สกสว. จับมือศูนย์มานุษยฯ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เผย 9 ผลงานวิจัยจากชายแดนใต้ “พื้นที่ ผู้คนและข้อเสนอเชิงนโยบาย” Created on9 ต.ค. 2563 00:00

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “ชายแดนใต้: พื้นที่ ผู้คนและข้อเสนอเชิงนโยบาย” นำเสนอ 9 ผลงานวิจัยจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ พร้อมขับเคลื่อนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายยุติปัญหาด้วยความรู้และความเข้าใจ

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “ชายแดนใต้: พื้นที่ ผู้คนและข้อเสนอเชิงนโยบาย” โดยมีการนำเสนอผลงานวิจัย 9 เรื่อง จากชุดโครงการวิจัยประเด็นวิจัยเชิงยุทธศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย

  1. โครงการ “สานฝันปาตานีโดยไม่ใช้ความรุนแรง: วิเคราะห์จากบทสนทนาเพื่อสร้างจินตนาการใหม่” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.มารค ตามไท
  2. โครงการ “ความคิด และปฏิบัติการทางการเมืองของผู้คนในพื้นที่สีแดง” โดย อาจารย์อาทิตย์ ทองอินทร์
  3. โครงการ “การเมืองของความขัดแย้งชายแดนใต้/ปาตานี : ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงความเป็นการเมือง ในห้วง 15 ปีของความรุนแรง” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล
  4. โครงการ “ทบทวนประวัติศาสตร์ปัต (ปา) ตานี: มุมมองที่แตกต่างหลากหลาย” โดย คุณรอมฎอน ปันจอร์
  5. โครงการ “สันติศึกษาในพื้นที่ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง กรณีศึกษา ความเป็นไปได้ของพิพิธภัณฑ์สันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” โดย คุณภัทรภร ภู่ทอง
  6. โครงการ “กฎหมายความมั่นคงและการบังคับใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และพื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา” โดย ดร.กัลยา แซ่อั้ง
  7. โครงการ “การศึกษากลไกทางกฎหมายเพื่อการกลับคืนสู่สังคม ของกองกำลังติดอาวุธในจังหวัดชายแดนใต้ ผ่านการศึกษาเปรียบเทียบกับกลไกของอาเจะฮ์และมินดาเนา” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ
  8. โครงการ “พลวัตความเคลื่อนไหวของนักการเมืองมลายูมุสลิมท่ามกลางความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้” โดย คุณอิมรอน ซาเหาะ
  9. โครงการ “บทบาทผู้นำศาสนาอิสลามและศาสนาพุทธต่อการเสริมสร้างความสัมพันธ์ ระหว่างชาวมุสลิมและชาวพุทธในสามจังหวัดชายแดนใต้” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปัญญา เทพสิงห์

โอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกานดา เหลืองอ่อน ลิวอิส ผู้อำนวยการภารกิจการวิเคราะห์สถานการณ์ด้าน ววน. ในและต่างประเทศ กล่าวว่า สกสว. ยังคงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญาจังหวัดชายแดนใต้ โดยปัจจุบันได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ ทบทวนแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงร่วมกับหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม (PMU: Program Management Unit) ที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนการแก้ปัญหานี้ด้วยระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยร่วมกับภาคนโยบายและนิติบัญัติ ซึ่งที่ผ่านมา ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ปรึกษาโครงการ และ ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ผู้ประสานงานได้นำเสนอผลการวิจัยเบื้องต้นต่อ คณะอนุกรรมาธิการศึกษาและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการลอบประทุษร้ายประชาชน คณะที่สอง (ละเมิดสิทธิในเขตพื้นที่พิเศษและจังหวัดชายแดนใต้) ในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2563 ที่อาคารรัฐสภา จากการรายงานผลการวิจัย คณะอนุกรรมาธิการฯ ชุดดังกล่าวมีความเห็นสนับสนุนให้นำเสนองานวิจัยในโครงการ SRI 13 ต่อสาธารณะ เพื่อเป็นประโยชน์แก่หน่วยงานของรัฐทั้งฝ่ายความมั่นคงและพลเรือนที่มีภารกิจในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ภาคประชาสังคม หน่วยงานและองค์กรที่ทำงานในพื้นที่ ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่สนใจ

ทางด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.มารค ตามไท เปิดเผยว่า โครงการ “สานฝันปาตานีโดยไม่ใช้ความรุนแรง: วิเคราะห์จากบทสนทนาเพื่อสร้างจินตนาการใหม่” เก็บข้อมูลโดยมีโอกาสได้สัมภาษณ์ชาวปาตานีที่สนับสนุนเอกราช 1,000 คน สิ่งที่ค้นพบคือเหตุผลหลักที่ชาวปาตานีซึ่งสนับสนุนเอกราชให้ไว้คือ

  1. ความเป็นเจ้าของดินแดน
  2. การเป็นวิธีที่จะได้อนาคตที่ปรารถนา
  3. การเป็นพันธะทางศาสนา และ
  4. การเป็นวิธีจัดการกับความขัดแย้งกับรัฐไทยได้ดีที่สุด

ใน 4 เหตุผลข้างต้นนี้ เหตุผลที่ 1 ถึง 3 เป็นเหตุผลที่วางอยู่บนฐานคุณค่าที่เรียกกันว่า “คุณค่าศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งเป็นคุณค่าที่แลกเปลี่ยนกับอย่างอื่นไม่ได้และจะเกิดปฏิกิริยาทางลบถ้าคนอื่นพยายาม โน้มน้าวเสนอของตอบแทนเพื่อให้ทิ้งเสีย และเหตุผลที่ 4 วางอยู่บนคุณค่าที่จัดการได้โดยที่รัฐไทยเปลี่ยนวิธี ปฏิบัติและเปลี่ยนนโยบายในบางเรื่อง

ข้อสรุปและข้อแนะนำของงานวิจัยสำหรับการสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้คือ รัฐไทยควรเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้คนปาตานีถกกันเองอย่างเปิดเผยและกว้างขวางเกี่ยวกับอนาคตของปาตานีว่าจะเดินตามเส้นทางเอกราชหรือไม่ และรัฐไทยควรดำเนินการนี้โดยมีวุฒิภาวะพอที่จะส่งเสริมการคุยกันครั้งนี้ ระหว่างคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ด้วยกันเอง ด้วยความปรารถนาดีต่อความสุขใจของคนทุกคนที่เกี่ยวข้อง

เอกสารประกอบการสัมมนา : https://bit.ly/3nszRtH

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ

https://www.tsri.or.th/th/news/detail/551/ชายแดนใต้-พื้นที่-ผู้คนและข้อเสนอเชิงนโยบาย