ป่าไม้ผนึก วช.ถ่ายทอดองค์ความรู้ไผ่

 

ป่าไม้ผนึก วช.ถ่ายทอดองค์ความรู้ไผ่

ทำมาหากิน : ป่าไม้ผนึก วช.ถ่ายทอดองค์ความรู้ไผ่ ต่อยอดผลงานวิจัยสู่ชุมชน ช่องเม็ก : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

 

 

                                แม้จะเป็นครั้งแรกแต่ก็ประสบความสำเร็จด้วยดีที่กรมป่าไม้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติการการแปรรูปเพิ่มมูลค่าไม้ไผ่เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้ชาวบ้านในตำบลช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 10-12 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตามโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ไม้สวนป่า : ไม้ไผ่อย่างมีประสิทธิภาพสู่ชุมชนและเกษตรกร

                                วรธรรม อุ่นจิตติชัย ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้กล่าวถึงการจัดโครงการดังกล่าวว่าเป็นไปตามนโยบายของท่านอธิบดีกรมป่าไม้ นายบุญชอบ สุทธิมนัสวงษ์ ที่ต้องการขยายผลการแปรรูปไม้เศรษฐกิจสู่ชุมชน โดยเฉพาะไผ่ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญมากหากมีการนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ก็จะสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านได้เป็นอย่างดี

                                "ที่จริง ที่กรมป่าไม้เราก็จัดฝึกอบรมการนำเศษไม้มาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ แก่กลุ่มชาวบ้านจากทั่วประเทศเป็นประจำทุกเดือนอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราได้ขยายผลลงสู่ชุมชนที่ตำบลช่องเม็ก โดยร่วมกับ วช.และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มาร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์จาไผ่ ซึ่งได้รับการตอบรับจากชาวบ้านดีมาก"

                                ผอ.วรธรรม ระบุว่าสาเหตุที่ให้ความสำคัญกับไม้ชนิดนี้ก็เพราะว่าไผ่เป็นไม้สารพัดประโยชน์ ใช้เวลาปลูกเพียง 3-5 ปีก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้แล้ว และใช้ได้หมดตั้งแต่ราก ลำต้น และใบ โดยรากเป็นสมุนไพรรักษาโรค หน่อนำมาเป็นอาหาร กาบและใบใช้ห่ออาหารและหมักทำปุ๋ย กิ่งหรือแขนงใช้ทำรั้ว ส่วนลำต้นใช้ประโยชน์ได้สารพัดอย่าง ตั้งแต่ปลูกสร้างที่พักอาศัย การทำเครื่องจักสาน เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ  ตลอดจนเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ราคาแพง เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ที่วางโทรศัพท์ และอื่นๆ อีกมากมาย

                                ผอ.วรธรรม อธิบายขั้นตอนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไผ่ว่า หลังตัดต้นไผ่ที่ได้ขนาดมาเป็นท่อนๆ ยาวตามความต้องการ แล้วมาผ่าซีกแช่น้ำยา จากนั้นก็อัดด้วยความร้อน จนเนื้อติดกันแล้วก็นำมาประกอบเป็นเฟอร์นิเจรอ์ตามความต้องการในรูปของชิ้นส่วนถอดประกอบได้ เช่น เก้าอี้ โต๊ะ กล่องในหนังสือ ฯลฯ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยและทดลองขึ้นรูปไม้ไผ่เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จนปัจจุบันสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบได้เป็นผลสำเร็จเพื่อให้ชุมชนได้นำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปใช้ในกระบวนการผลิตเป็นสินค้าประจำชุมชนและนำไปปฏิบัติอย่างถูกต้องเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมต่อไป

                                ขณะที่ เครือจรรย์ เรือนทองคำ นักธุรกิจชาวไทย เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมไม้พะเพ็ง (โรงเลื่อยบ้านเพียงดี) เมืองโขง แขวงจำปาสัก สปป.ลาว หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการผลักดันจัดให้มีโครงการนี้ขึ้นมา โดยระบุว่าตำบลช่องเม็กเป็นพื้นที่ติดชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านและชาวบ้านที่นี่ การปลูกไผ่เป็นจำนวนมาก น่าจะนำมาใช้ประโยชน์แปรรูปเพิ่มมูลค่าได้มากกว่าแค่การทำเครื่องจักสาน หรือชะลอม ขณะเดียวกันการปลูกไผ่ก็จะเพิ่มพื้นที่ป่า สร้างความชุ่มชื่นแก่พื้นดินเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำอีกด้วย

                                "นับเป็นโครงการที่ดีมากที่กรมป่าไม้ร่วมกับ วช.และพระนครเหนือ จัดให้มีการฝึกอบรมชาวบ้านที่นี่ให้รู้จักการแปรรูปจากไผ่ เป็นการสร้างอาชีพสร้างรายได้ ส่วนเรื่องการตลาดไม่มีปัญหาฉันจะดูแลให้ทั้งหมด ตลาดต่างประเทศอย่างจีน เวียดนาม หรือญี่ปุ่น เขาใช้เครื่องเฟอร์นิเจอร์จากไผ่มานานแล้ว แต่บ้านเราเพิ่งจะเริ่มก็น่าจะเป็นโอกาสทองของบ้านเราที่มีไผ่เยอะ" เครือจรรย์ กล่าวทิ้งท้าย

                                นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการต่อยอดงานวิจัยสู่ชุมชน อันเป็นผลมาจากความร่วมมือของกรมป่าไม้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และอบต.ช่องเม็ก ในการถ่ายทอดองค์ความรู้การแปรรูปต้นไผ่เป็นผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้ชาวบ้านช่องเม็กนั่นเอง

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ

 

http://www.komchadluek.net/detail/20130716/163484