โลจิสติกส์และเกษตรรับมือ...เออีซี - นานาสารพัน

                                             

?โลจิสติกส์และเกษตรรับมือ...เออีซี - นานาสารพัน?

 ทั้งนี้ผลวิจัยโลจิสติกส์ในปี 2556 ภายใต้บริบทเออีซี ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการปรับรูปแบบโซ่อุปทานอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรจะนำไปประกอบการตัดสินใจในการลงทุนแต่ละโครงการของภาครัฐ

วันอังคาร 26 พฤศจิกายน 2556 เวลา 00:00 น.

เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ร่วมกับสำนักประสานงานโครงการวิจัยด้านโลจิสติกส์ร่วมระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดการแถลงข่าวเรื่อง “การปรับรูปแบบโซ่อุปทานอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยด้านโลจิสติกส์ภายใต้บริบทประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย ผู้ประสานงานชุดโครงการวิจัยโลจิสติกส์ฯ กล่าวสรุปผลงานเรื่องยุทธศาสตร์วิจัยโลจิสติกส์ฯ ว่า ผลงานวิจัยเด่น ๆ ที่ได้จากชุดโครงการนี้ผลที่ได้จากโครงการวิจัยนี้จะเป็นผลพลอยได้เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้มีอำนาจในการบริหารและพัฒนาประเทศ เพื่อให้ตอบโจทย์ประเทศว่าควรจะเป็นไปในทิศทางใด ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และจะมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศที่มีศักยภาพ ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม เกษตร และผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์อย่างไร รวมถึงการเกิดเครือข่ายวิจัยในภูมิภาคเพื่อหาผลวิจัยด้านโลจิสติกส์ เพื่อรองรับและตอบสนองต่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในทุกประเทศ

ทั้งนี้จากการพัฒนาแบบจำลองผลกระทบที่จะเกิดขึ้นพบว่า การเข้าสู่เออีซีจะมีผล กระทบเชิงเศรษฐกิจต่อภูมิภาคในเชิงบวกมากขึ้น โดยเฉพาะจีดีพีและจีพีพีของไทยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการมีขีดความสามารถในแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการจัดการโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ด้านสุขภาพ (การจัดการวัสดุคงคลังและการขนส่งเคลื่อนย้าย) ที่จะเกิดประสิทธิ ภาพสูงสุด เกิดการบูรณาการข้อมูลอย่างเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนและบริหารข้อมูลได้ ที่สำคัญคือเกิดการสอบย้อนกลับได้ของสินค้าและข้อมูล ซึ่งผลสุดท้ายเกิดแก่ความปลอดภัยของผู้ป่วยและประสิทธิภาพทั่วทั้งประเทศ ขณะนี้ประเทศไทยมีการบริการด้านสุขภาพที่ดีเยี่ยมอยู่แล้ว เมื่อประกอบกับการมีการจัดการโซ่อุปทานทั้งสินค้าและฐานข้อมูลที่มีมาตรฐานนานาชาติและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลระดับนานาชาติ ก็จะทำให้ไทยเป็นฐานของภูมิภาคในอนาคต

ทั้งนี้ผลวิจัยโลจิสติกส์ในปี 2556 ภายใต้บริบทเออีซี ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการปรับรูปแบบโซ่อุปทานอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรจะนำไปประกอบการตัดสินใจในการลงทุนแต่ละโครงการของภาครัฐ ขณะที่งานวิจัยเกี่ยวกับท่าเรือทวายจะช่วยเตรียมความพร้อมด้านโลจิสติกส์หากท่าเรือทวายเปิดดำเนินการ รวมถึงงานวิจัยด้านสุขภาพที่ดำเนินงานตามความต้องการของโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์แบบรวมศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2556-2557 ตลอดจนงานวิจัยโลจิสติกส์เกษตรเพื่อโซ่อุปทานและโลจิสติกส์สีเขียว

อุตสาหกรรมที่สำคัญของไทยที่ควรให้ความสำคัญมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมการเกษตร เนื่องจากได้รับผลกระทบจาก เออีซีมากที่สุด โดยมีจุดเด่น คือ คุณภาพของการบริการสูง เพราะมีความหลากหลายของระดับการให้บริการภายในประเทศ ดังนั้นผู้บริโภคจึงให้ความสนใจในเรื่องคุณภาพการให้บริการเป็นสำคัญ ขณะที่โซ่อุปทานสินค้าเกษตรจะยาวขึ้นหากมีการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าและสร้างความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค รวมถึงมีมาตรฐานจีพีเอที่แม่นยำมากขึ้น

...ทั้งนี้ไม่ควรขายสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบเท่านั้น แต่จะต้องแปรรูปสินค้าให้มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น อาหารฮาลาล เพราะประชากรเกินครึ่งของอาเซียนเป็นชาวมุสลิม แต่ปัจจุบันการพัฒนาอาหารฮาลาลยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงต้องอาศัยงานวิจัยมากขึ้น ...

นอกจากนี้รัฐบาลควรให้ส่งเสริมให้ภาคเอกชนมาลงทุนด้านโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายระบบรางคู่ให้ครอบคลุมในประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเหล่านี้ด้วย.

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ

http://www.dailynews.co.th/Content.do?contentId=197357