หนุนต่อยอดนวัตกรรมจากเวทีคปก.สู่เศรษฐกิจใหม่

โครงการ คปก. สกว. เปิดเวทีวิชาการแถลงผลงานเด่น อุปกรณ์ทดสอบบนกระดาษแบบพกพาสำหรับตรวจวัดโลหะหนัก วิธีสกัดและวิเคราะห์สารกำจัดแมลงที่ตกค้างในผลไม้ และการพัฒนายาต้านวัณโรคตัวใหม่ ขณะที่ รมว.วิทย์พร้อมดันงานนวัตกรรมจากองค์ความรู้ของนักศึกษา คปก. สู่การสร้างเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ

            11 มิถุนายน 2558 --- ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ครั้งที่ 16 ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่รับทุน คปก. ได้นำเสนอรายงานความก้าวหน้า และรับฟังข้อเสนอแนะจากนักวิจัยอาวุโสตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิ ณ โรงแรมจอมเทียน ปาล์ม บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา โดยมีผู้ร่วมงานเกือบ 700 คน

ทั้งนี้โครงการ คปก. ได้ก่อตั้งมา 17 ปี มีรับทุนกว่า 4,000 คน โดยขณะนี้ยังได้ทำการวิจัยกับอาจารย์ที่ปรึกษาชาวไทย 1,900 คน และอีกกว่า 3,000 คนในต่างประเทศ ถึงวันนี้มีผู้สำเร็จการศึกษาแล้วกว่า 2,500 คน มีผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติกว่า 6,000 เรื่อง และจดสิทธิบัตรทั้งในและต่างประเทศประมาณ 90 เรื่อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องชี้วัดที่ดีของความเข้มแข็งทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาที่หลากหลายเพื่อที่จะผลิตผลงานวิจัยให้กับประเทศไทย รวมถึงเครือข่ายวิจัยนานาชาติและโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ที่อยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จะร่วมกันแสดงผลงานวิจัยที่มีคุณค่าให้เป็นที่ประจักษ์ และก้าวสู่การเป็นนักวิจัยมืออาชีพต่อไป 

สำหรับผลงานเด่นของนักศึกษา คปก.ในปีนี้มีทั้งสิ้น 3 ผลงาน ประกอบด้วย ผลงาน “อุปกรณ์ทดสอบบนกระดาษแบบพกพาสำหรับการตรวจวัดโลหะหนักหลายชนิดคราวเดียว โดยดร.ภูมิรัตน์ รัตนรัตน และศ. ดร.อรวรรณ ชัยลภากุล ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้พัฒนาอุปกรณ์ทดสอบบนกระดาษสำหรับตรวจวัดโลหะหนักที่ไม่ซับซ้อน ใช้งานง่าย มีราคาถูก สามารถพกพาสะดวก มีความแม่นยำสูง และสามารถตรวจวัดโลหะหนักได้ถึง 6 ชนิดในคราวเดียว ได้แก่ นิกเกิล เหล็ก ทองแดง โครเมียม ตะกั่ว และแคดเมียม โดยทราบผลได้รวดเร็วภายใน 5 นาที เพื่อเป็นทางเลือกในการตรวจวิเคราะห์โลหะหนัก สามารถใช้เป็นอุปกรณ์ภาคสนามสำหรับคัดกรองคุณภาพอาหาร การติดตามของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงตัวอย่างทางสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นได้

ต้นทุนของอุปกรณ์ทดสอบบนกระดาษนี้อยู่ที่ประมาณ 30 บาทต่อชิ้น ขณะที่การตรวจด้วยเครื่องขนาดใหญ่จะต้องส่งตรวจในห้องปฏิบัติการที่มีค่าใช้จ่ายตัวอย่างละประมาณ 1,000 บาท จึงเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ประกอบการที่จะลดต้นทุนการวิเคราะห์ โดยที่ยังคงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้นวัตกรรมดังกล่าวได้รับรางวัลเหรียญเงินในงานแสดงนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ณ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน และรางวัลรางวัลเกียรติยศสิ่งประดิษฐ์จากสมาคมทรัพย์สินทางปัญญาสิ่งประดิษฐ์โลก ปี 2014 ด้วย

            ขณะที่ผลงานการพัฒนาวิธีการสกัดและวิเคราะห์สารกำจัดแมลงกลุ่มออร์แกโนฟอสฟอรัสที่ตกค้างในผลไม้ โดย น.ส.เกษริน สีบุญเรือง และ รศ.ดร. ศุภลักษณ์ ศรีจารนัย ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สามารถตรวจวิเคราะห์สารดังกล่าวในระดับความเข้มข้นที่ต่ำกว่าค่าปริมาณตกค้างสูงสุด หรือ MRL ของสารเหล่านั้น และเป็นวิธีที่สามารถตรวจวัดสารกำจัดแมลงในกลุ่มออร์แกโนฟอสฟอรัสได้หลายชนิดพร้อมกัน ในงานวิจัยนี้ศึกษาสารกำจัดแมลง 5 ชนิด ได้พร้อมกันภายในเวลา 6 นาที และสามารถตรวจวัดได้ในระดับความเข้มข้นต่ำ (0.0006-0.0015 ส่วนในล้านส่วน) ซึ่งต่ำกว่าค่า MRL (0.01-0.3ส่วนในล้านส่วน) โดยได้นำวิธีนี้ไปใช้กับตัวอย่างจริง คือ องุ่น แตงโม และแคนตาลูป

            ผลงานสุดท้ายคือ การออกแบบและการค้นหาสารยับยั้งเอนไซม์ InhA ซึ่งเป็นเอนไซม์เป้าหมายของยาไอโซไนอาซิดที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อใช้เป็นยาต้านวัณโรค โดยวิธีการจำลองแบบและการออกแบบยาโดยการคำนวณ ผลงานของนายพฤทธิ์ คำศรี และ ผศ.ดร.พรพรรณ พึ่งโพธิ์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งพัฒนายาไอโซไนอาซิดที่เป็นยาหลักใช้รักษาวัณโรคมานานกว่า 60 ปี และสารยับยั้งกลุ่มเดิมที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ร่วมกับการค้นหาสารยับยั้งตัวใหม่ เพื่อแก้ปัญหาการดื้อยาของเชื้อวัณโรคในปัจจุบันทั้งแบบหลายชนิดและการดื้อยาแบบรุนแรง รวมถึงการเกิดร่วมกันระหว่างวัณโรคกับโรคเอดส์ ส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาที่ใช้ในการรักษาลดลง โดยรายงานองค์การอนามัยโลกในปี 2557 พบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ทั่วโลกมีเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากถึง 9 ล้านคนและเสียชีวิตด้วยโรคนี้ 1.5 ล้านคนต่อปี ซึ่งในประเทศไทยยังคงมีอัตราผู้ป่วยใหม่และอัตราการแพร่เชื้อสูง องค์การอนามัยโลกจึงจัดให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 18 ประเทศทั่วโลกที่โรควัณโรคยังเป็นปัญหาที่ไม่สามารถควบคุม

            สารตัวใหม่ที่ผ่านการทดสอบและพบว่าออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ InhA และยับยั้งเชื้อวัณโรค นำไปสู่ขั้นตอนในการพัฒนาเป็นยารักษาวัณโรค ซึ่งทำการทดสอบกับหนูและผู้ป่วยวัณโรคในระดับต่างๆตามขั้นตอนและวิธีในการพัฒนายา เพื่อศึกษาการออกฤทธิ์ยับยั้ง ความเป็นพิษและผลข้างเคียงกับผู้ป่วย ถ้าพบว่าสารออกฤทธิ์ที่ค้นพบมีประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ InhA และเชื้อวัณโรคที่สูง มีความเป็นพิษและผลข้างเคียงกับผู้ป่วยต่ำทั้งในระยะสั้นในระยะยาว ก็จะได้รับการรับรองเป็นยาที่ใช้ในการรักษาโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรับรองผลิตภัณฑ์ทางด้านยาต่อไป

4

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

3

ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. 

1

 

2

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ

http://www.trf.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=6595:2015-06-14-16-05-33&catid=44:2013-11-25-06-49-47&Itemid=369