![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
รถเข็นไฟฟ้าสั่งงานด้วยเสียง แต่สำหรับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ได้ประสบความสำเร็จจากการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นล่าสุดผลงาน “รถเข็นไฟฟ้าควบคุมด้วยเสียง”
ความรู้ไม่มีเพียงแค่ในห้องเรียนหรือสถาบันการศึกษาเท่านั้น แต่ความรู้สามารถเรียนรู้ได้จากสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ ดังนั้นในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทกับสังคม สถาบันการศึกษาก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ให้ความสำคัญ และมีการลงทุนกับเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นระบบเครือข่าย อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอื่น ๆ ด้วยความเข้าใจที่ว่าเทคโนโลยีคือคำตอบของทุกปัญหา ซึ่งก็มีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว
แต่สำหรับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ได้ประสบความสำเร็จจากการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นล่าสุดผลงาน “รถเข็นไฟฟ้าควบคุมด้วยเสียง” (Elec tric Wheelchair Control by Voice) โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งผลงานดังกล่าวเป็น นวัตกรรม การนำเอาความคิดใหม่ ความรู้ใหม่ ผสมผสานกับเทคโนโลยี โดยการประยุกต์เข้ากับความรู้และวิธีการทางวิทยาศาสตร์นำมาใช้ปฏิบัติในการจัดการศึกษาอย่างมีระบบ ซึ่งการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษามาใช้ จะช่วยให้การจัดการศึกษามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมีการพัฒนาอย่างเหมาะสมขึ้นมีประสิทธิภาพดีขึ้น ได้ผลผลิตสูงขึ้นด้วย
ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม หัวหน้าสาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) ธัญบุรี อธิบายว่าเนื่องจากโรงพยาบาลมีทหารที่ได้รับบาดเจ็บเส้นประสาทที่ต้นคอ ระดับการบาดเจ็บขั้น C3 C4 ผู้ป่วยไม่มีความรู้สึกทางการเคลื่อนไหวตั้งแต่หัวไหล่ลงมา หรือสามารถขยับได้เฉพาะคออย่างเดียว ในขณะเดียวกันผู้พิการหรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ได้ไปตรวจเยี่ยม ร่วมกับคณะแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้านั้น บางรายไม่สามารถหันหรือหมุนคอได้ ทำให้ทางทีมงานสรุปผลว่าควรจะประดิษฐ์รถเข็นไฟฟ้าควบคุมด้วยเสียงขึ้นมา เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวบนรถเข็นและควบคุมการทำงานด้วยเสียงของผู้ป่วยเอง
สำหรับรถเข็นไฟฟ้าควบคุมด้วยเสียง เหมือนกับรถเข็นไฟฟ้าทั่วไป แต่ต่างตรงที่ผู้ใช้จะควบคุมด้วยเสียงของตนเอง โดยมีอุปกรณ์ต่าง ๆ ประกอบด้วยไมโครโฟน ล้อรถเข็น 4 ล้อ มอเตอร์ไฟฟ้าด้านซ้ายและด้านขวาอย่างละ 1 ลูก ขนาด 24 โวลต์ 250 วัตต์ แบตเตอรี่ขนาด 12 โวลต์ 2 ลูก ชุดควบคุมประกอบไปด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์ และชุดขับมอเตอร์ จำนวน 2 ชุด
ส่วนหลักการทำงาน ผู้ป่วยจะทดสอบเสียงตัวเองก่อนเพื่อบันทึกค่า เช่น หน้า หลัง ซ้าย ขวา และหยุด เป็นต้น ซึ่งโทนเสียงของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ดังนั้นเมื่อทำการบันทึกเรียบร้อย ค่าต่าง ๆ จะถูกเก็บไว้ในชุดควบคุม เมื่อผู้ป่วยนั่งบนรถเข็นแล้ว พูดตามที่ตัวเองได้บันทึกไว้ เช่น “หน้า” รถเข็นจะเคลื่อนไปด้านหน้า และถ้าพูดว่า “หยุด” รถเข็นจะหยุด
แม้การประยุกต์รถเข็นไฟฟ้าควบคุมด้วยเสียงจะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ยังไม่แพร่หลายในการนำไปใช้กับผู้ป่วย แต่เมื่อนำมาใช้กับผู้ป่วยทหารที่ได้รับบาดเจ็บทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมการทำงานได้ สะดวกปลอดภัย ตลอดจนทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพจิตดี และไม่เป็นภาระกับผู้อื่น.
อุทิตา รัตนภักดี
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ
|