สกอ.จับมือสกว.จัดปฐมนิเทศนักวิจัยรุ่นใหม่ หวังให้เป็นนักวิจัยอาชีพที่ต่อยอดผลงานได้

5 มิถุนายน 2558 --- สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ (สกอ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดการปฐมนิเทศผู้รับทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ ประจำปี 2558 เพื่อชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับระเบียบและข้อปฏิบัติ รวมถึงการบริหารจัดการทุน โดยมี รศ. ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการ สกอ. เป็นประธานเปิดและบรรยายนำเรื่อง “สกอ.กับนโยบายการสนับสุนนทุนวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ และ ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. บรรยายเรื่อง “นโยบายการให้ทุนของ สกว.”

เลขาธิการ สกอ. กล่าวว่า นโยบายของ สกอ. และ สกว.ในการยกระดับความเข้มแข็งทางวิชาการ สร้างความมั่นคงและก้าวหน้าให้แก่ประเทศด้วยการให้ทุนสนับสนุนและส่งเสริมให้นักวิจัยมีโอกาสทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน ซึ่งในปีงบประมาณ 2559 สกอ.จะร่วมกับ สกว.ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยโดยเฉพาะทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ เพื่อให้นักวิจัยรุ่นใหม่ทำงานอย่างต่อเนื่องหลังจบปริญญาเอกสู่การทำงานในระดับที่สูงขึ้น และมีนักวิจัยที่ปรึกษา เพื่อร่วมกันสร้างทีมวิจัยที่เข้มแข็ง สร้างงานวิจัยพื้นฐานที่มีคุณภาพ รวมถึงการเชื่อมโยงกับเครือข่ายในประเทศและนานาชาติ ซึ่งหวังว่านักวิจัยทั้งหลายจะนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่อไป

ทั้งนี้นักวิจัยรุ่นใหม่ต้องมีความตั้งใจ มุ่งมั่น พัฒนางานวิชาการในระดับอุดมศึกษาให้ก้าวหน้าต่อไป เพราะอนาคตของประเทศขึ้นกับคนรุ่นใหม่ ในประชาคมอาเซียนประเทศไทยมีผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติเป็นอันดับสองรองจากมาเลเซีย ทั้งที่มหาวิทยาลัยไทยมีจำนวนมากกว่า สิ่งที่น่าคิดคือเงินทุนที่จะสนับสนุนการทำวิจัย จึงต้องให้กำลังใจนักวิจัยของไทยที่จะต้องสู้เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะในประเทศอาเซียนด้วยกัน ซึ่ง สกอ.มีนโยบายแนวทางขับเคลื่อนระยะกลางเพื่อส่งเสริมสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษา ประกอบด้วย การสร้างเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ให้เป็นสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ และการพัฒนากำลังคนคุณภาพสูง ตลอดจนแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น (ภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม และภาคท้องถิ่นชุมชน) และความเป็นเลิศทางวิชาการ ซึ่งรัฐบาลอนุมัติกว่า 4 พันล้านบาทในการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ แต่ตนอยากเห็นงบประมาณผ่านองค์กรที่สามารถดูแลภาพรวมทั้งระบบได้ เพราะแต่ละแห่งมีบริบทที่แตกต่างกัน รวมถึงต้องทำนโยบายแบบไทย ๆ ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ขณะนี้ค่าใช้จ่ายการทำวิจัยและพัฒนาของไทยอยู่ที่เพียง 0.37 ของจีดีพี ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศผู้นำ แต่ปัจจุบันเป็นโลกของการกระพริบตา หากไม่มีงานวิจัยรองรับก็จะไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว แม้ไทยจะมีผลงานตีพิมพ์จำนวนมากแต่การต่อยอดงานวิจัยไม่ใช่เรื่องง่าย คนส่วนใหญ่ก็มองแต่ปลายน้ำ ถ้าต้องการพัฒนาคนให้เข้มแข็งเราจำเป็นต้องมีแหล่งทุนที่แข็งแรงด้วย เราต้องพยายามให้มากกว่านี้ เชื่อมั่นว่าคนไทยไม่เป็นรองใครแต่ต้องได้รับการสนับสนุนและโอกาส

ส่วนโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและการพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งชาติ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาบุคลากรและทรัพยากรมนุษย์ ตั้งแต่ระดับอาจารย์ นักวิจัย รวมทั้งบุคลากรสายสนับสนุนในระดับต่าง ๆ ของอุดมศึกษาให้มีศักยภาพสูงขึ้น อันจะนำไปสู่การผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสู่สังคม และเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับมหาวิทยาลัยของอุดมศึกษาไทยทั้งระบบให้มีศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับมหาวิทยาลัยทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก มีหลักสูตรที่เข้มข้นมากขึ้น ตลอดจนเชื่อมโยงและบูรณาการงานวิจัยของแต่ละมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติที่อยู่ในรูปของคลัสเตอร์วิจัยให้เกิดเป็นภาพระดับมหภาคที่ส่งผลต่อการสร้างผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมด้านการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม พลังงาน สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ วิชาการ และวิชาชีพควบคุมด้านการแพทย์และสุขภาพ รวมถึงด้านความคิดสร้างสรรค์ (มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) ซึ่งฝากคนรุ่นใหม่ว่าปัญหาสำคัญไม่ใช่เรื่องเงินแต่เป็นเรื่องคน เพราะมีจำนวนไม่น้อยที่คุณสมบัติไม่ผ่าน ปัญหาแรกคือ ภาษาอังกฤษ งานวิจัยและการศึกษาไม่มีคำว่าถูกและแพง แต่ว่าเราใช้เงินนั้นคุ้มค่าหรือไม่ ขอให้ได้เริ่มต้นนับหนึ่ง

นอกจากนี้ สกอ. ยังมีโครงการวิจัยและพัฒนาภาครัฐร่วมเอกชนในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สกอ. สถาบันอุดมศึกษา และภาคอุตสาหกรรม ที่เน้นความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นำองค์ความรู้จากสถาบันอุดมศึกษามาวิจัยและพัฒนาร่วมกับภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนและวัตถุดิบที่มีศักยภาพสูง ซึ่งรวมถึงเอสเอ็มอีด้วย ขณะที่โครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานราก เพื่อส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษามีส่วนร่วมในการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากและเชื่อมโยงกับเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น นำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาถ่ายทอดทักษะความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมแก่ชุมชนท้องถิ่น สามารถยกระดับขีดความสามารถด้านการผลิตและการจัดการของเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มโอกาสในการสร้างอาชีพ รายได้ และการพึ่งพาตนเอง ส่งผลต่อการสร้างความเข้มแข็งทางสังคมอย่างยั่งยืน

“ทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ สกอ.และ สกว. เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2545 ปัจจุบันมีจำนวนทุนรวม 3,000 ทุน งบประมาณรวม 1,347 ล้านบาท เป็นงบประมาณจาก สกอ. 683 ล้านบาท โดยแนวทางของ สกอ.พยายามที่จะสนับสนุนในหลายด้านเพื่อให้นักวิจัยรุ่นใหม่มีอาชีพเป็น “นักวิจัย” แต่อยากให้พัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ให้มากขึ้น และเชื่อมั่นว่าหากนักวิจัยยังอยู่ในเวทีวิจัยคนก็จะวิ่งเข้ามาหาเอง” เลขาธิการ สกอ.กล่าวทิ้งท้าย

1

ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว.

 

3

รศ. ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการ สกอ.

 

4


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ

http://www.trf.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=6588:2015-06-08-06-23-04&catid=44&Itemid=369