วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม 2556 เวลา 00:00 น.
ถ้าพูดถึงการปรับปรุงพันธุ์พืชสวนของไทย เปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนแล้ว ไทยนับว่ามีความได้เปรียบทั้งด้านงานวิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชที่กรมวิชาการเกษตรมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งด้านความหลากหลายทางพันธุกรรม แต่เมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ที่ยึดฐานเศรษฐกิจอาเซียนเป็นตลาดเดียวกัน ประชากรรวมกันกว่า 600 ล้านคน ย่อมต้องการผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และมุ่งเน้นไปที่คุณภาพสินค้าที่สูงขึ้นเช่นกัน ฉะนั้นประเทศไหนผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคก็ย่อมมีโอกาสสูงกว่า
ดร.ทรงพล สมศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การปรับปรุงพัฒนาพันธุ์พืชสวน สิ่งที่ต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วนคือการปรับปรุงพันธุ์พืช เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดขึ้นจากการตัดไม้ทำลายป่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร ล้วนเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดสภาวะโลกร้อน อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นแต่ละองศาเซลเซียสย่อมกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตพืช จำเป็นต้องปรับปรุงพันธุ์พืชให้มีความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ทนร้อน ทนต่อโรคแมลงที่จะเกิดขึ้น เพราะถ้าไม่ปรับปรุงพันธุ์พืชให้เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน อาจจะส่งผลต่อผลผลิตพืชสวนและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ เนื่องจากมูลค่ารวมของตลาดส่งออกสินค้าพืชสวนมีกว่าแสนล้านบาทต่อปี ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้าได้ด้วย
นอกจากนั้น สิ่งที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไปคือบุคลากร นักวิชาการต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ เพื่อให้งานวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช เทคนิคการผลิตพืชได้มาตรฐาน การพัฒนาพันธุ์ไม้ผลที่มีคุณสมบัติเป็นที่ต้องการของตลาด และด้านอื่นๆ ที่สามารถถ่ายทอดสู่เกษตรกร ทำให้ผลผลิตสูงขึ้นและมีคุณภาพมากกว่าประเทศในอาเซียน ตลอดจนนอกภูมิภาค
งานวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชต้องดำเนินการอย่างไม่หยุดยั้ง จะชะล่าใจไม่ได้ว่าประเทศไทยมีความได้เปรียบที่มีการปรับปรุงพันธุ์พืชมากมาย เพราะประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศมีโครงการปรับปรุงพันธุ์พืช พันธุ์ไม้ผลหลายชนิด เช่น มาเลเซีย ปรับปรุงพันธุ์ทุเรียน ฟิลิปปินส์ ปรับปรุงพันธุ์สับปะรด อินโดนีเซีย ก็มีการปรับปรุงพันธุ์ไม้ผลหลายตัว ดังนั้น ไทยต้องเร่งพัฒนางานปรับปรุงพันธุ์พืชหนีให้ห่างประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ไปอีกขั้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพันธุ์ไม้ผล อย่าง ทุเรียน ก็ให้เป็นพันธุ์ที่มีกลิ่นน้อย เพื่อเจาะตลาดเฉพาะเป็นตลาดใหม่ พร้อมกันนี้ต้องสำรวจตลาดว่ามีความต้องการสินค้าอย่างไร เพื่อทำงานวิจัยให้สอดคล้องกับความต้องการมากที่สุด
สำหรับแผนงานในปี 2556-2559 คือ การศึกษาข้อมูลการระบาดของแมลงในการผลิตโกโก้ ต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความชื้น ศึกษาเทคโนโลยีการจัดการ การผลิตพืชในระบบปิด การศึกษาการปรับตัวขององุ่นต่อสภาพความแห้งแล้ง ศึกษาข้อมูลในด้าน Carbon credits ในการผลิตกล้วยทั้งในต้นและในดิน และการพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพและสามารถพัฒนางานวิจัยให้เป็นไปในเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกรมวิชาการเกษตรที่มีอยู่ 4 แนวทาง คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การวิจัยเพื่อลดปัจจัยที่เป็นสาเหตุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการผลิตด้านการเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร ยุทธศาสตร์ที่ 2 ประเทศไทยพัฒนาสู่ความเป็นประเทศที่ใช้ระบบการผลิตที่สะอาดและยั่งยืน ยุทธศาสตร์ที่ 3 โครงการประเมินการผลิต การติดตาม เฝ้าระวังและการเตือนภัยด้านการเกษตร ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาองค์กร และบุคลากรที่ทำงานวิจัย.
ขอขอบคุณ
ที่มาข้อมูลและภาพประกอบ
http://www.dailynews.co.th/agriculture/217372