“กรีนโฟม” ถาดโฟมทำจากแป้ง เพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น

“กรีนโฟม” ถาดโฟมทำจากแป้ง

เพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น

ปัจจุบันเราจะเห็นผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ที่ใช้งานส่วนใหญ่มาจากพลาสติกเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ปริมาณของขยะที่เกิดจากพลาสติกสูงขึ้นตามไปด้วย ถึงแม้จะมีการรณรงค์ให้มีการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ แต่ขยะที่เกิดขึ้นก็ยังมีจำนวนมากและเป็นที่มาของมลพิษต่างๆ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติในการย่อยสลายได้ในธรรมชาติมากขึ้น เช่น โพลิไวนิลแอลกอฮอล์ และโพลิแลคติคแอซิก เป็นต้น แต่เนื่องจากพลาสติกสังเคราะห์เหล่านี้มีราคาแพง จึงเป็นข้อจำกัดในการนำไปใช้งาน ทางเลือกหนึ่งที่เริ่มมีผู้ให้ความสนใจอย่างมาก คือ การเลือกใช้โพลิเมอร์จากธรรมชาติ ซึ่งมีคุณสมบัติในการย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ หาง่าย ราคาถูก เช่น แป้ง, เซลลูโลส และไคโตแซน เป็นต้น

โครงการวิจัย “การพัฒนาถาดไบโอโฟม” เป็นผลงานวิจัยของ รศ.ดร.อรพิน เกิดชูชื่น และ รศ.ดร.ณัฎฐา เลาหกุลจิตต์ คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าวโดยการนำผลผลิตทางการเกษตรที่มีอยู่ในประเทศมาทดลองผลิตโฟมที่ย่อยสลายได้, ฟิล์มที่บริโภค และกระดาษกันรา เพื่อทดแทนการใช้โฟม (EPS) หรือทดแทนพลาสติก หรือสารเคมีสังเคราะห์ที่ใช้ป้องกันเชื้อราในกระดาษ เพื่อให้ได้วัสดุที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับวัสดุสังเคราะห์ สามารถยืดอายุการเก็บรักษาอาหาร และผัก ผลไม้สด รวมทั้งใช้สารจากธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

รศ.ดร.อรพิน เกิดชูชื่น กล่าวว่า การผลิตไบโอพลาสติกนั้นต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน และมีต้นทุนสูง ประกอบกับความไม่มั่นใจเกี่ยวกับอันตรายที่อาจได้รับจากสารเคมีหรือสารสังเคราะห์ที่นำมาใช้ในกระบวนการที่ผลิตบรรจุภัณฑ์ไบโอพลาสติก จึงมีแนวคิดนำวัสดุธรรมชาติ โดยเฉพาะแป้งข้าวเจ้าและแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งประเทศไทยมีปริมาณการผลิตสูงมาก หากนำมาพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์จากแป้งธรรมชาติ นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรแล้ว ยังทำให้ได้ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย โดยถาดไบโอโฟม ทำมาจากแป้งมันสำปะหลัง ผสมกับขุยมะพร้าว หรือเยื่อ Kraft หรือ ไคโตแซน นำมาให้ความร้อนให้อยู่ในรูปของ เจลแป้ง ก่อนนำมาปั่นส่วนผสมให้เป็นเนื้อเดียวกัน โดยสัดส่วนของส่วนผสมจะขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้

นอกจากนี้ ยังได้ออกแบบแม่พิมพ์สำหรับขึ้นรูปถาดโฟมแป้ง เป็นการประยุกต์จากเครื่องอบขนมวาฟเฟิล โดยมีการติดตั้งฮีทเตอร์ทั้งฝาบนและล่างเพื่อควบคุมความร้อนให้ได้ตามที่กำหนด คือที่อุณหภูมิ 200 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ที่ถาดโฟมแป้งยังได้เคลือบด้วยน้ำมันหอมระเหยที่ทางคณะฯ พัฒนาขึ้น จากน้ำมันหอมระเหยตะไคร้ เพื่อช่วยป้องกันเชื้อรา และหากต้องการเพิ่มสีสันให้กับตัวถาด ก็สามารถนำสีจากธรรมชาติมาผสมได้ อาทิ สีม่วงจากดอกอัญชัน สีเขียวจากใบเตย สีแดงจากกระเจี๊ยบแดง หรือสีเหลืองจากขมิ้น ก็จะทำให้ถาดนั้นมีสีสันสดใสยิ่งขึ้นและปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพราะกรรมวิธีในการผลิตไม่มีส่วนผสมของสารเคมีแต่อย่างใด

“ถาดไบโอโฟมที่ทำจากแป้งนี้ ยังเรียกอีกอย่างว่า “กรีนโฟม” เพราะนอกจากใช้เป็นบรรจุภัณฑ์แล้ว ยังสามารถนำเมล็ดพันธุ์พืชใส่ลงใต้ถาด เมื่อนำถาดที่ไม่ใช้แล้วไปฝังดินก็จะเป็นวัสดุปลูกพืชได้อีก เพราะกรีนโฟมเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะสามารถย่อยสลายได้เองภายใน 1 เดือน”

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการผู้ผลิตโฟมหรือถาดพลาสติกสนใจผลงานวิจัยชิ้นนี้ และนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ เพราะเห็นว่าโอกาสที่โฟมแป้งจะเข้ามาแทนการใช้โฟมพลาสติกได้ในอนาคต ซึ่งจะช่วยขยายตลาดส่งออกไปยังกลุ่มตลาดที่รักษ์สุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่การจะนำไปใช้กับภาคอุตสาหกรรมนั้น จะต้องมีการออกแบบแม่พิมพ์หรือเครื่องขึ้นรูปโฟมแป้งรูปทรงต่างๆ ที่เหมาะกับการนำไปใช้งาน เนื่องจากเครื่องที่ใช้กันอยู่เป็นเครื่องขึ้นรูปโฟมจากพลาสติกซึ่งไม่สามารถใช้แทนกันได้ ส่วนทางคณะฯ เตรียมต่อยอดงานวิจัยนี้ โดยจะปรับปรุงคุณสมบัติด้านการทนร้อนเพื่อให้สามารถนำไปใช้ในไมโครเวฟได้ และการต้านทานการซึมผ่านของน้ำ เพราะปัจจุบันตัวถาดโฟมที่พัฒนาขึ้นยังมีข้อจำกัดที่ยังไม่สามารถกันน้ำได้ จึงต้องการพัฒนาให้เป็นแก้วโฟม ที่สามารถกันการซึมของน้ำได้ต่อไป

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ http://www.banmuang.co.th/2013/11/กรีนโฟมถาดโฟมทำจากแป้ง/