ศ.นพ.สุทธิพรกล่าวว่า สำหรับ วช. ของบประมาณ ปี 2555 ไป 1,000 ล้านบาท ได้รับการจัดสรร 560 ล้านบาท ปี 2556 ขอ 3,500 ล้านบาท ได้รับ 1,000 ล้านบาท และมีการทำความตกลงร่วมกับ หน่วยงานสนับสนุนการวิจัยอีก 5 หน่วยหรือ 5 ส. ในการสนับสนุนงบประมาณการวิจัย ไม่ให้ซ้ำซ้อน และมีการมุ่งเป้าหมายตอบสนองการพัฒนาของภาครัฐที่ชัดเจน ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) และ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานส่งเสริมนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน. )
"งบประมาณของ วช.นั้น ผู้ขอไปใช้ร้อยละ 90 เป็นนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย ดังนั้น ภาพรวม งบประมาณการวิจัยของมหาวิทยาลัยไม่ได้น้อยลง ส่วนมหาวิทยาลัยนอกจากมหาวิทยาลัยวิจัย ที่เคยได้ส่วนแบ่งจากงบประมาณ 500 ล้านบาทก็ยังมาได้จากเรา สำหรับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยที่ทำต่อเนื่อง หากขาดงบประมาณก็มาขอจาก วช.ได้ แต่เราจะพิจารณางบงานวิจัยที่มุ่งเป้าเพื่อการพัฒนาเป็นหลัก" อย่างไรก็ดี ศ.นพ.สุทธิพร ระบุว่า คาดว่างบประมาณด้านการวิจัยในปี 2557 ก็คงไม่มากกว่าเดิม หรือไม่เกินร้อยละ 0.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม(จีดีพี) แต่ก็เป็นความท้าทายที่ต้องทำงานให้หนักขึ้น เพื่อรัฐบาลจะเห็นความสำคัญ และเพิ่มงบเพื่อการลงทุนพื่อการพัฒนามาให้
งบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยได้รับทั้งหมดราวปี ละ 10,000 ล้านบาท ภาคเอกชนลงทุนวิจัยอีก 10,000 ล้านบาท รวมแล้วไม่เกินร้อยละ 0.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม เฉพาะงบวิจัยของมหาวิทยาลัยที่ใช้โดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัย ราว ร้อยละ 70 อีกร้อยละ 30 จัดสรรให้กับนักวิชาการของกรมกองต่างๆ โดยส่วนที่เป็นงบประมาณเพื่อการวิจัยมหาวิทยาลัยเปนเงินราว 3,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 30 ส่วนที่จะใช้เพื่อการวิจัยอีกร้อยละ 40 ได้จากกองทุนเพื่อการวิจัยต่างๆ..