นักวิจัย มรส.ต่อยอดจากข้าวหอมไชยาผลิตเมนูสุขภาพสร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่น

          นักวิจัย ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานีผลิตไอศกรีมจากข้าวหอมพื้นเมืองพันธุ์ไชยา ชี้เป็นอาหารสุขภาพ อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่อยอดสร้างงาน สร้างรายได้เสริมแก่คนในท้องถิ่น
          นายกฤตภาส จินาภาค นักวิจัยและอาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ทำการทดลองนำข้าวหอมไชยา ซึ่งเป็นข้าวหอมพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกกันมากในอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาวิจัยและผลิตเป็นไอศกรีมดัดแปลงน้ำข้าวกล้องงอก ผลปรากฏว่ากลายเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่มีรสชาติถูกปากผู้บริโภค สามารถต่อยอดให้คนในท้องถิ่นนำไปเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมเพิ่มรายได้ได้
          นายกฤตภาส กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันผู้คนใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ทำให้อาหารเพื่อสุขภาพได้รับความนิยมมาก น้ำข้าวกล้องงอกก็เป็นอีกหนึ่งอาหารสุขภาพที่ผู้คนให้ความสนใจ เนื่องจากอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญที่มีคุณค่าต่อร่างกายหลายชนิด เช่น ใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุต่างๆ นอกจากนี้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ไม่ให้แก่ก่อนวัย ในขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ไอศกรีมในประเทศไทยก็มีอัตราการขยายตัวสูงมาก และมีจุดแข็งชัดเจน เพราะมีวัตถุดิบที่หลากหลาย โดยเฉพาะการใช้ผลไม้ท้องถิ่นมาผลิตไอศกรีม เช่น มะม่วง ทุเรียน ทำให้รสชาติมีเอกลักษณ์ เป็นจุดขาย อีกทั้งต้นทุนการผลิตต่ำจึงทำให้ธุรกิจไอศกรีมมีโอกาสเติบโตสูง
          สำหรับขั้นตอนในการวิจัย เริ่มจากการศึกษาอัตราส่วนระหว่างน้ำข้าวกล้องงอกต่อน้ำกะทิที่เหมาะสมต่อการผลิตไอศกรีม จากนั้นศึกษาชนิดและปริมาณสารให้ความคงตัวในไอศกรีม แล้วศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของไอศกรีมดัดแปลง ซึ่งผลการวิจัยพบว่า เมื่อเพิ่มปริมาณน้ำข้าวกล้องงอก ความหนืดก็จะเพิ่มตาม ทั้งนี้ค่าความหนืดจะส่งผลต่อการตีปั่นไอศกรีม การพองตัวเป็นเจล ปริมาณไขมัน การหลอมละลาย และจำนวนฟองอากาศเล็กๆ ในไอศกรีมด้วย
          "สำหรับชุดทดลองที่มีกลิ่นและรสเป็นที่นิยมของผู้บริโภคมากที่สุด คือ น้ำข้าวกล้องงอกต่อน้ำกะทิ 40:60 โดยพบว่าน้ำกะทิในปริมาณนี้จะช่วยให้เนื้อไอศกรีมเรียบเนียน หวานมัน เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมากที่สุด" นายกฤตภาส กล่าว

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34906&Key=news11