9 ภาคีเครือข่าย ร่วมลงนาม MOU พัฒนาระบบระบบการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานการผลิตข้าว

9 ภาคีเครือข่าย ร่วมลงนาม MOU พัฒนาระบบระบบการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานการผลิตข้าว

alt

(14  ส.ค. 58) ณ ห้องวายุภักษ์ 6 โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ - 9 ภาคีเครือข่ายจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคการศึกษา (กรมการข้าว สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (มจ.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) มหาวิทยาลัยทักษิณ (มทษ.) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) และมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.)) ร่วม ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) เครือข่ายพัฒนาระบบตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าว เพื่อพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานการผลิตข้าว GAP ข้าวอินทรีย์ เมล็ดพันธุ์ข้าวโรงสีข้าว และผลิตภัณฑ์ข้าว ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และสินค้าข้าวของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับโดย ดร.ลดาวัลย์ กระแสชล รองผู้อำนวยการ สวทช. เป็นผู้แทนจาก สวทช. ร่วมลงนามในความร่วมมือดังกล่าว ภายใน “งานประชาสัมพันธ์ระบบการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าว”ที่กรมการข้าวจัดขึ้น ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานในพิธีเปิดงาน

 สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ สวทช. โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการเกษตรไทยแบบพกพา หรือทามิส (TAMIS : Thai Agriculture Mobile Information System) ประกอบไปด้วย 4 กิจกรรมหลัก คือ 1) ขึ้นทะเบียนเกษตรกร 2) ขึ้นทะเบียนพื้นที่การเกษตร 3) ตรวจประเมินพืชอาหารปลอดภัย (GAP) และ 4) ตรวจรับรองพืชอาหารปลอดภัย โดย TAMIS เป็นเทคโนโลยีเสริมสนับสนุนการขึ้นทะเบียนเกษตรกร รองรับการทำงานแบบออนไลน์และออฟไลน์ อำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่และผู้ตรวจประเมินรับ/ส่งข้อมูลได้แบบทันที รองรับการทำงานร่วมกับบัตรประจำตัวประชาชนผ่านเครื่องอ่านบัตรสมาร์ทการ์ด ทำงานร่วมกับแผนที่ดาวเทียมเพื่อใช้กำหนดพิกัดแปลงให้ทราบถึงขนาดพื้นที่ทำการเกษตร ลดกระบวนการด้านงานเอกสารและการประมวลผลด้วยมือ ใช้กระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์เข้ามามีส่วนช่วยในการประมวลผล เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพ รวดเร็ว ถูกต้อง ทำงานผ่านเครือข่าย GIN บนระบบคลาวด์รับผิดชอบโดยหน่วยงานของรัฐ อีกทั้งยังรวมเข้ากับระบบตรวจประเมินคุณภาพการผลิตทางการเกษตร “อาหารปลอดภัย” รองรับมาตรฐานสินค้าเกษตร และการตรวจสอบย้อนกลับตั้งแต่กระบวนการผลิต แหล่งน้ำ พื้นที่แหล่งผลิต วัตถุอันตรายทางการเกษตร การจัดการคุณภาพในกระบวนการผลิตก่อนการเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว การพักผลิตผล การขนย้ายในแปลงปลูก และเก็บรักษา สุขลักษณะส่วนบุคคล

ทั้งนี้  การค้าในเวทีการค้าโลกปัจจุบันมีการกำหนดมาตรการกีดกันทางการค้าโดยใช้ข้อกำหนดทางเทคนิค (Technical barrier to trade) แทนการกำหนดภาษีนำเข้า ซึ่งมีผลกระทบต่อประเทศไทย รวมถึงการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 จะทำให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวภายในประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปรับตัวพัฒนาทั้งประสิทธิภาพการผลิตและการลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งผลิตข้าวที่มีคุณภาพได้มาตรฐานที่ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ประกอบการและผู้บริโภค การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทย โดยการพัฒนาระบบการผลิตข้าว ระบบการตรวจสอบและรับรองคุณภาพข้าวเพื่อผลิตข้าวคุณภาพตามมาตรฐาน ได้แก่ ข้าว GAP ข้าวอินทรีย์ ข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ การผลิตข้าวเปลือกที่มีคุณภาพมาตรฐานแสดงเครื่องหมายคุณภาพ Q สร้างมูลค่าข้าวจากระบบการผลิตที่มีการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานการผลิตทุกขั้นตอน สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคและประชาชน ซึ่งกรมการข้าวหน่วยงานที่มีภารกิจในการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าวโดยตรงมีข้อจำกัดด้านบุคลากร จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าวของประเทศให้เป็นที่ยอมรับ จึงเป็นที่มาของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานการผลิตข้าวระหว่าง 10 หน่วยงานดังกล่าว

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ

http://www.nstda.or.th/news/20403-mou