ภาคเอกชนสะท้อนงานวิจัยไทยล้าสมัยไม่ทันกิน

วันพุธที่ 6 มีนาคม 2556 เวลา 16:29 น.

จัดเสวนาทิศทางงานวิจัยที่ภาคเอกชนต้องการเพื่อรองรับการพัฒนา เติบโต ของประเทศสังคมและชุมชน ภาคเอกชนสะท้อนงานวิจัยไทยล้าสมัยไม่ทันกิน

วันนี้( 6 มี.ค.) ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ ดร.ชุมพล พรประภา ประธานมูลนิธิเพื่อสถาบันการศึกษาวิชาการจัดการแห่งประเทศไทย หรือ ไอเมท เปิดเผยว่า ไอเมทเป็นองค์กรเพื่อการพัฒนา ได้จัดการประชุมผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาและภาควิจัยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษา เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี พ.ศ.2558 โดยมีผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาในเครือข่ายเพื่อการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา 9 เครือข่าย รวม 60 คน พร้อมตัวแทนหน่วยงานอุดมศึกษา หน่วยงานภาครัฐในฐานะผู้สนับสนุนงานวิจัย และหน่วยงานเอกชนในฐานะผู้ใช้ผลงานวิจัยเข้าร่วม ทั้งนี้เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความต้องการด้านงานวิจัยระหว่างกัน เนื่องจากที่ผ่านมาความคิดของแต่ละฝ่ายไม่เป็นเอกภาพ ขาดความเข้าใจซึ่งกันและกันทำให้งานวิจัยไม่ถูกนำไปใช้จริง

ในการประชุมได้จัดเสวนาทิศทางงานวิจัยที่ภาคเอกชนต้องการเพื่อรองรับการพัฒนา เติบโต ของประเทศสังคมและชุมชน โดยมีผู้บริหารบริษัทเอกชนรายใหญ่เข้าร่วม อาทิ ดร.วิไลพร เจตนจันทร์ ผอ.สำนักงานเทคโนโลยี บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ เอสซีจี รศ.ดร.จีรเดช อู่สวัสดิ์ กรรมการบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด นายศุภฤกษ์ อาจราชกิจ ผู้จัดการทั่วไป สำนักวิจัยและพัฒนา บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) และดร.ภากร ปีตธวัชชัย รองผู้จัดการสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและการเงิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

รศ.ดร.จีรเดช กล่าวว่า ในการทำงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยนั้น ภาคเอกชนต้องการให้มหาวิทยาลัยสรุปรายละเอียดการทำงานวิจัยในแต่ละชิ้นให้มีความชัดเจน ทั้งในเรื่องของระยะเวลา งบประมาณ จำนวนผู้จัดทำงานวิจัยฯลฯ และควรปฏิบัติให้ได้ตามข้อตกลงที่ทำร่วมกัน นอกจากนี้ในการทำวิจัยต้องมีความซื่อสัตย์และไม่เอาเปรียบภาคเอกชน ทั้งนี้ตนอยากให้เข้าใจตรงกันว่าภาคเอกชนต้องการงานวิจัยที่สามารถใช้ได้จริงไม่ได้ต้องการของถูกแต่ใช้ไม่ได้ ส่วนเหตุผลที่ปัจจุบันนี้ภาคเอกชนไม่สามารถนำผลงานของนักวิจัยไปใช้เนื่องจากงานวิจัยของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ดีไม่พอที่จะนำไปใช้ เพราะใช้เวลาในการวิจัยมากทำให้ล้าสมัย ในขณะที่ภาคเอกชนต้องการความรวดเร็วและก้าวหน้าล้ำสมัยเพื่อประโยชน์ด้านการแข่งขัน ทั้งหมดนี้ส่งผลให้งานวิจัยส่วนใหญ่ต้องขึ้นหิ้ง

ดร.วิไลพร กล่าวว่า หลักสำคัญของการทำงานวิจัยจะต้องตอบโจทย์การนำไปใช้เป็นหลัก ปัจจุบันธุรกิจในเครือของเอสซีจีมีนักวิจัยรวมมากกว่า 1 พันคน นอกจากนี้บริษัทจะสนับสนุนการทำงานวิจัยจากภายนอกโดยเฉพาะสถาบันการศึกษาซึ่งมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันไป โดยทุกงานวิจัยจะต้องตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์ ความต้องการสังคม และความต้องการของลูกค้าเป็นเกณฑ์ หากงานวิจัยไม่สามารถตอบโจทย์ที่ต้องการได้ก็จะไม่เริ่มต้นทำเพราะไม่เกิดประโยชน์

นายศุภฤกษ์ กล่าวว่า การทำงานวิจัยเพื่อให้สอดคล้องกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมนั้น โดยทั่วไปมีความต้องการหลัก ได้แก่ ความต้องการลูกค้า การเพิ่มประสิทธิภาพภายในและภายนอกองค์กร และการลดต้นทุนการผลิต ทั้งนี้อาจแตกต่างกันในรายละเอียดอื่นๆ ตามรูปแบบของธุรกิจ อย่างไรก็ตามนักวิจัยจะต้องมองภาพให้ออกถึงความต้องการที่แท้จริงของภาคธุรกิจและทำวิจัยให้ตอบโจทย์ที่ธุรกิจต้องการ โดยงานวิจัยไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องยากหรือใช้ข้อมูลมาก แต่อาจเป็นผลงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาให้แก่ธุรกิจได้ เช่น ในร้านสะดวกซื้อต้องการงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาการหั่นไส้กรอกในพื้นที่แคบ เป็นต้น

ดร.ภากร กล่าวว่า อยากเห็นนักวิจัยไทยมีบทบาทในการแสดงความเห็นเพื่อให้ความรู้หรือแก้ปัญหาที่เป็นข้อข้องใจให้แก่คนในสังคม (second opinion) โดยใช้ผลงานวิจัยรองรับ โดยเฉพาะผลงานวิจัยของอาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ ซึ่งตนมองว่ายังมีงานวิจัยน้อยและตามไม่ทันการเติบโตของภาคธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป.

ขอขอบคุณ
ที่มาข้อมูลและภาพประกอบ
http://www.dailynews.co.th/education/188794