นักวิจัย สกว.ร่วมสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการและงานวิจัยแก่ สนช. เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจในกระบวนการนิติบัญญัติในการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาล ชี้ไทยและเอเชียเสี่ยงภัยแล้งรุนแรงจากเอลนีโญและใช้น้ำเกินดุล
26 มิถุนายน 2558 --- คณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการดำเนินงานด้านการวิจัย ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จัดการสัมมนานำเสนอข้อมูลทางวิชาการและงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติ เรื่อง “9.5 แสนล้านบาทและอนาคตการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย?” ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ อาคารรัฐสภา โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ ประธานกรรมการการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นประธานเปิด ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อนำเสนอข้อมูลให้ สนช.รับทราบข้อเท็จจริงและข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้อง รวมทั้งรับทราบความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพิจารณาตัดสินใจการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศในกระบวนการนิติบัญญัติต่อไป เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบูรณาการ
พล.อ.ฉัตรชัยระบุว่ายุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านน้ำของประเทศไทย ปัจจุบันใช้งบประมาณในการบริหารจัดการน้ำปีละ 6 หมื่นล้านบาท โดยบูรณาการร่วมกัน 30 หน่วยงานเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถใช้งบเพิ่มเติมจากงบประจำปีในความจำเป็นเร่งด่วน 2 กรณีคือ การป้องกันภัยแล้งและน้ำท่วม ทั้งนี้จะปรับปรุงโครงสร้างให้สำนักงานของ กนช.ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี
ด้าน ศ. ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล นักวิจัย สกว. กล่าวถึงประเด็นความมั่นคงด้านน้ำกับสภาพภูมิอากาศแปรเปลี่ยน แต่ไทยยังใช้แนวทางบริหารจัดการน้ำ เครื่องมือ และการปฏิบัติแบบเดิม รวมถึงความเสี่ยงของการบริหารจัดการน้ำ ว่าไทยประสบภัยแล้งตั้งแต่ปี 2553 ก่อนที่จะเกิดมหาอุทกภัยครั้งรุนแรงในปี 2554 ซึ่งเกิดความเสียหายติดอันดับสองของโลกรองจากสึนามิของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลจากลานีญาและเอลนีโญ สิ่งที่ต้องมองไปข้างหน้าคือ ภัยแล้ง ที่จะรุนแรงจากนี้ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน ไทยและเอเชียจะประสบวิกฤติจากเอลนีโญ โดยภัยแล้งเท่ากับปี 2540 ปัจจัยหนึ่งเกิดจากการใช้น้ำเกินดุลที่มีอยู่ ฤดูฝนมาช้ากว่าปกติ ขณะเดียวกันก็เกรงว่าจะมีพายุเข้าแต่มาใต้เขื่อนซึ่งไม่เกิดประโยชน์ในการรับน้ำและจะเกิดน้ำท่วม โดยนักวิชาการคาดการณ์ว่าพายุบริเวณแปซิฟิกจะมีมากถึง 6-7 ลูก
ความเสี่ยงของไทย คือ การลงทุนงบประมาณมากที่สุดในประวัติศาสตร์ในการแก้ปัญหา แต่หากไม่มีประสิทธิภาพดีพออาจจะทำให้ไทยติดกับดัก มีความเสี่ยงภัยสูงที่จะเกิดน้ำท่วมขนาดใหญ่ในอนาคต อีกทั้งเป็นภาระของสังคมที่ต้องใช้หนี้เงินกู้จำนวนมหาศาลอย่างน้อย 25 ปี เนื่องจากหลังน้ำท่วมปี 2554 มีการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำสายหลัก แต่แนวคิดของการออกแบบโครงการไม่ตั้งรับกับสภาพภูมิอากาศ พนังกั้นน้ำที่สร้างขึ้นไปตัดวงจรธรรมชาติ ขณะที่การบริหารจัดการน้ำยังมุ่งเน้นนำน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด และให้ความสำคัญกับการวางแผนแก้ไขปัญหาน้ำโดยใช้การบริหารจัดการน้ำผ่านมาตรการบังคับน้ำที่ใช้โครงสร้างเป็นหลัก แต่ให้ความสำคัญน้อยมากกับการบริหารจัดการลุ่มน้ำแบบไม่ใช้โครงสร้าง
ขณะที่ รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ นักวิจัย สกว. จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เราต้องนำความรู้และงานวิจัยมาเติมเต็มเพื่อการแก้ไขปัญหาสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ ปัญหาใหม่ของการบริหารจัดการน้ำ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้ที่ดินโดยเฉพาะป่าเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สภาพเศรษฐกิจและสังคมของไทยในบริบทโลกและอาเซียน มาตรฐานต่างๆ ต้องยอมรับว่าไม่มี พรบ.น้ำ ทำให้กำหนดหลักการ หน้าที่หลักและรอง รวมถึงยุทธศาสตร์ระยะยาวไม่ได้ อีกทั้งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากและมีปัญหาเชิงซ้อนจากมาตรฐานการทำงานที่แตกต่างกัน ขณะที่ช่องว่างของการศึกษาพบว่างานวิจัยวิ่งไม่ทันต่อปัญหา
ในอนาคตแนวโน้มการใช้น้ำต่อคนจะลดลงเพราะเปลี่ยนจากภาคเกษตรเป็นอุตสาหกรรมภาคบริการ จุดแข็งของไทยคือ น้ำประปาค่อนข้างครอบคลุมทั้งประเทศ แต่ข้อเสียคือมีหนี้สะสมจำนวนมากเพราะนำไปแก้ปัญหาภัยพิบัติ สมดุลน้ำของประเทศไทยท้ายสุดน้ำประปาต้องเป็นระบบท่อ เพราะปริมาณน้ำมีจำกัดขณะที่ความต้องการใช้น้ำมีมากขึ้นโดยเฉพาะในเมือง รวมถึงต้องแก้ปัญหาต้นน้ำเพื่อให้ไหลลงมาที่เขื่อน มีแนวทางการบูรณาการและเชื่อมโยงแผนในระดับพื้นที่ กระบวนการวางแผนพัฒนาภายใต้ชุดโครงการวิจัยที่ดำเนินการอยู่เน้นการสร้างความร่วมมือให้แก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วม ลงขันกันระหว่างส่วนกลางและพื้นที่ โดยมีกรอบการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศโลกเป็นตัวกระตุ้นให้ทุกหน่วยงานต้องหันหน้ามาคุยกัน
“สถานการณ์น้ำไทยปัจจุบันมีการใช้น้ำในอัตราส่วนที่สูงแต่โครงสร้างของบัญชีน้ำยังต่ำ การศึกษาระดับลุ่มน้ำ ระดับจังหวัดและพื้นที่ รวมถึงช่องว่างทางนโยบาย การยกร่างกฎหมายจะต้องตอบโจทย์ กลไกการศึกษาและมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นคลังสมองที่จะต้องใช้ให้มากขึ้น ที่สำคัญการบริหารจัดการน้ำต้องเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาประเทศ รวมถึงพลังงานและความมั่นคงอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้ที่ดิน การจัดการสิ่งแวดล้อม และเชื่อมโยงกับความต้องการปฏิรูประบบบริหารของไทย” รศ. ดร.สุจริตกล่าวสรุป
เช่นเดียวกับ รศ. ดร.เจษฎา แก้วกัลยา กรรมการกำกับทิศทางชุดโครงการวิจัยยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรน้ำ สกว. ที่ระบุว่าโครงการขนาดใหญ่ต้องศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบสิ่งแวดล้อม กนช.จะต้องดูแผนการศึกษา 20 ปี และคิดร่วมกับแผนอื่นๆ เช่น ความมั่นคงอาหารและพลังงาน การขยายชุมชนเมือง เพื่อให้เป็นแผนน้ำของชาติที่สมบูรณ์ จากงานวิจัยพบว่าชาวนานำน้ำใต้ดินมาใช้ปีละ 800 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่ากับความจุเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จึงจำเป็นต้องศึกษาในระดับพื้นที่เพื่อนำมาวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เข้าถึงชุมชนมากที่สุด
พล.อ.ฉัตรชัย (ซ้าย) - ศ. ดร.ธนวัฒน์ (ขวา)
รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ