โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.)จัดปฐมนิเศษนักศึกษา ครั้งที่ 2 หนุนการผลิตบุคลากรปริญญาเอกเพื่อตอบสนองภาครัฐ ต่อการพัฒนาในด้านต่างๆในอนาคต
เมื่อเร็วๆนี้ โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นโครงการของรัฐที่ให้ทุนระดับปริญญาเอกที่ใหญ่ที่สุดโครงการหนึ่งในประเทศไทย ต่อการผลิตผลงานวิจัยและนักวิจัยระดับปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยไทยให้ได้มาตรฐานสากล จัดปฐมนิเศษนักศึกษา คปก. ครั้งที่ 2 ในช่วงวันที่ 30 ตุลาคม 2558 ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารพระมิ่งขวัญการศึกษาไทย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม 2558 ณ อิงธารรีสอร์ท จ. นครนายก
โอกาสนี้ ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. ได้บรรยายในหัวข้อ “ทิศทางของ คปก.ภายใต้ สกว.” และ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง"ปริญญาเอกยกระดับงานวิจัยไทย" ในการปฐมนิเทศนักศึกษา คปก. รุ่นที่ 17 จำนวน 219 ทุน โดยมี ศ.ดร.นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย ประธานบอร์ด คปก. ศ.ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ผู้อำนวยการ คปก. และรศ.ดร.อาทิวรรณ โชติพฤกษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ร่วมงานดังกล่าว
ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวบรรยายในหัวข้อ “ทิศทางของ คปก.ภายใต้ สกว.” ตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา สกว.ได้สนับสนุนโครงการ คปก. เพื่อผลิตผลงานวิจัย เพราะงานวิจัยก่อให้เกิดความรู้ และความรู้จะเป็นคำตอบของการทำงานวิจัย ซึ่งจะนำไปสู้การพัฒนาในด้านอื่นๆต่อไป ดังนั้นงานวิจัยของสกว.จึงมุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนา โดยการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศ
โดยโครงการผลิตนักศึกษาปริญญาเอก ของ คปก. เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้ผู้รับทุนได้พัฒนาศักยภาพตามมาตรฐานสากล ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการเรียนในต่างประเทศ ควบคู่กับการเก็บข้อมูล ทั้งในและต่างประเทศ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกจะเป็นการทำวิจัยภายในประเทศไทยด้วยโจทย์วิจัยของไทย อีกส่วนจะเป็นการทำวิจัยระยะสั้นช่วง 6-12 เดือนในต่างประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้ใช้เครื่องมือที่ทันสมัย โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมในต่างประเทศเป็นผู้ดูแลอีกทาง
ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงการ คปก. ได้ผลิตบุคลากรระดับปริญญาเอกไปแล้วกว่า 2,500 คน และบทความวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติกว่า 6,000 เรื่อง มีอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมต่างประเทศประมาณ 3,700 คน ใน 49 ประเทศ และมีโครงการร่วมมือระหว่างอาจารย์ที่ปรึกษาไทยกับอาจารย์ต่างประเทศทั้งหมดกว่า 3,000 โครงการ
ซึ่งถือเป็นโครงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการที่ใหญ่ที่สุดโครงการหนึ่งในระดับนานาชาติ ก่อให้เกิดผลดีต่อระบบความร่วมมือทางวิชาการของประเทศเป็นอย่างมาก ที่สำคัญช่วยเพิ่มจำนวนนักวิชาการและองค์กรวิจัย และนอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว สกว.ยังมีความร่วมมือในการผลิตนักวิชาการกับรัฐบาลอังกฤษในโครงการนิวตันฟันด์ นำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่างหน่วยวิจัยในประเทศไทยกับห้องปฏิบัติการและศูนย์วิจัยชั้นนำทั่วโลก
พร้อมกันนี้ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวอีกว่า สถานการณ์เมื่อ 20 ปีที่แล้วกับ 20 ปีปัจจุบันนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะโลกมีการปรับเปลี่ยน สกว.ก็เช่นกันที่มีการปรับเปลี่ยนโครงการวิจัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันรวมถึงอนาคต
จากนั้น ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง"ปริญญาเอกยกระดับงานวิจัยไทย" ในการปฐมนิเทศนักศึกษา คปก. ว่า แนวทางการเรียนปริญญาเอกของไทย เริ่มขึ้นจากการส่งนักเรียนทุนรัฐบาลไปศึกษาต่างประเทศ เพื่อเตรียมบุคลากรสำหรับสถาบันการศึกษาใหม่ ภายใต้การทุนสนับสนุนทุนจากสถาบันต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน,สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี,กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ แต่มีการเริ่มผลิตบัณฑิตปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์อย่างจริงจังที่คณะวิทยาศาสตร์ม.มหิดล เมื่อ 50 ปีที่แล้ว
ต่อมาความต้องการบัณฑิตระดับปริญญาโทและเอก ที่มีมากขึ้นทำให้เกิดโครงการบัณฑิตศึกษาและการวิจัยอย่าง สกว. และโครงการ คปก.นี้ขึ้น โดยมีแผนงานที่จะเพิ่มการผลิตบุคลากรปริญญาเอกเพื่อตอบสนองภาครัฐ ภาคเอกชนและระดับนานาชาติ อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะสามารถผลิตนักศึกษาปริญญาเอกได้เอง แต่การส่งนักศึกษาไปต่างประเทศ ยังเป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แลกเปลี่ยนความรู้ ได้ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งเป็นการเจริญทางปัญญา
ขณะเดียวกัน ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวถึงตัวชี้วัดด้านการศึกษาระดับปริญญาเอกว่า การศึกษาในระดับต่างๆเป็นการต่อยอดความรู้ ความเข้าใจ ที่จะนำไปสู้การพัฒนาในด้านอื่นๆต่อไป ดังนั้นการศึกษาระดับปริญญาเอกควรเป็นเรื่องความรู้ใหม่ หรือเป็นเรื่องที่คนอื่นยังไม่รู้ รวมทั้งความรู้ในวิชาการทั้งวงกว้างและเชิงลึก ซึ่งนักศึกษาจะต้องมีความสามารถในการวิจัย โดยสามารถตั้งโจทย์ปัญหาได้เอง หาแนวทางตอบปัญหา มีวิธีการใหม่ๆ มีการวิเคราะห์ และได้ข้อสรุปที่ดี แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ ผู้เรียนจะต้องมีจริยธรรมและศิลธรรมในการดำเนินการ มีการทำงานอย่างโปร่งใสด้วยตัวเอง โดยไม่ลอกเลียนคนอื่น
อย่างไรก็ตาม หากนับจำนวนนักศึกษาปริญญาเอกที่ สกว.ให้การสนับสนุนภายใต้โครงการ คปก. รวมกับนักศึกษาปริญญาเอกของประเทศไทย ยังถือว่าน้อยกว่าความต้องการบุคลากรที่จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. ได้บรรยายในหัวข้อ “ทิศทางของ คปก.ภายใต้ สกว.”
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่องปริญญาเอกยกระดับงานวิจัยไทย
ศ.ดร.นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย และศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ
ผู้บริหาร สกว.ร่วมถ่ายภาพหมู่กับนักศึกษา คปก
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ