สวทช. เดินหน้าสนับสนุน SMEsล่าสุดจับมือ มทร.ล้านนา สร้างเครือข่ายโปรแกรม ITAPรองรับ SME ทั่วทั้งภาคเหนือ ตั้งเป้าหนุนไม่น้อยกว่า 50 รายต่อปี

ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ - สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. ลงนามความร่วมมือดำเนินการ ITAP เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา โดยมี รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดี มทร.ล้านนา ร่วมลงนาม เพื่อมุ่งสร้าง ส่งเสริม สนับสนุน SMEs ให้สำเร็จเติบโตยั่งยืนด้วยการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม ด้วยการนำกลไกการบริหารงานแบบ ITAP ไปใช้ในการสนับสนุน SMEs ตั้งเป้าช่วยเหลือไม่น้อยกว่า 50 รายต่อปี ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 17 จังหวัดของภาคเหนือ ซึ่ง มทร.ล้านนา มีวิทยาเขตกระจายอยู่ทั่วทั้งภูมิภาค 6 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ลำปาง พิษณุโลก และตาก

alt

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า  “โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation and Technology Assistance Program หรือ ITAP) เป็นหน่วยงานภายใต้ สวทช. ดำเนินงานเพื่อพัฒนาศักยภาพของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้มีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีสูงขึ้น ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยใช้กลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม การร่วมงานกับ ITAP เปรียบเสมือน SMEs ได้มีหน่วยวิจัยและพัฒนา (R&D) เฉพาะกิจ และมีผู้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเทคโนโลยีช่วยบริหารโครงการวิจัยให้ พร้อมทั้งเสาะหาผู้เชี่ยวชาญที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและหัวข้อที่ต้องการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรม รวมทั้งมีเงินทุนสนับสนุนการทำวิจัย ทำให้ SMEs ลดความเสี่ยงในการทำโครงการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม”

alt  alt

“สวทช. ได้ดำเนินโปรแกรม ITAP มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ให้การสนับสนุน SMEs ไปแล้วไม่น้อยกว่า 7,000 ราย และในปีงบประมาณ 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการสร้างความเข้มแข็งของ SMEs ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ โดยอนุมัติให้ ITAP สนับสนุน SMEs จำนวนมากขึ้นเป็น 2 เท่า (จาก 400 โครงการในปีก่อนหน้าเป็น 800 โครงการ) และมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นในแต่ละปี โดยในปีงบประมาณ 2563 จะสามารถสนับสนุน SME ได้ 3,000 รายต่อปี ดังนั้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ITAP จึงได้มุ่งเน้นการบูรณาการทำงานร่วมกับพันธมิตรโดยเฉพาะมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและองค์ความรู้ โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาในรูปแบบเครือข่าย ITAP ครั้งนี้ จะทำให้ ITAP สามารถให้ความช่วยเหลือ SMEs ได้ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัด เนื่องจาก มทร.ล้านนา มีวิทยาเขตทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ลำปาง พิษณุโลก และตาก โดยมหาวิทยาลัยจะนำกลไก ITAP ไปใช้ในการสนับสนุน SMEs ซึ่งประโยชน์ที่ภาคอุตสาหกรรมและประเทศจะได้รับคือ จะเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้การ สนับสนุนแก้ไขปัญหา และทำวิจัยพัฒนา ที่ครอบคลุมหลากหลายสาขามากขึ้น เข้าถึงเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยได้มากขึ้น และจะมีจำนวน SMEs ที่ได้รับการสนับสนุนมากขึ้น”

alt  alt

ด้าน ดร.ภาสวรรธน์ วัชดำรงศักดิ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อชุมชน มหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้ และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญมีสถาบันวิจัยและพัฒนา สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร และสถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน โดยมีพันธกิจที่มุ่งเน้นการสร้างงานวิจัยองค์ความรู้และนวัตกรรมในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อชุมชน และด้วยการตระหนักถึงความสำคัญในการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อเศรษฐกิจของประเทศ จึงเล็งเห็นประโยชน์ของโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือโปรแกรม ITAP จึงตกลงความร่วมมือกับ สวทช. ในการดำเนินงาน ‘เครือข่ายโปรแกรม ITAP มทร.ล้านนา’ เพื่อมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือ SMEs ในพื้นที่ภาคเหนือเป็นเป้าหมายหลัก ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี การพัฒนางานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการเชื่อมโยงสู่การให้บริการสนับสนุนแก่ภาคเอกชนของ สวทช. เพื่อพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีของ SMEs ให้มีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีสูงขึ้น เกิดการสร้างนวัตกรรมและพึ่งพาตนเองได้ด้วยเทคโนโลยี โดยตั้งเป้าสนับสนุนไม่น้อยกว่า 50 รายต่อปี ในระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี”

ขอขอบคุณข้อมูล

http://www.nstda.or.th/news/21973-nstda