ประเทศไทยร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน Asian Science Camp 2015 เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดงาน Asian Science Camp 2015 และทรงแสดงปาฐกถาเรื่อง “Young Scientists of Asia”  ในวันที่ 3 สิงหาคม 2558  โดยมี   นายยงยุทธ ยุทธวงศ์  รองนายกรัฐมนตรี  พลเรือเอกณรงค์  พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ    นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  นายแพทย์ จรัส สุวรรณเวลา      รองประธานกรรมการบริหารมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.)  นางเย็นใจ สมวิเชียร กรรมการและเหรัญญิกมูลนิธิ สอวน. คุณหญิงสุมณฑา  พรหมบุญ กรรมการมูลนิธิ สอวน.  ม.ร.ว. ชิษณุสรร   สวัสดิวัตน์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานฯ นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะกรรมการ เฝ้าฯ รับเสด็จฯ พร้อมทรงฟังการบรรยายพิเศษเรื่อง “Introduction to Cosmology” จาก Prof. Dr. Hitoshi Murayama Director, Kavli Institute for the Physics and Mathematics of the Universe (IPMU), University of Tokyo

alt  alt  alt

โครงการ Asian Science Camp มีพื้นฐานมาจาก Lindau Nobel Laureate Meeting ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดเป็นประจำทุกปีที่เมือง Lindau สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1951 ในแต่ละปีจะมีการบรรยายของนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลประมาณ 30 – 50 คน และเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ทั่วโลกประมาณ 600 คน ได้ใกล้ชิดและรับฟังความคิดในการดำเนินชีวิตของนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลเหล่านั้น และได้สร้างเครือข่ายการวิจัยกับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จากประเทศ  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงประสานงานให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ของไทยได้รับโอกาสไปร่วมกิจกรรมนี้ทุกปี

โครงการ Asian Science Camp ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 (ค.ศ. 2007) โดยความร่วมมือระหว่าง ศาสตราจารย์ หยวน เต๊อะ ลี (Professor Yuan Tseh Lee) ชาวไต้หวัน ผู้ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีปี พ.ศ. 2529 กับ ศาสตราจารย์มาซาโตชิ  โกชิบา (Professor Masatoshi Koshiba) ชาวญี่ปุ่น ผู้ซึ่งได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ปี พ.ศ. 2545 เพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้กับเยาวชนในแถบเอเชียแปซิฟิก ในระดับมัธยมปลายปีสุดท้ายหรือนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยปีที่ 1 – 2 ที่มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์  โดยผ่านการฟังการบรรยาย การอภิปราย และพูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์ระดับรางวัลโนเบล แล้วนำมาสร้างเป็นโปสเตอร์ โดยเน้นให้เยาวชนได้ใกล้ชิดกับนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลและนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก และสนับสนุนส่งเสริมให้เยาวชน

alt  alt  alt

  กล้าแสดงออกทั้งในการซักถามและการเสนอความคิดเห็น และการทำงานร่วมกับเยาวชนในประเทศอื่น ๆ  โดยมีรูปแบบกิจกรรม คือ
1. Plenary Session เป็นการบรรยายของนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลในหัวข้อที่น่าสนใจ และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ซักถามแสดงความคิดเห็น
2. Parallel Session/Camp เป็นกิจกรรมกลุ่มย่อยที่ให้เยาวชนเลือกเข้าฟังการบรรยายสั้น ๆ เกี่ยวกับงานวิจัย เรื่องที่น่าสนใจของนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ซักถามแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
3. Panel Discussion เป็นการจัดให้นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลและนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ  5 - 8 คน ร่วมให้ความคิดเห็นในประเด็นที่น่าสนใจ และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ซักถามแสดงความคิดเห็น
4. Poster Session  เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เยาวชนรวมกลุ่มกันและนำสิ่งที่ได้รับฟังมาตลอดมาต่อยอด สร้างเป็นแนวคิดในการที่จะหาคำตอบของเรื่องที่น่าสนใจและนำเสนอในรูปแบบโปสเตอร์  

Asian Science Camp จัดขึ้นทุกปีโดยหมุนเวียนไปจัดในประเทศต่างๆ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 ถึงปัจจุบัน สำหรับปีนี้ประเทศไทยจัด Asian Science Camp 2015  โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา และเพื่อกระตุ้นให้เยาวชนตลอดจนสังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทของการศึกษา วิจัย ค้นคว้าด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีต่อการพัฒนาสังคมและประเทศ  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 - 8  สิงหาคม 2558 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร และอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี  โดยมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันดำเนินงาน ดังนี้
มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้า      พี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (มูลนิธิ สอวน.)
กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
กระทรวงศึกษาธิการ โดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ

alt  alt  alt

ทั้งนี้ จะมีจำนวนนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ บุคลากรที่เกี่ยวข้องรวมประมาณ 300 คน จาก 28 ประเทศ ในแถบเอเชียแปซิฟิก เข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ด้วย
 นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลและนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำที่จะมาร่วมกิจกรรม Asian Science Camp 2015 มีจำนวน  7 ท่าน

สำหรับในงานนี้เยาวชนจะมีโอกาสได้พบกับนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ ได้รับฟังแนวคิดและงานที่สำคัญที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่มนุษยชาติ  ซึ่งปกติการคัดเลือกเยาวชนเข้าร่วมงานในแต่ละปี มูลนิธิ สอวน. จะคัดเลือกเยาวชนประมาณ  8 - 10 คน โดยเปิดให้มีการสมัครทั่วไป  มีการสอบเป็นภาษาอังกฤษทั้งด้านความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และการสื่อสารด้านภาษาอังกฤษ ซึ่งปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพมีเยาวชนไทยจำนวนถึง 40 คนที่ได้รับโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม โดย  สอวน. และหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดงานทำการคัดเลือกเยาวชนร่วมด้วย คือ สมาคมวิทยาศาสตร์ สวทช. และ สสวท. โดยมีเยาวชนเข้าร่วมงานจำนวน 257 คน จาก 28 ประเทศในย่านเอเชียแปซิฟิก  จะได้รับประโยชน์จากการได้รับโอกาสพบกับนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลและนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก ได้รับแรงบันดาลใจให้สนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น ตลอดจนได้พบกับเยาวชนชาติต่างๆ และสามารถสร้างเครือข่ายสำหรับอนาคตได้

alt  alt  alt

การจัดงาน Asian Science Camp 2015 ครั้งนี้เยาวชนทั้งหมดจะร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. พักอยู่ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โดยหวังให้เยาวชนเกิดความคิดสร้างสรรค์ แรงจูงใจ ความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ เนื่องจากอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยที่เป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยแห่งชาติของ สวทช. ได้แก่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยเยาวชนจะได้มีโอกาสเยี่ยมชมความก้าวหน้าของงานวิจัยของประเทศไทย พบปะนักวิจัย และเห็นบรรยากาศของงานวิจัยที่ศูนย์วิจัยแห่งชาติ         ซึ่งเปิดต้อนรับเยาวชนนานาชาติเป็นพิเศษถึง 20 ห้องปฏิบัติการวิจัย  
นอกจากจะเพิ่มความรู้และประสบการณ์ให้แก่เยาวชนรวมทั้งสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว  ยังสร้างแรงกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการสร้างนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถระดับสูง มีการผลักดันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ  สนับสนุนการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับชั้นเพื่อให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันได้ในระดับโลก

การจัดค่ายครั้งนี้เป็นค่ายเยาวชนในระดับนานาชาติ เยาวชนจากนานาประเทศก็ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ที่พิเศษที่สุดก็คือ ได้เปิดโลกทัศน์รับความรู้และประสบการณ์จากนักวิทยาศาสตร์เก่ง ๆ ที่มีผลงานระดับโลกซึ่งจะมาถ่ายทอดความรู้อย่างใกล้ชิดอันเป็นโอกาสที่หาไม่ได้อีกแล้ว

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ

http://www.nstda.or.th/news/20395-asc2015