ประธานบอร์ด กสว. พร้อมเปิดรับโจทย์วิจัยจากสภานิติบัญญัติและทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ปัญหาประเทศ มั่นใจมีผลงานคุ้มค่าการลงทุน ไม่ขึ้นหิ้ง ด้าน มทส. จับมือเบทาโกรขยายตลาดทั้งในห้างและส่งเสริมการเลี้ยงไก่ใน ส.ป.ป.ลาวและกัมพูชา ขณะที่ รมว.สธ. - ส.ส.ลำพูน แนะทีมเกษตรแม่นยำขยายเครือข่ายและประยุกต์ใช้งานระบบเซ็นเซอร์ทางเคมีในพื้นที่เพิ่มเติม
ศ. นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เปิดเผยว่า ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยภารกิจการส่งเสริมระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ร่วมกับ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดงานนิทรรศการ “ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) กับการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์” ณ อาคารสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐสภา เกียกกาย นับเป็นการตอบโจทย์ภาคประชาชนและภาคนโยบายผ่านงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาของประเทศและงานวิจัยที่สามารถนำไปกำหนดนโยบาย โดยมีหน่วยบริหารจัดการทุนเป็นหน่วยผลิตผลงานวิจัย เพื่อลดคำวิจารณ์ ‘งานวิจัยขึ้นหิ้ง’ และลดความซ้ำซ้อนของการสนับสนุนทุนวิจัย โดยพยายามที่จะตอบโจทย์ของทุกภาคส่วน เช่น ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) การต่อยอดและย่อยงานวิจัยให้เข้าใจง่าย เช่น คู่มือเทคนิคการปลูกลำไยนอกฤดู และแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ
“สกสว. เป็นแหล่งรับโจทย์วิจัยจากฝ่ายต่าง ๆ กระจายสู่หน่วยบริหารจัดการทุน และนำงานวิจัยพร้อมใช้มาขยายผลต่อยอดผ่าน ส.ส. ซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชนและรู้ถึงปัญหาในพื้นที่เป็นอย่างดี ดังนั้นหากมีปัญหาใดทางเราพร้อมที่จะนำมาเป็นโจทย์วิจัย และมั่นใจว่าจะมีผลงานที่คุ้มค่ากับการลงทุนวิจัย ดังจะเห็นได้จากการต่อยอดผลงานวิจัย การพึ่งพาเทคโนโลยีและนวัตกรรมหลายอย่างในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เราพัฒนาขึ้นเอง ซี่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายของเรา รวมถึงโรคต่าง ๆ ที่สำคัญต่อสาธารณสุขของไทย และการดูแลภาคเกษตร เป็นต้น”
ด้าน รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รักษาการผู้อำนวยการ สกสว. ระบุว่า ขอขอบพระคุณทางรัฐสภาที่เปิดพื้นที่ให้หน่วยงานวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้นำตัวอย่างผลงานวิจัยที่มีการใช้ประโยชน์ของหน่วยบริหารจัดการทุนทั้ง 7 แห่ง รวมทั้งผลงานเด่นของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หรือ สกสว. เดิม มาจัดแสดงซึ่งมีทั้งงานเชิงพื้นที่ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อการขับเคลื่อนและแก้ปัญหาของประเทศ ซึ่งมีผลตอบรับที่ดีจากฝั่งสภาผู้แทนราษฎร และเพิ่มโอกาสในการจัดแสดงนิทรรศการในฝั่งวุฒิสภาในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้ต่อด้วย
สำหรับผลงานวิจัยเด่นที่นำมาจัดแสดง เช่น “ไก่โคราช” ผศ. ดร.อมรรัตน์ โมฬี หัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการขยายผลงานวิจัยสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศภายใต้ความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กับ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ว่าจะมีการทำตลาดผ่านเพจประชาสัมพันธ์ และคัดเลือกพรีเซนเตอร์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี โดยขณะนี้มีวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่อย่างเซ็นทรัลและเดอะมอลล์ทั่วประเทศ รวมถึงร้านอาหารระดับ 4 ดาว นอกจากนี้ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะมีผลิตภัณฑ์ไก่โคราชในรายการอาหารของสุกี้เอ็มเคด้วย รวมถึงจะส่งและเนื้อไก่ชำแหละไปจำหน่ายในเวียงจันทน์ ส.ป.ป.ลาว และวางแผนจะส่งลูกเจี๊ยบไปช่วยส่งเสริมการเลี้ยงไก่โคราชให้กับเกษตรกรเครือข่ายของเบทาโกรในกรุงพนมเปญและเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ และกำลังดำเนินการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับจังหวัดศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และ ธ.ก.ส. เพื่อให้เป็นศูนย์กลางไก่โคราชอินทรีย์แบบครบวงจรในช่วงปลายปีนี้ โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เนื่องจากเป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ขนาดใหญ่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษช่วยทำแบรนด์ ทั้งนี้ จังหวัดศรีสะเกษและชัยภูมิจะขอเข้ามาสังเกตการณ์เพื่อนำไปขยายผลแก่เกษตรกรด้วย ปัจจุบันเกษตรกรเครือข่ายมีกำไรจากการจำหน่ายไก่ไม่ต่ำกว่า 20 บาท/ตัว หากเลี้ยงไก่10,000 ตัว จะมีกำไรถึง 200,000 บาท แต่ก็ยังมีบางรายที่ยังทำไม่ได้ตามเป้าเพราะประสิทธิภาพยังไม่ดีพอ ซึ่ง มทส.และเบทาโกรจะช่วยกันผลักดันให้เกษตรกรกลุ่มนี้ผลิตไก่ที่ได้คุณภาพมาตรฐาน
ด้าน ผศ. ดร. ภก.เฉลิมพงษ์ แสนจุ้ม นักวิจัยในชุดโครงการเกษตรแม่นยำ เผยว่า ระบบเซ็นเซอร์ทางเคมีในการตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารหลักของพืชในดิน (CSS-TPSA) เพื่อเกษตรแม่นยำและยั่งยืนวิถีไทย ได้รับความสนใจจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นอย่างมาก โดยแนะนำให้ขยายเครือข่ายและเพิ่มพื้นที่ของเกษตรกรที่เข้าร่วมใช้ระบบดังกล่าว ขณะที่นายสงวน พงษ์มณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน สนใจนำระบบเซ็นเซอร์ไปประยุกต์ใช้ในการเพาะปลูกสมุนไพรเพื่อเพิ่มสารสำคัญสำหรับการนำมาใช้ประโยชน์ทางยา ทั้งนี้ ระบบเซ็นเซอร์ทางเคมีที่พัฒนาขึ้นนี้มีจุดเด่น คือ ราคาถูก ใช้งานง่ายและสะดวก ช่วยทำให้เกษตรกรไทยลดต้นทุนการผลิต สามารถใส่ปุ๋ยได้อย่างแม่นยำตามสภาพดินและความต้องการของพืช ลดการนำเข้าปุ๋ยเคมีและใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตอบยุทธศาสตร์ชาติด้าน ‘เกษตรสร้างมูลค่าแม่นยำ’ และการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ โดยปัจจุบันมีการนำระบบเซ็นเซอร์ทางเคมีไปใช้กับสวนส้มเขียวหวาน สวนทุเรียน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ข้าวและข้าวโพด จ.พะเยา และกำลังวางแผนขยายเครือข่ายในภาคเหนือ เพราะหากลดการใช้ปุ๋ยและสารเคมีจะส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อน้ำที่ไหลลงจากภาคเหนือสู่ภาคกลาง
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ