป็นเลิศนานาชาติ ดิจิทัลหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางกรุงเทพ (DBAR-ICoE Bangkok) โดยเป็น 1 ใน 8 ศูนย์ทั่วโลก
• ความร่วมมือกับนานาชาติ อาทิ เยอรมัน อังกฤษ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย
• ความร่วมมือด้านพลังงานระหว่าง วช. สกสว. และ Korea Institute of Energy Technology Evaluation and Planning (KETEP)

ในปี 2563 วช.และหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ จะได้ร่วมมือกันในการขับเคลื่อนยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อทำให้เกิดผลงานที่มี Impact สูงทางสังคมและเศรษฐกิจ สร้างองค์ความรู้พื้นฐานทางวิชาการ ตอบโจทย์ท้าทายสำคัญทางสังคม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ บรรลุตามเป้าหมายการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่อไป

ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่:https://www.facebook.com/nrctofficial/posts/2480530975405793?__tn__=K-R

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ

https://www.nrct.go.th/news/วช-เผย-10-เรื่องเด่นการวิจัยไทย-ปี-2562