วันที่ 29 เมษายน 2556 18:08
โดย : วันเพ็ญ แก้วสกุล
บทบาทของมหาวิทยาลัยวันนี้ต้องเปลี่ยนโฉมจากมุ่ง "สอน" เพียงอย่างเดียว วันนี้ต้องทำให้สองเรื่องควบคู่กันไป นั่นคือ "สอน+วิจัย"
ซึ่งแนวคิดนี้ได้ขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ภายหลังการวางยุทธศาสตร์ชัดถึงการเป็น "มหาวิทยาลัยวิจัย" ในอนาคต
การที่ มธ. จะเดินไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีวิจัยเป็นตัวขับเคลื่อนหลักได้นั้น ศ.ดร. ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอก มองไว้ใน 3 กลยุทธ์หลัก
หนึ่ง มองหา "คนเก่ง" ที่พร้อมจะเป็นพลังหลัก และส่งเสริมให้การทำวิจัยนั้นเป็นไปด้วยคุณภาพ และสามารถนำไปใช้งานได้จริง
เริ่มด้วยการจัดกลุ่มคน (นักวิจัย) โดยยึดเอาศักยภาพเป็นตัวตั้ง แล้วจัดแยกเป็นคลัสเตอร์แล้วแต่ความชำนาญของแต่ละคน และเพื่อให้ง่ายต่อการจัดบริหารจัดการ
สอง เมื่อได้กลุ่มคนเป้าหมายแล้วก็ดำเนินการสนับสนุนผ่าน “ทุนวิจัย” ที่เป็นงบประมาณสูงเป็นหลายร้อยล้านบาทเพื่อให้นักวิจัยได้พัฒนาศักยภาพตัวเองและงานวิจัยอย่างเต็มที่
สาม สร้างโครงสร้างที่เอื้อให้เกิดงานวิจัยดีๆ ขึ้นมา ซึ่งก็หมายถึง การบริหารจัดการ เครื่องมือสำหรับการพัฒนางานวิจัย
“เมื่อคนพร้อม ทุนพร้อม แต่หากขาดเครื่องมือดีๆ ทุกอย่างก็ไม่เวิร์ค งานที่กำลังทำอยู่ก็เช่นกัน ที่ได้เริ่มทำแล้วคือ การสร้างศูนย์วิจัยที่รังสิต และใช้งบสำหรับซื้อเครื่องมือและห้องแล็บสำหรับการทำงานวิจัย การจัดตั้งศูนย์ค้นคว้าและพัฒนายา ศูนย์สัตว์ทดลอง ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ และ Center of Excellence เพื่อให้การขับเคลื่อนครั้งนี้เป็นไปทั้งระบบ”
ทั้ง 3 กลยุทธ์ที่กล่าวไปมีความสำคัญอย่างยิ่งและตอบโจทย์ มธ. ที่จะมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยในอนาคต โดยวันนี้ ได้สนับสนุนทุนนักวิจัยรุ่นเก่าและใหม่ไปเป็นจำนวนมาก
ในกรณีนักวิจัยรุ่นใหม่จะได้รับงบประมาณสนับสนุนปีละ 2 แสนต่อปีต่อคน ทุนนักวิจัยทั่วไปให้ทุนละ 3 แสนบาทต่อปีต่อคน ทุนพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ 5 แสนบาทต่อคน เป็นต้น
การสร้างกลไกอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ ทุนผู้ช่วยนักวิจัย ซึ่งแต่เดิมไม่มี วันนี้เราต้องการพัฒนาคนเก่งรุ่นใหม่ โดยมองไปที่กลุ่มหัวกะทิ ได้คะแนนเกรดสูงๆ ให้เข้ามาเริ่มต้นเป็นผู้ช่วยนักวิจัยก่อน จากนั้นค่อยๆ พัฒนาต่อในลำดับต่อไป
นอกจากนี้ยังขยายความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก อาทิ สกว. ในการพัฒนาคนเก่งเรียนดีได้มีโอกาสเข้าสู่การทำงานวิจัย
อีกกลุ่มเป็นอาจารย์ใน มธ. อยู่แล้วแต่มีศักยภาพสำหรับการทำงานวิจัย จะเข้าสู่กระบวนการจัดการบริหารตารางการทำงานให้มีความสมดุลระหว่าง “สอน” กับ “วิจัย” มากขึ้น
“อาจารย์บางคนเน้นสอนอย่างเดียวก็ให้ทำงานในส่วนนี้อย่างเต็มที่ ขณะที่บางคนมีศักยภาพพร้อมด้านงานวิจัยคงต้องเข้าดูเรื่องตารางการสอนให้มีความสมดุล และสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยที่มีคุณภาพ ส่วนการสอนก็ยังคงเข้มข้นเหมือนเดิม”
ที่ได้ดำเนินการไปแล้วในส่วนของการบริหารงานวิจัย ศ.ดร. ผดุงศักดิ์ บอกวันนี้เดินหน้าไปแล้วในทุกด้านเพื่อผลักดันให้งานวิจัยเกิดขึ้น และนำไปพัฒนาได้จริงทั้งด้านสังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
จะเห็นว่านักวิจัยกลุ่มเดิม จะได้รับแรงจูงใจมากขึ้นในการทำงาน ผลลัพธ์ก็คือ ชิ้นงานที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันนักวิจัยใหม่ที่เราพยายามผลักดันอย่างมากในกลุ่มนี้ วันนี้ได้เข้าไปช่วยเหลือในทุกๆ ด้าน ทั้งเงินทุน การจัดเวิร์คชอปในเรื่องของการเขียนงาน และการนำเสนอ เป็นต้น ทำให้ที่ผ่านมา มธ. ได้รับการยอมรับในเรื่องของงานวิจัยในหลายเวที ทั้งในประเทศและนานาชาติ เช่น ด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยได้รางวัลสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก 7 รางวัลจากประเทศเกาหลี และล่าสุดได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติรวม 9 รางวัล อาทิ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น เป็นต้น
การพัฒนาอีกด้านที่จะมาต่อยอดงานวิจัย มธ.ไปอีกขั้น ก็คือ การสร้างฐานดาต้าเบส นักวิจัยและผลงานวิจัย ย้อนหลังเป็นเวลา 5 ปี สิ่งนี้อาจเรียกว่าเป็นฐานผู้เชี่ยวชาญ มีการจัดแยกข้อมูลออกเป็นความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ซึ่งจะทำให้เรามีแหล่งข้อมูลที่อุดมไปด้วยคนเก่ง ที่พร้อมจะทำงานวิจัยดีๆ หากได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยจะขยายผลให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นในอนาคต
แผนเดินหน้าสู่ความเป็นผู้นำระดับแถวหน้าในภูมิภาคของ มธ.จากนี้จะขับเคลื่อนพร้อมกันในทุก ๆ ด้านทั้ง การเป็นผู้นำทางวิชาการและการวิจัย ผลิตงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้จริง การเป็นแกนนำด้านความร่วมมือทางวิชาการในกลุ่มอาเซียน
ขอขอบคุณ
ที่มาข้อมูลและภาพประกอบ
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/mba/20130429/502962/3-กลยุทธ์เร่งดีกรีงานวิจัย-มธ..html