พลาสติกย่อยสลาย 6 เดือน หนึ่งเดียวในโลก..เพื่อโครงการหลวง

ไทยรัฐออนไลน์ โดย ชาติชาย ศิริพัฒน์ 30 กันยายน 2556, 05:00 น.

Pic_372789

พลาสติกกับขยะพิษ ดูจะเป็นปัญหาคู่แฝดที่เกิดมาบนโลกใบนี้ ไม่เพียงจะถูกนำไปใช้หลากหลายในทุกวงการ วงการเกษตรที่อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากที่สุดก็ยังหนีพลาสติกไม่พ้น...ที่เห็นกันอยู่ใกล้ตัวถุงเพาะต้นกล้าใช้เสร็จกลายเป็นขยะเจ้าปัญหายากกำจัด

แต่วันนี้พลาสติกจะไม่กลายเป็นขยะเจ้าปัญหาอีกต่อไป เมื่อบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ได้ทำโครงการร่วมกับโครงการหลวงและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นำพลาสติกชีวภาพ (PLA) ที่สามารถย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยได้ภายในระยะเวลา 6 เดือน... ไม่ต้องรอนานหลายร้อยปีเหมือนพลาสติกทั่วไป


เนื่องจากในแต่ละปี โครงการหลวงมีการใช้พลาสติกมากถึงปีละ 150-200 ตันต่อปี ใช้ทั้งในรูปของถุงเพาะกล้า คลุมแปลงเพาะปลูก บรรจุภัณฑ์พืชผักผลไม้วางจำหน่ายบนชั้นวางในซุปเปอร์มาร์เกต

“พลาสติกที่เราวิจัยพัฒนาขึ้นมานี้ แม้จะเป็นพลาสติกชีวภาพที่สกัดมาจากข้าวโพด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของสหรัฐอเมริกาที่มีการนำมาใช้งานนานร่วม 20 ปีแล้วก็ตาม แต่กว่าพลาสติกชนิดนี้จะย่อยสลายได้จริงในธรรมชาติต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี ยังไม่เหมาะที่นำมาใช้กับโครงการหลวง เราจึงต้องมาต่อยอดคิดค้นสูตรใหม่ให้ย่อยสลายได้เร็วกว่านั้น”

ดร.จิตต์พร เครือเนตร ผู้จัดการฝ่ายการพัฒนาผลิตภัณฑ์ PTTGC เผยถึงที่มาของการคิดค้นสูตรให้พลาสติกชีวภาพย่อยสลายเร็วกว่าปกติ โดยการนำสารล่อจุลินทรีย์มาผสมลงไปเพื่อดึงดูดให้จุลินทรีย์ในดินที่มีอยู่โดยธรรมชาติ ให้มาร่วมชุมนุมย่อยพลาสติกชีวภาพให้หมดไปภายใน 6 เดือน

ส่วนสารล่อทำมาจากอะไร มีสัดส่วนเท่าไร บอกไม่ได้ทุกอย่างยังเป็นความลับรอการจดสิทธิบัตร...เพราะนี่เป็นนวัตกรรม ใหม่หนึ่งเดียวในโลก ที่ยังไม่มีชาติไหนทำได้

แต่คนไทยคิดทำได้แล้วและนำมาใช้ในโครงการหลวงผลิตเป็นถุงเพาะชำกล้าไม้  เนื่องจากการปลูกพืชเพาะชำในถุงพลาสติกสีดำทั่วไป  เกษตรกรจำเป็นต้องดึงต้นกล้าออกจากถุงก่อนนำไปลงดิน เพราะไม่ทำอย่างนี้ รากของต้นไม้จะไม่สามารถแทงรากลงดินได้


และปัญหาที่มักจะพบกันนอกจากจะต้องทิ้งถุงเพาะกล้าให้เป็นขยะพลาสติกแล้ว การดึงต้นกล้าออกจากถุงถ้าไม่ทำอย่างระมัดระวังรากมักจะขาดนำไปปลูกลงดินต้นไม้จะชะงักการเจริญเติบโต...แต่ถ้าใช้ถุงเพาะกล้าทำจากพลาสติกย่อยสลายเร็ว เกษตรกรไม่ต้องดึงต้นกล้าออกจากถุงสามารถนำถุงไปฝังลงดินได้เลยเพราะถุงที่ย่อยสลายเร็วรากสามารถแทงทะลุถุงออกมาได้

ที่สำคัญสารล่อจุลินทรีย์ให้มาช่วยย่อยสลายพลาสติก ยังช่วยล่อจุลินทรีย์มาทำให้ทั้งดินและพลาสติกกลายเป็นปุ๋ยบำรุงพืชได้อีกต่างหาก...และผลจากการนำดินในพื้นที่เพาะปลูกมาวิเคราะห์ก็ไม่พบว่ามีส่วนผสมที่เป็นพลาสติกตกค้างอยู่ในดินแต่อย่างใด

ผลจากความสำเร็จนี้ไม่เพียงจะนำมาทำเป็นถุงเพาะต้นไม้เท่านั้น ยังนำไปทำเป็นพลาสติกคลุมแปลงพืชที่สามารถไถกลบให้ย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้ รวมทั้งนำไปทำเป็นบรรจุภัณฑ์พืชผักผลไม้ต่างๆได้ด้วย

เพราะเมื่อบริโภคพืชผักผลไม้หมดแล้วบรรจุภัณฑ์ถูกทิ้งเป็นขยะนำไปฝังกลบที่ไหนก็สามารถย่อยสลายได้ภายใน 6 เดือน...เพื่อจะได้ไม่เป็นขยะพิษหลายร้อยปี ให้สังคมรังเกียจอีกต่อไป.
 
ขอขอบคุณ
ที่มาข้อมูลและภาพประกอบ
http://www.thairath.co.th/content/edu/372789