สกว. เปิดเวทีวิชาการนำเสนอผลงานของนักวิจัยปริญญาโท-เอก ภายใต้แนวคิด "สร้างสรรค์งานวิจัย ตอบโจทย์อุตสาหกรรมมั่งคั่ง และยั่งยืน" หวังสร้างกำลังคนและงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่นยืน รมว.วิทย์ย้ำผู้บริหารหน่วยงานวิจัยต้องนิยามวิสัยทัศน์ใหม่และเชื่อมต่อไซโลต่าง ๆ เข้ากับการแก้ปัญหาของประเทศ
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม ครั้งที่ 1 หัวข้อ "สร้างสรรค์งานวิจัย ตอบโจทย์อุตสาหกรรมมั่งคั่ง และยั่งยืน" ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) เพื่อติดตามความก้าวหน้าและนำเสนอผลงานวิจัยที่ได้รับทุน พวอ. ระดับปริญญาโทและปริญญาเอกกว่า 100 ผลงาน จาก 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ เกษตร อาหารและเครื่องดื่มแปรรูปสินค้าการเกษตร วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ เคมีและวัสดุศาสตร์ และกลุ่มพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อม เครื่องจักรโลหการ ชิ้นส่วนยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ พร้อมเปิดโอกาสให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ไปยังภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม
รมว.วิทยาศาสตร์ฯกล่าวว่างานนี้มีคำสำคัญ 3 คำ คือ นักวัย งานวิจัย และอุตสาหกรรม ที่จะต้องนำเสนอต่อสังคมหรือส่งมอบงานให้ประชาชนผู้เสียภาษีทั้งประเทศ ผู้ร่วมงานจึงต้องช่วยกันคิดและตอบคำถาม ณ วันนี้ประเทศไทยอยู่ในจุดใดและควรจะขับเคลื่อนอย่างไรโดยเฉพาะกำลังคนที่เป็นหลักสำคัญ แม้มีเงินก็ซื้อไม่ได้ หรือมีเงินแต่ถ้ามาไม่ทันก็เสียโอกาส จึงต้องวางแผนให้ดี ลงทุนและจ้างงานวิจัยให้มากขึ้น แต่ระบบวิจัยร้อยละ 80 ยังเป็นการลงทุนจากภาครัฐผ่านหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยต่าง ๆ แม้จะเพิ่มการสนับสนุนทุนมุ่งเป้าโดยมีโจทย์ของประเทศหรือยุทธศาสตร์ของสำนักงานคณะกรรมการการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นตัวตั้ง แต่ก็ยังตอบคำถามสังคมว่าประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรไม่ได้ นอกจากนี้ยังต้องมีข้อมูลสนับสนุนทางด้านวิทยาศาสตร์ ถ้าข้อมูลไม่ดีก็คงไม่อารยะเท่าใด เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยประเทศไทยได้ขับเคลื่อนได้ดีกว่านี้เพื่อให้ออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง
ทั้งนี้ต้องนิยามวิสัยทัศน์องค์กรใหม่เพื่อสร้างชาติมากขึ้น จะทำอย่างไรให้ไซโลต่าง ๆ ในสังคมจะรวมกันเพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารหน่วยงานวิจัยที่จะต้องเชื่อมต่อให้เข้ากับการแก้ปัญหาของรัฐบาล ตัวอย่างเช่นการตอบโจทย์ภัยแล้ง ระบบการบริหารจัดการการเข้ามาของชาวต่างชาติ ปัญหาข้าว มัน ยาง ลดหนี้สินและความยากจนของชาวนา มีพันธุ์พืชที่ดีมากขึ้นและแปรรูปสู่ภาคอุตสาหกรรม สิ่งที่ขาดตอนคือ รอยเชื่อมโยงอุตสาหกรรมกับภาครัฐและมหาวิทยาลัยยังไม่แข็งแรงพอ ไม่สามารถถ่ายทอดสู่ภาคการผลิตที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคเศรษฐกิจได้ และตอบนักการเมืองได้ลำบาก รัฐบาลพยายามจะสร้างสะพานเชื่อมให้ได้มากที่สุด ด้านนักวิจัยซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญ อยากให้กำลังในนักวิจัยและนักศึกษาปริญญาโท-เอกให้ทำงานเข้มแข็งดียิ่งขึ้นเรื่อย ๆ การรับจ้างผลิตหรือซื้อมาขายไปยังไม่พอ เพราะมีการแข่งขันเข้มข้นรุนแรงมากขึ้นและชนกำแพงอยู่ทุกวัน ทั้งเวียดนาม จีน และแม้แต่ประเทศที่ไม่คิดว่าจะเป็นคู่แข่งอย่างเช่น ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา ไทยจึงต้องปรับตัวให้เร็วขึ้น เปลี่ยนวิธีคิดระดับองค์กร อุตสาหกรรม และระบบวิจัย โดยมีสะพานที่ดีเชื่อมโยงฝั่งวิจัยและเศรษฐกิจ
โครงการ พวอ.เป็นโครงการที่ดีแต่ก็ยังเล็กเกินไป รัฐมีข้อจำกัดในการจัดสรรงบประมาณจึงต้องชักชวนเอกชนมาลงทุนวิจัยให้มากขึ้น และต้องมองว่าจะผลิตนักวิจัยแบบมุ่งเป้าหรือตามรูปแบบปกติ เพราะไม่ค่อยออกแบบการผลิตนักวิจัยหรือบัณฑิตปริญญาโท-เอกที่รองรับความต้องการของอุตสาหกรรมได้ดี รวมถึงอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น ระบบรางลงทุน และอุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งนักลงทุนกำลังมองประเทศไทยอยู่ จึงฝากผู้บริหาร นักวิจัย นักศึกษา และเอกชน ให้ช่วยกันขบคิดและทำให้มีเอกภาพ มีน้ำหนักในผลผลิตเพิ่มขึ้น นอกจากการลดหย่อนภาษีเงินได้แก่เอกชน ยังมีบัญชีนวัตกรรมที่เปิดตลาดให้ภาคการผลิตที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัยมาขายได้ นอกจากนี้ยังต้องคลี่คลายระบบทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ยังเป็นปัญหาอยู่ เราได้เรียนรู้จากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นว่าทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันในความเป็นเจ้าของสิทธิบัตรที่ต้องมองเลยไปถึงการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่อยู่บนหิ้ง ส่วนระบบงบประมาณได้เสนอ ครม.ให้ปรับปรุงกฎหมายโดยสร้างเงื่อนไขการจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นโปรแกรมพื้นฐานเพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรมีความต่อเนื่อง แต่ต้องมีกฎหมายยืนยันว่าสามารถทำได้ กำหนดให้ชัดเจนว่าใช้เวลากี่ปีและจะส่งต่ออะไร นอกจากนี้ยังวางแผนจัดพื้นที่พิเศษเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจได้ ถ้าทำได้ประเทศไทยจะกระจายความเจริญทั้งการสร้างนวัตกรรมและนำไปสู่พาณิชย์ได้
คนรุ่นใหม่วันนี้ต่างจากสมัยก่อนเพราะมีอาวุธครบมือ สามารถทำธุรกิจได้ทันที ภาครัฐต้องช่วยริเริ่มตั้งกองทุนเพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนที่สนใจธุรกิจเปิดหใม่มาร่วมลงทุนโดยให้สิทธิประโยชน์ โมเดลของโลกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก มีความเสี่ยงและไม่สามารถจะมีหลักประกันว่าจะทำงานสำเร็จ แต่สิ่งที่ทำได้แล้วในวันนี้คือ ร่วมกับ บสย. ในการค้ำประกันเงินกู้แก่เอสเอ็มอี ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญอย่างมากกับนวัตกรรม ทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะช่วยเหลือชาวบ้านและเกษตรกร เราจะพยายามดำเนินการเพื่อวางพื้นฐานสำคัญของประเทศ สร้างกำลังคน ลดช่องว่างระหว่างอุตสาหกรรมและสถาบันวิจัย นักวิจัย มหาวิทยาลัย ถ้าอยากจะเร่งให้อุตสาหกรรมและภาคเอกชนลงทุนวิจัยมากๆ เราต้องรีบใส่นักวิจัยให้ มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงขึ้น ขณะนี้มีนักวิจัยจากสถาบันวิจัยของรัฐเข้าไปทำงานร่วมกับเอกชนแล้วจำนวน 99 คน และผู้ช่วยวิจัยอีก 43 คน ส่วนคนที่ยังใช้ทุนไม่หมดรัฐบาลก็เปิดโอกาสให้ไปทำงานกับเอกชนถือว่าเป็นการใช้ทุน และเมื่อทำงานเสร็จแล้วกลับมาให้ต้นสังกัดพิจารณาผลงานทั้งการลดต้นทุนและสร้างชิ้นงานใหม่ เทียบเท่ากับการตีพิมพ์และพิจารณาเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการ จะยกร่างระเบียบเพื่อสนับสนุนมหาวิทยาลัยร่วมกับ สกอ. เพื่อให้ระบบเคลื่อนที่ไปได้
“ถ้าเศรษฐกิจดีสังคมก็ดี แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีสังคมก็เดือดร้อน จึงต้องช่วยกันทำให้ประเทศขับเคลื่อนไปได้ด้วยดีอย่างยั่งยืน รัฐบาลยินดีที่จะช่วยสนับสนุนในแง่มุมต่าง ๆ และฝากโครงการ พวอ. ในการหาเพื่อนร่วมงานในมิติใหม่อื่น ๆ เชื่อมโยงให้มากขึ้น รวมถึงความร่วมมือกับต่างประเทศด้วย เพื่อให้เป็นโครงการที่รู้ลึก รู้รอบ หลากหลาย ขยายผลได้ เน้นจุดที่เห็นผลมาก โดยต้องสมดุลกันระหว่างการให้ทุนในภูมิภาคต่าง ๆ การลงทุนของเอกชน โดยมีผลประโยชน์ของประเทศเป็นตัวตั้ง”
ด้าน รศ. ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รองผู้อำนวยการ สกว. ด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ กล่าวว่า งานนี้มีผู้ลงทะเบียนร่วมงานกว่า 1,000 ท่านจากภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเป็นดัชนีที่สำคัญที่บ่งบอกถึงความร่วมมือด้านการวิจัยที่ดีระหว่างนักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการนำผลงานวิจัยที่ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้การลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนามีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรที่มีความชำนาญในเรื่องวิจัยและพัฒนา เป็นผลให้ภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมไม่สามารถแบกภาระนี้ไว้ได้ และไม่ดำเนินการการวิจัยและพัฒนาเพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการผลิต ดังนั้นการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถแข่งขันและพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ภาครัฐมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีส่วนช่วยสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนา และการสร้างกำลังคนสำหรับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภาก็มีเป้าหมายที่จะเร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยและครูวิทยาศาสตร์ให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคงและนำพาประเทศไทยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้แบบสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
รศ. ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รองผู้อำนวยการ สกว.
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ