"ไม่ไปไม่ได้ งานนี้ต้องจัดเต็ม" เสียงแว่วจากบทสนทนาระหว่างนักวิจัยไทย ขณะรอขึ้นเครื่องเดินทางสู่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อนำผลงานสิ่งประดิษฐ์สุดยอดนวัตกรรมจากการคัดเลือกของสภาวิจัยแห่งชาติ เพื่อเข้าร่วมประกวดผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกในงาน Seoul Internationa lInvention Fair (SIIF) 2013 ณ ศูนย์จัดแสดงสินค้าโคเอ็กซ์ (COEX) ใจกลางกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยประเทศไทย ภายใต้การนำของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และระบบเครือข่ายงานวิจัยทั่วประเทศส่งผลงานเข้าประกวดในปีนี้จำนวน 47 ผลงาน จากทั้งหมด 710 ผลงาน จาก 31 ประเทศทั่วโลก
"ท่องโลกเกษตร" อาทิตย์นี้หลบเรื่องราวร้อนๆ ในเมืองไทยมุ่งหน้าสู่แดนกิมจิ ประเทศเกาหลีใต้ ภายใต้การนำของ ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เพื่อนำสุดยอดนวัตกรรมจากผลงานวิจัยจำนวน 47 ผลงาน เพื่อส่งเข้าประกวดในงาน Seoul International Invention Fair (SIIF) 2013 ณ ศูนย์จัดแสดงสินค้าโคเอ็กซ์ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม 56 ที่ผ่านมา
เกาหลีในช่วงนี้ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว อุณหภูมิเฉลี่ยไม่เกิน 5 องศาเซลเซียส บางวันอยู่ในขั้นติดลบ หากโชคดีก็จะเห็นหิมะโปรยปรายขาวโพลนไปทั่วอาณาบริเวณ วันแรกที่ไปก็ต้องเจออากาศอันหนาวเหน็บ คุณฮง ไกด์ประจำทริปบอกว่าหิมะเพิ่งตกไปเมื่อวานนี้เอง ทำให้พลาดโอกาสได้สัมผัสหิมะแรกแห่งปี จุดหมายแรกที่ไปเป็นหอคอยโซล ทาวเวอร์ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางกรุงโซล สามารถมองเห็นตัวเมืองโซลโดยรอบในมุม 360 องศา
หลังสัมผัสกรุงโซลบนหอคอยอย่างเต็มอิ่มจากนั้นช่วงบ่ายก็เดินทางสู่สถานที่จัดงานเป็นศูนย์จัดแสดงสินค้าที่ทันสมัยตั้งอยู่ใจกลางกรุงโซลมีชื่อว่า "ศูนย์จัดแสดงสินค้านานาชาติโคเอ็กซ์" ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานดังกล่าว โดยประเทศไทยเป็น 1 ใน 31 ประเทศจากทั่วโลกที่นำผลงานนวัตกรรมดีเด่นมาจัดแสดงในงานดังกล่าวจำนวนทั้งสิ้น 47 ผลงานจากทั้งหมด 710 ผลงานจาก 31 ประเทศทั่วโลก
ศ.นพ.สุทธิพรเผยระหว่างนำเยี่ยมชมผลงานตามบูธต่างๆ โดยระบุว่าครั้งนี้นับเป็นปีที่ 5 ที่ประเทศไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และระบบเครือข่ายงานวิจัยทั่วประเทศได้นำผลงานสิ่งประดิษฐ์ของนักวิจัยไทยมาจัดแสดงในงาน Seoul International Invention Fair (SIIF) 2013 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกที่นักวิจัยจากทั่วโลกใฝ่ฝันที่จะนำผลงานของตัวเองเข้าประกวด
"งานนี้ถือว่าติด 1 ใน 3 งานใหญ่ระดับโลกที่นักวิจัยจากทั่วโลกใฝ่ฝันอยากส่งผลงานเข้าร่วมชิงชัย ส่วนอีก 2 งาน คือ ที่สวิตเซอร์แลนด์ จัดช่วงเดือนเมษายนและที่ไต้หวันในเดือนกันยายนของทุกปี ทั้ง 3 งาน ประเทศไทยเราส่งผลงานเข้าร่วมจัดแสดงทุกปีแล้วก็ได้รับรางวัลติดมือกลับบ้านมาทุกปีเช่นกัน" เลขาธิการ วช.ย้อนที่มาของงาน พร้อมระบุต่อว่า ทุกผลงานที่นำมาจัดแสดงผ่านการคัดเลือกจากสภาวิจัยแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ทันที
นอกจากนี้ ยังเป็นการเผยแพร่ผลงานการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆของนักวิจัยไทยให้เป็นที่ประจักษ์ของชาวต่างชาติ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้นักวิจัยจากประเทศไทยได้มีการรู้จักแลกเปลี่ยนแนวคิด ยังเป็นเวทีที่จะสร้างโอกาสให้นักวิจัยนำผลงาน ส่งต่อให้แก่บริษัทเอกชนจากต่างประเทศที่สนใจ นำไปต่อยอดสู่เชิงธุรกิจสร้างชื่อเสียง สร้างเม็ดเงินกลับคืนสู่ประเทศไทยได้อีกด้วย
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ก็เป็นอีกหน่วยงานที่นำผลงานนวัตกรรมมาจัดแสดงในงานนี้จำนวน 3 ชิ้น ประกอบด้วย ชุดอุปกรณ์กันแดดและช่องรับแสงป้องกันรังสีตรง เวียร์สี่เหลี่ยมสำหรับบำบัดน้ำเสียชุมชนและนวัตกรรมดอกไม้ประดิษฐ์มีชีวิต ภายใต้การนำทีมของดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) โดยระบุว่า รู้สึกภูมิใจและเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ ได้มีโอกาสนำผลงานนวัตกรรมใหม่ๆ มาจัดแสดงให้ทั่วโลกได้รับรู้กันและหากมีโอกาสก็จะพยายามเฟ้นหาผลงานดีมาจัดแสดงในเวทีระดับนี้อย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับ รศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ อาจารย์ภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของผลงานวิจัย "แผ่นเนื้อเยื่อปิดแผลจากโปรตีนกาวไหมเพื่อใช้กระตุ้นการหายของบาดแผล" เปิดเผยว่า เป็นครั้งแรกที่นำผลงานวิจัยมาจัดแสดงที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยครั้งนี้ได้นำผลงานมาจัดแสดง 2 ผลงาน นอกจากแผ่นเนื้อเยื่อปิดแผลจากโปรตีนกาวไหมเพื่อใช้กระตุ้นการหายของบาดแผลแล้วยังมีไบโอเซลลูโลสจากน้ำมะพร้าวมาสก์หน้าสำหรับรักษาผิวหลังทำเลเซอร์อีกด้วย
ส่วนผลงาน "บ้านกินได้และสปาเหนือน้ำ" ของ ผศ.ดร.เขียนศักดิ์ แสงเกลี้ยง จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็อีกนวัตกรรมที่ได้รับความสนใจจากผู้มาเที่ยวงาน โดยเจ้าของผลงานได้แนวคิดมาจากการเกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2544 ก่อนประยุกต์มาเป็นผลงานนวัตกรรมเด่น
นี่เป็นส่วนหนึ่งของผลงานนวัตกรรมที่นำมาจัดแสดงในงาน Seoul Internationa lInvention Fair (SIIF) 2013 โดยผลงานที่นำมาจัดแสดงจากประเทศไทยจะได้รับรางวัลเกือบทั้งหมดเริ่มจากรางวัลเหรียญทอง เงิน ทองแดง และรางวัลสเปเชียลไพรซ์ที่แต่ละประเทศมอบให้ระหว่างกันเพื่อความสัมพันธไมตรี พร้อมสุดยอดรางวัลเกียรติยศอันดับ 1 หรือแกรนด์ไพรซ์ (Grand Prize) จากผลงานแผ่นเนื้อเยื่อปิดแผลจากโปรตีนกาวไหมเพื่อใช้กระตุ้นการหายของบาดแผล โดยผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งหมดจะนำมาจัดแสดงให้ผู้สนใจได้ชมกันอีกครั้งในวันที่ 16 ธันวาคม 2556 เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป ณ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ
(เปิดโลกงานวิจัยบินลัดฟ้าสู่โซล ดูนวัตกรรมไทยดีเด่นระดับโลก : คอลัมน์ท่องโลกเกษตร : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)