วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม 2556 เวลา 15:37 น.
วงนักวิจัยพลังงานนัดแจงผลศึกษาการใช้พลังลมทั่วประเทศ พบตั้งเสาสูง 120 เมตรปั่นไฟฟ้าได้ เสนอรัฐเลิกใช้พลังแสงแดด ติดตั้งกังหันคุ้มกว่า
เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ได้มีการสัมมนาศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากลม ที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)โดยมีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย 6 แห่ง ที่ได้รับทุน ได้แก่ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำผลการศึกษามาเสนอเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จริง โดยทุกมหาวิทยาลัยได้ทดลองตั้งเสาวัดลม ที่ขนาดความสูง 60, 90 และ 120เมตร พบว่าเสายิ่งสูงจะได้ลมแรงขึ้น ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 1-3 เมกกะวัตต์ โดยความเร็วลมที่พบส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 3-5 เมตรต่อวินาที
ศ.ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานคณะผู้ตรวจสอบทางวิชาการด้านพลังงานลม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เสนอรายงานว่ารัฐควรส่งเสริมการผลิตกังหันลมขนาดใหญ่ในประเทศ เพื่อผลิตไฟฟ้า โดยศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากลมในประเทศ ให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่าการผลิตด้วยพลังแสงอาทิตย์ ดังนั้นรัฐควรยกเลิกการรับซื้อไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ซึ่งมีราคาสูงกว่า ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันประมาณกิโลวัตต์/ชั่วโมงละ 3 บาทเศษ การผลิตด้วยพลังแสงแดด สูงถึง 8 บาท แม้ผลิตได้มาก ราคาลดลง ก็ยังอยู่ที่ 6 บาท ส่วนการผลิตด้วยพลังงานลม มีราคาประมาณ3.5 -4 บาทเท่านั้น
ศ.ดร.ปรีดากล่าวว่า การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงแดด นอกจากราคาค่าแผงฯแพง ยังเสียพื้นที่การเกษตร เพราะต้องใช้พื้นที่ตั้งแผงรับแสงแดด โดยพื้นดินใต้แผงฯใช้ประโยชน์ทางการเกษตรไม่ได้ ขณะที่การตั้งเสารับพลังลม จะใช้พื้นที่ใต้เสาเพื่อการเพาะปลูกได้ มีพลังลมตลอด 24 ชั่วโมง ต่างกับแสงแดดที่มีเฉพาะตอนกลางวัน ไม่ต้องกังวลเรื่องมลพิษ เพราะกังหันขนาดใหญ่จะหมุนช้า ไม่มีเสียงรบกวน หรือดังสูงสุดไม่เกิน 60เดซิเบล อีกทั้งไม่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ส่วนการใช้ประโยชน์ ก็ทำได้โดยนำไฟฟ้าที่ได้เข้าสู่ระบบจ่ายไฟ ของการไฟฟ้า ต่างๆ (กริด)ได้ทันที ส่วนข้อกังวลว่า บางช่วงไม่มีลมจะเกิดปัญหาหรือไม่ ศ.ดร.ปรีดา อธิบายว่า อาจมีบางจุดลมสงบ แต่พื้นที่อื่นยังมีลม ก็จ่ายเข้าระบบผลิตไฟฟ้าทดแทนได้ ทั้งนี้ ทาง วช.จะนำผลการศึกษาวิจัย ทำเอกสารเผยแพร่ส่งให้กับภาครัฐ และนำเสนอทางเว็บไซต์ให้เอกชนที่สนใจติดต่อขอคำปรึกษาจากนักวิจัยได้ โดยมีรายงานว่า บริษัทเอกชนหลายรายได้ประสานงานขอข้อมูลเพื่อประกอบการขอกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อลงทุนผลิตไฟฟ้าแล้ว
ขอขอบคุณ
ที่มาข้อมูลและภาพประกอบ
http://www.dailynews.co.th/thailand/204925