สถาบัน IMC จับมือ ATCI เผยผลสำรวจเช็กความพร้อมเทคโนโลยีก่อกำเนิดในไทย ชี้เมืองไทยเน้นพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่นสูงสุดขณะที่ระบบคลาวด์ยังขาดความสนใจ ชี้ปัญหาหลักยังขาดแคลนบุคลากรนักพัฒนาซอฟต์แวร์มือดีและขาดแผนงานธุรกิจที่ ชัดเจน...
สถาบันไอเอ็มซี (IMC Institute) องค์กรทำวิจัยและสำรวจข้อมูลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศไทยประกาศความร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) เปิดเผยผลการวิจัยเช็กความพร้อมวงการไอทีไทยในการรับมือ 4 เทคโนโลยีใหม่สำคัญสำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจในสถานการณ์เดินหน้าสู่ประชาคม เศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยผลสำรวจล่าสุดชี้ว่า ธุรกิจไทยสนใจพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านแอพโมบายสูงสุด แต่ระบบคลาวด์ยังห่างความสนใจ ในขณะที่แต่ละองค์กรยังมีจำนวนนักพัฒนาซอฟต์แวร์น้อย และพบปัญหาขาดแคลนบุคลากรมือดีและขาดแผนงานทิศทางในการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ ชัดเจน
ทั้งนี้ จากงานสำรวจดังกล่าวมีชื่อว่า โครงการวิจัยเชิงสำรวจในหัวข้อ "Emerging Technology : Thai IT Professional Readiness Survey" เพื่อเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มของบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ในการพัฒนา ซอฟต์แวร์ด้าน Emerging Technology หรือ เทคโนโลยีก่อกำเนิดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวที่เออีซีกำลังจะเข้ามามีบทบาทในปี 2558 โดยการสำรวจครั้งนี้ได้เจาะลึก 4 ด้านในรายละเอียดเกี่ยวกับภาพรวมศึกษาความพร้อมของบุคลากรทางด้านซอฟต์แวร์ ของหน่วยงาน/องค์กร ในประเด็นต่างๆ ได้แก่ ทักษะของบุคลากรในด้านภาษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม, ด้านการพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่น, ด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์บนคลาวด์เทคโนโลยี และด้านการพัฒนาเทคโนโลยีก่อกำเนิดอื่นๆ โดยมีการศึกษาในช่วงเดือน มิถุนายน-สิงหาคม 2556 ด้วยจำนวนกลุ่มตัวอย่างกว่า 100 บริษัทในประเทศไทย
นาย ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี เปิดเผยว่า จากผลสำรวจพบว่าองค์กรต่างๆ ตระหนักถึงความสำคัญของ Emerging Technology เพราะเห็นโอกาสทางการตลาด แต่ปัญหาสำคัญคือขาดบุคลากรที่มีความเข้าใจทางด้านนี้พียงพอ
สำหรับ ผลการสำรวจในด้านภาษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม พบว่า ยังนิยมใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ PHP, Java และ .NET โดยภาษาทั้งสามได้รับความนิยมเป็นจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่าง นั้น ได้แก่ PHP (65.17%), Java (62.92%) และ .NET (61.80%) ขณะที่จำนวนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในแต่ละบริษัทยังมีน้อย โดยส่วนใหญ่ระบุว่ามีน้อยกว่า 10 คน และมีเพียงไม่กี่รายที่ระบุว่ามีมากกว่า 20 คน
ส่วนผลสำรวจในด้าน พัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่น ชี้ว่าส่วนใหญ่ระบบไอโอเอสและแอนดรอยด์ ในจำนวนที่เท่ากัน คือ 51.69% ตามมาด้วยวินโดวส์ (24.72%) แต่กระแสใหม่คือ เริ่มสนใจพัฒนา HTML5 เป็นแอพพลิเคชั่นแบบข้ามแพลตฟอร์มในจำนวนถึง 50.56% และที่น่าสนใจ คือ ด้านดังกล่าวยังมีแนวโน้มขยายตัว เพิ่มบุคลากรพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่นมากกว่าเทคโนโลยีด้านอื่นๆ ที่สำรวจวิจัยในครั้งนี้ และเน้นความสนใจที่ขยายตัวด้านไอโอเอสมากที่สุด
แม้ ว่าคลาวด์คอมพิวติ้งถือเป็นเทคโนโลยีที่กำลังเป็นที่สนใจกันอย่างกว้างขวาง นักในกลุ่มบริษัท/หน่วยงานไทย แต่เมื่อมีการสำรวจแนวโน้มการพัฒนาซอฟต์แวร์บนคลาวด์ แพลตฟอร์ม ก็ยังจัดว่ามีสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย โดยแพลตฟอร์มที่หน่วยงาน/บริษัทมีบุคลากรที่มีทักษะในการพัฒนามากที่สุดคือ Google App Engine เพียง 22.47% และ Microsoft Azure จำนวน 19.10% ตามมาด้วย Amazon Web Services (13.48%) และ Heroku (5.62%) นอกจากองค์กรต่างๆ จะมีบุคลากรที่พัฒนาซอฟต์แวร์บนคลาวด์คอมพิวติ้งน้อยกว่า 10 คนแล้ว กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังไม่มีแผนงานในการขยายบุคลากรซอฟต์แวร์อย่างชัดเจน นัก และน้อยมากเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่นๆ
นอกจากนี้ ความสนใจเทคโนโลยีก่อกำเนิดอื่นๆ ที่อยู่ในความสนใจของบริษัทไทย พบว่ามีบุคลากรพัฒนาด้าน Business Intelligence (BI) มากที่สุดถึง 58.42% ตามด้วย Facebook Application Development (33.71%) , noSQL (21.35%) และ Big Data (17.98%) อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ยังไม่มีแผนงานอย่างชัดเจนนัก สำหรับปัญหาในการพัฒนาเทคโนโลยีก่อกำเนิดที่มากที่สุดที่พบ คือการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะความสามารถซึ่งมีจำนวนผู้ตอบถึง 76.40% ตามมาด้วยปัญหาการขาดแคลนแหล่งความรู้/การฝึกอบรม (49.44%) ขาดงบประมาณ (42.70%) เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถก้าวตามได้ทัน (31.46%) ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ (25.84%) ยังมองไม่เห็นโอกาสทางการตลาด (16.85%) ตามลำดับ.
ขอขอบคุณ
ที่มาข้อมูลและภาพประกอบ
http://www.thairath.co.th/content/tech/370397