สกว.ระดมสมองปรับยุทธศาสตร์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ศ. ดร.อรรถจักรชี้ต้องปรับจินตนาการประเทศไทยที่มีต่อชนบท จากสังคมชาวนาสู่สังคมผู้ประกอบ และมีอิทธิพลต่อการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและชาติ
ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. เป็นประธานการสัมมนาเพื่อทบทวนแนวทางและยุทธศาสตร์ สกว. ครั้งที่ 2 โรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ เพื่อทบทวนแผนยุทธศาสตร์การทำงานของ สกว. ภายใต้การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ชุมชนฐานรากของประเทศจนถึงระดับบริหาร เพื่อให้ต่อจิ๊กซอว์ของประเทศได้อย่างชัดเจน โดยระดมสมองผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในการกำหนดแนวทางและนวัตกรรมเพื่อเตรียมการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตผ่านยุทธศาสตร์ สกว.
ในโอกาสนี้ ศ. ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ได้ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของ สกว. ด้าน “ความเคลื่อนไหวและทิศทางการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างชนบทไทยในอนาคต” โดยระบุว่าการเปลี่ยนแปลงในสังคมชนบทนั้นเกิดขึ้นอย่างไพศาลและลึกซึ้งในทุกมิติของประเทศ โดยศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ของความเปลี่ยนแปลง 4 มิติที่มีปฏิสัมพันธ์กันทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบท การเปลี่ยนแปลงในการจัดตั้งทางสังคมในชนบท การเมืองในสถาบันและนอกสถาบัน และการเปลี่ยนแปลงภายในโครงสร้างความรู้สึก
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจพื้นที่ชนบททั้งด้านการผลิต การจำหน่ายจ่ายแจกผลผลิต ความสัมพันธ์กับตลาด ความสัมพันธ์ภายในภายนอกชนบท จาก “สังคมชาวนา” มาสู่ “สังคมผู้ประกอบการ” ที่จำเป็นต้องเห็นและกระโดดเข้าไปในความเสี่ยงของระบบทุนนิยม การผลิตทั้งหมดจะสัมพันธ์กับตลาด การขยายตัวของผู้ประกอบการเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ สิ่งที่น่าสนใจคือ สัดส่วนคนจนลดเหลือร้อยละ 6 คนจำนวนมากที่หลุดพ้นเริ่มเป็นผู้ประกอบการระดับเล็ก ช่วยคนเกือบจนให้ขยับสถานะสูงขึ้น การผลิตสมัยใหม่จึงเปรียบเสมือนหน้าต่างแห่งโอกาสแก่ผู้คนที่จะปรับตัวให้ร่ำรวยมากขึ้น
ด้านความสัมพันธ์ในสังคมชนบทได้เปลี่ยนจากแบบเดิมเป็นแนวระนาบมากขึ้น โดยเฉพาะแนวระนาบเชิงเครือข่ายบนฐานการผลิต ผู้อาวุโสจะมีบทบาทต่อเมื่อปรับตัวเองเข้าไปอยู่ในเครือข่ายใหม่ ระบบการผลิตเป็นข้อต่อหนึ่งของระบบทั้งหมด สังคมมีความเสมอภาคกันมากขึ้น การยอมรับของคนขึ้นกับความสำเร็จ ความเชี่ยวชาญในกระบวนการผลิตที่ทันสมัย และการผดุงเครือข่าย คนจนปรับตัวขึ้นเป็นชนชั้นกลางใหม่ในพื้นที่ (เกษตรพันธะสัญญา) ขณะที่คนเคยจนมีที่ดินน้อยก็ปรับตัวเองสู่การขายแรงงานภาคเกษตรอย่างมีทักษะ สังคมของผู้ประกอบการจึงเป็นทางเดินหรือความใฝ่ฝันของคนชนบท แต่ก็มีความตึงเครียดสูงขึ้นและเกิดปัญหาต่างๆ อาทิ ยาเสพติด จึงต้องสร้างกลไกใหม่ที่มีรัฐเป็นหลังพิงหรือปัจจัยในการดำเนินชีวิตทางเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการจึงเข้าไปสัมพันธ์กับการเมืองมากขึ้นในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ รวมถึงสร้างกลุ่มทางสังคมข้ามชนชั้นที่มาคนหลายกลุ่มและต้องดูแลคนทุกกลุ่มไม่ให้เสียดุลทางคะแนนเสียง ประชาชนรู้สึกว่าตนมีอำนาจในการควบคุมหรือกำกับนักการเมืองท้องถิ่นในระดับหนึ่ง เป็นการปรับสู่การเมืองประชาธิปไตยจากข้างล่าง ดังนั้นการศึกษาโครงสร้างกฎหมายที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงระดับล่างจึงเป็นสิ่งจำเป็น
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในโครงสร้างความรู้สึก โดยมีกำไร-ขาดทุนเป็นกรอบความรู้สึกปกติเช่นเดียวกับคนชั้นกลางทุกระดับ เป็นสังคมที่มีความเสี่ยง เน้นครอบครัวเดี่ยวและมีสำนึกของประชาชนพลเมืองสูงขึ้น เป็นสังคมโครงสร้างหลวมที่มีลักษณะเหมือนขนมชั้น เครือข่ายต่างๆ มีสถานภาพและอำนาจต่างกัน ไม่ได้เชื่อมต่อกันแม้จะอยู่ในพื้นที่เดียวกันและมีความสัมพันธ์กันในด้านต่างๆ แต่ละเครือข่ายสร้างทางเดินชีวิตของตัวเองแต่ไม่มีกฎเกณฑ์ร่วมที่ทุกคนจะยอมรับร่วมกัน ทำให้เกิดความสัมพันธ์กระชับแน่นเฉพาะระหว่างเครือข่ายของชนชั้นเดียวกันเท่านั้น
“เราต้องทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นที่เข้าใจในสังคมไทย เพื่อให้เห็นทิศทางในการผลักดันสังคมชนบทไทย จึงต้องเปลี่ยนจินตนาการประเทศไทยที่มีต่อชนบท ไม่ใช่คิดแบบเดิมๆ มิฉะนั้นจะไปไม่รอด การสร้างสังคมเศรษฐกิจลักษณะใหม่เพื่อหาทางออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง กระบวนการผลักดันการสร้างสังคมลักษณะใหม่จึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจผู้ประกอบการไม่เป็นทางการในชนบทที่ขาดทักษะ เพื่อให้เกิดนโยบายที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นจริง”
ด้าน ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และรอง ผอ.สกว. กล่าวว่า ภาพรวมของการปฏิรูปสังคมไทยและทิศทางในอนาคต ประกอบด้วย 5 วาระหลักการปฏิรูป และ 3 วาระหลักการพัฒนาเพื่อรองรับอนาคต ในส่วนของ 5 วาระหลักของการปฏิรูป คือ การปรับกลไกภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ ระบบอบการปกครองและระบบการเลือกตั้ง การบังคับใช้กฎหมาย การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และการแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ส่วน 3 วาระหลักการพัฒนา ได้แก่ โครงสร้างเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์การพัฒนา คุณภาพของพลเมือง และระบบรองรับความเสี่ยงใหม่ในอนาคต
ในการทำนโยบายและทิศทางการปฏิรูปของ สปช. ข้างต้นต้องการข้อมูลและความรู้จำนวนมาก “สกว. ควรมีการปรับตัวในการทำงานวิจัยเชิงนโยบายเพื่อให้สามารถเกาะติดและตามทันกระบวนการทำนโยบายที่มีความเร็วมากและต้องการองค์ความรู้จากงานหลายชิ้น มิใช่งานวิจัยเพียงชั้นเดียว หรือจากแหล่งทุนเดียว” ที่ผ่านมา สปช.ได้นำงานวิจัยและนักวิจัยของ สกว.ไปหนุนช่วยในการจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปหลายด้าน อาทิ เรื่องการปฏิรูประบบงบประมาณเชิงพื้นที่ เรื่องการจัดการที่ดินโฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน ระบบสหกรณ์ การป้องกันทุจริตคอรัปชั่น การกระจายอำนาจ การปฏิรูปการศึกษา อย่างไรก็ดี กระบวนการปฏิรูปประเทศเป็นกระบวนการที่ต้องเดินหน้าต่อเนื่องไปอีกหลายปีและยังจำเป็นต้องสร้างข้อมูลความรู้เพื่อสนับสนุนมาตรการการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ด้วย
“สกว.ควรนำวาระการปฏิรูปที่สำคัญมาวิเคราะห์เพื่อตั้งโจทย์วิจัยไปข้างหน้า อาทิ ประเด็นเรื่องการเพิ่มผลิตภาพของ SME การพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน ระบบข้อมูลและการวิจัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ภายใต้ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มผลิตภาพ เป็นต้น” ดร.สีลาภรณ์ กล่าวสรุป
ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว.
ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย
ศ. ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ