งานวิจัยอ่าวบ้านดอน ‘ประมงชุมชน’ ‘ทางรอด’ อยู่ที่ใคร?

วันอังคารที่ 6 สิงหาคม 2556 เวลา 00:00 น.

กระแสตื่นตัวของสังคมไทยกรณีน้ำมันดิบรั่วไหลสู่ทะเลที่ จ.ระยอง ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม หากจะกล่าวถึงปัญหาที่เกี่ยวกับทะเล และโดยเฉพาะกับทรัพยากรสัตว์น้ำที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตคนไทยในส่วนที่ดำรงอยู่ได้ด้วยการทำประมงแบบพื้นบ้าน มีหลาย ๆ พื้นที่ที่ก็ควรมีกระแสสนใจจริงจัง…

รวมถึงที่ ’อ่าวบ้านดอน“ ที่ก็เป็นกรณีศึกษา

เพราะกำลังมีปัญหากระทบชีวิตคนในพื้นที่

ทั้งนี้ อันสืบเนื่องจากการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดประชุมวิชาการตามโครงการการวิจัยเพื่อพัฒนาทั้งพื้นที่ หรือโครงการ ABC เพื่อรับฟังความคืบหน้าในการดำเนินงานและรับทราบข้อมูลของพื้นที่ “อ่าวบ้านดอน” จ.สุราษฎร์ธานี ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในการประชุมครั้งนี้ก็ฉายภาพสภาพปัญหาในพื้นที่ได้ชัด

จากเอกสารโครงการของทาง สกว. บางช่วงบางตอนระบุไว้ว่า...ปัญหาการจัดการทรัพยากรอ่าวบ้านดอนเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตการประกอบอาชีพของชุมชนชายฝั่งโดยตรง เพราะเมื่อทรัพยากรมีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ คนหลายกลุ่มเข้าแสวงหาผลประโยชน์ในพื้นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ จนระบบนิเวศไม่สามารถผลิตทรัพยากรให้เพียงพอต่อความต้องการของคนได้ เมื่อทรัพยากรมีไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการของคนหลายกลุ่ม ทำให้เกิดการพัฒนาเครื่องมือ เกิดความขัดแย้งในเรื่องความเหลื่อมล้ำของเครื่องมือในการประกอบอาชีพระหว่างประมงพาณิชย์ และประมงชายฝั่ง หรือแม้แต่ประมงชายฝั่งด้วยกันเอง ก็ยังมีการเปลี่ยนเครื่องมือประมงเพื่อให้มีศักยภาพในการจับสัตว์น้ำได้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน ชุมชนได้ถูกเบียดขับจากกลุ่มทุน ทั้งทางทะเล และบนผืนดิน ส่งผลต่อการประกอบอาชีพของประมงพื้นบ้านรอบอ่าวบ้านดอน ทั้งปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากร เศรษฐกิจ สังคม และอาจส่งผลถึงปัญหาความมั่นคงทางอาหารระดับพื้นที่ในอนาคตอันใกล้นี้...จากพัฒนาการดังกล่าว เป็นการรุกไล่พื้นที่ทำกินของชาวประมงพื้นบ้าน ให้ถอยร่นไปเรื่อย ๆ จนแทบจะหมดพื้นที่ทำกิน เกิดการแย่งชิงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย ส่งผลให้ทรัพยากรชายฝั่งเสื่อมโทรม เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างกลุ่มคนที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน จึงเป็นสาเหตุให้ชุมชนรอบอ่าวบ้านดอนรวมตัวกันเพื่อ รักษาทรัพยากร...และนี่ก็นำสู่การทำวิจัย ซึ่งหัวข้อหนึ่งที่ได้รับความสนใจ และกำลังเป็นประเด็นสำคัญของพื้นที่ มีชื่อว่า “ทางเลือกทางรอดของชาวประมงพื้นบ้านอ่าวบ้านดอน”

ในยุคที่วิถีชีวิตชุมชนประมงพื้นบ้านระส่ำหนัก!!

“อดีตเราจะมีคำว่า ทะเลพ่อเฒ่า หม้อข้าวชุมชน แต่วันนี้ไม่มีแล้ว ทะเลมีเจ้าของเต็มไปหมด มีข้อจำกัด เมื่อก่อนหากินไปมาได้ทั่วถึงกัน ไม่มีการแบ่งเขต ตอนนี้ไปไหนมีป้ายปักห้ามเข้าเต็มไปหมด เดิมมีเรือประมงพื้นบ้านอยู่ทุกลำคลอง วันนี้มีอยู่ไม่ถึงร้อยละ 10 เพราะมันเหนื่อย มันท้อ”

...นี่เป็นเสียงจากผู้เข้าร่วมประชุมรายหนึ่ง ขณะที่อีกเสียงหนึ่งก็สะท้อนว่า...หลังมีการอนุญาตให้เช่าให้สัมปทานชายฝั่ง กลุ่มทุนทั้งในและนอกพื้นที่ก็ยิ่งหลั่งไหลเข้ามา ประกอบกับหอยนางรมและหอยแครงมีมูลค่ามาก กระแสเลี้ยงหอยก็ยิ่งบูมจนฉุดไม่อยู่จนอ่าวบ้านดอนวันนี้คลาคล่ำไปด้วยคอกหอยเรียงรายสุดลูกหูลูกตา มีทั้งที่ทำถูกต้องอยู่ในเขตอนุญาต และก็มีอีกมากที่รุกล้ำออกนอกเขตขยายกว้างออกไป จนน่าวิตกว่า หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป วิถีชีวิตชุมชนประมงพื้นบ้านอาจสูญหายไปจากอ่าวบ้านดอนตลอดกาล

’เราไม่ได้ต่อต้าน แค่ขอพื้นที่ให้เราได้ทำมาหากินบ้าง ทรัพยากรในอ่าวใช่จะมีแต่หอย อีกอย่างทะเลก็ไม่ควรจะเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง ที่ผ่านมาเราต่อสู้เรียกร้องตลอด สุดท้ายเรื่องก็เงียบ ข้าราชการที่สู้ร่วมกับชาวบ้านก็ถูกบีบ ถูกกดดัน ใครไม่ยอมก็ขู่สารพัด ถึงขั้นไล่ยิงกันก็มี ที่ช้ำใจสุด บางชุมชนอุตส่าห์ฟื้นฟูป่าชายเลนจากที่เสื่อมโทรมจนเริ่มฟื้นกลับมาได้ ก็ถูกบีบ ถูกไล่ที่ ต้องหนีกันหัวซุกหัวซุน นึกแล้วก็น้อยใจ“...เป็นเสียงสะท้อนความรู้สึกลึก ๆ ที่ดังขึ้นในการประชุมวิชาการเกี่ยวกับการวิจัย เกี่ยวกับ “อ่าวบ้านดอน” จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อเร็ว ๆ นี้ และอีกเสียงหนึ่งก็พ้อว่า... “ว้าเหว่มาก ที่วันนี้รัฐเอาแต่พูดถึงมูลค่า แต่ไม่ให้คุณค่ากับชีวิตคนกลุ่มเล็ก ๆ เลย ทั้งที่เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของที่นี่เช่นกัน”

ทั้งนี้ ก็มีคำถามถึงประโยชน์ของงานวิจัยว่าช่วยแก้ปัญหาได้หรือไม่?? ซึ่งก็มีคำตอบว่า...งานวิจัยเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ท้องถิ่นใช้เพื่อสำรวจสังเคราะห์ปัญหาที่เกิด งานวิจัยทำให้ชาวบ้านมองเห็นปัญหา อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่า ต่อให้มีงานวิจัยดีเลิศเพียงใด ทว่าหากขาดความจริงใจ ขาดความร่วมมือจริงจัง หากผู้มีอำนาจหน้าที่ไม่ยอมขยับอย่างจริงใจจริงจัง ก็ย่อมจะยากที่จะทำให้เกิดมรรคผลเป็นรูปเป็นร่างเป็นรูปธรรมขึ้นได้

ทะเลที่ระยองมีปัญหามีกระแสแก้ไขกันอึงมี่

ส่วนทะเล ’อ่าวบ้านดอน“ ยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ

นี่อาจจะกลายเป็นอีกจุดร้อนทะเลไทย!!!!!.

ขอขอบคุณ
ที่มาข้อมูลและภาพประกอบ
http://www.dailynews.co.th/article/223/223995