เมื่อเร็วๆนี้ (20 เมษายน 2559) พลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานพร้อมกล่าวปาฐกถาหัวข้อ “การปฏิรูปการศึกษาและสร้างสรรค์การเรียนรู้ด้วยฐานงานวิจัย" ภายในเวทีรายงานผลการวิจัยประเด็น “การปฏิรูปการศึกษาและสร้างสรรค์การเรียนรู้" ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทั้งนี้ภายในงานมีการเสวนาเรื่อง “การวิจัยมุ่งสู่การปฏิรูปการศึกษา” รายงานผลการวิจัยประเด็น การยกระดับฝีมือแรงงานและการมีงานทำ ความเท่าเทียมด้านโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฯลฯ
ดร.จินตนา โสภณ ที่ปรึกษาด้านการวิจัย วช. เปิดเผยว่า วช. และเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ได้มอบหมายให้ สกว. จัดการวิจัยในกลุ่มประเด็นการศึกษาและสร้างสรรค์การเรียนรู้ ประจำปี 2557 เพื่อให้เกิดผลผลิตตามนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปที่นำไปสู่ความเท่าเทียม ความเสมอภาค และคุณภาพทางการศึกษาสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม พร้อมยกระดับการศึกษาและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ในประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก ทางด้าน ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผอ.สกว. กล่าวเสริมว่า จากกรอบการวิจัยดังกล่าว สกว.ได้สนับสนุนทุนและบริหารจัดการงานวิจัยทั้งสิ้น 50 โครงการ ภายในงบประมาณ 70 ล้านบาท โดยมีกรอบวิจัยหลัก 5 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มการวิจัยเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 2.กลุ่มการวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตร/การอุดมศึกษา/คุณภาพของครู 3.กลุ่มการวิจัยเพื่อพัฒนาอาชีวศึกษา การยกระดับฝีมือแรงงานและการมีงานทำ 4. กลุ่มความเท่าเทียมด้านโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ 5.กลุ่มการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ
ด้าน พลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในการปาฐกถาหัวข้อ “การปฏิรูปการศึกษาและสร้างสรรค์การเรียนรู้ด้วยฐานงานวิจัย” ว่า งานวิจัย ภายใต้กรอบทั้ง 5 ข้อ ล้วนเป็นโจทย์วิจัยที่เกิดจากปัญหาการปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญของไทย อย่างประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางการศึกษานั้น เป็นสิ่งที่รัฐต้องเร่งให้มีขึ้นตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงระดับอุดมศึกษา เช่นเดียวกับนโยบายที่เคยมีมาในเรื่องที่ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนรับผู้ทุพพลภาพเข้าทำงาน เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคมไทยทุกๆด้าน นอกจากนี้ในประเด็นของภาษาอังกฤษนั้น ตนก็พบปัญหาที่คล้ายคลึงกับการตั้งคำถามของคนทั่วไปว่า ทำไมคนไทยเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็กแล้ว แต่ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษ ทั้งในชีวิตประจำวัน การเดินทาง หรือการท่องเที่ยวได้ ซึ่งจริงๆแล้วในประเทศไทยก็มีโรงเรียนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการเรียนภาษาอังกฤษ อาจต้องนำโรงเรียนนั้นๆ มาเป็นโมเดล นอกจากนี้จะเห็นว่า ระบบการศึกษาในหลายประเทศอาทิ เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ นับเป็นตัวอย่างที่ดีของไทยที่พัฒนาความรู้ การศึกษา และฝึกฝนให้คนในชาติมีความรู้ควบคู่ไปกับการมีวินัยและความรับผิดชอบตั้งแต่เด็ก จึงทำให้ประเทศเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการผลิตบุคลากรที่เป็นมันสมองของชาติได้ดี ท้ายที่สุดตนคิดว่า นอกจากจะส่งเสริมเรื่องการเรียนภาษาอังกฤษแล้ว ยังมีภาษาอื่นๆที่แนะนำให้ศึกษา เพิ่มอย่างภาษาในประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน หรือภาษาจีนและญี่ปุ่นที่มีความจำเป็นและมีประโยชน์ที่สอดคล้องกับการมีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ท้ายที่สุด ตนยืนยันว่าจะนำรายงานการวิจัยที่เสร็จสมบูรณ์ในโครงการ ไปขับเคลื่อนเชิงนโยบายแน่นอน จึงขอเป็นกำลังใจให้กับนักวิจัยทุกท่าน
นอกจากนี้ภายในเวทีเสวนา “การวิจัยมุ่งสู่การปฏิรูปการศึกษา” ยังมีข้อสะท้อนคิดเกี่ยวกับระบบการศึกษาไทยจาก ศ.(พิเศษ) ดร.กาญนา เงารังสี ประธานกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาการศึกษาที่ กล่าวว่า “เวลาที่ไทยจะปฏิรูปไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตามแต่ เรามัก ขาดข้อมูลจากการวิจัยมารองรับ (Reform without research) ทำให้ขาดหมุดหมายที่ถูกต้องในการปฏิรูป เรื่องการศึกษาก็เช่นกัน ทางด้านบริหาร เราพบว่าเวลาเปลี่ยนผู้บริหารครั้งหนึ่งนโยบายจะเปลี่ยน ทั้งๆที่เวลาไปดูนโยบายด้านการศึกษาของอเมริกาจะพบว่าไม่มีการว่าเปลี่ยนไปแม้จะเปลี่ยนประธานาธิบดีไปกี่คน นโยบายหลักจะยังคงเดิมเอาไว้ และเพิ่มเติมเข้าไป เพื่อให้การทำงานมีความต่อเนื่อง”
ทางด้านศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิจัยจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า “ตนคิดว่าการปฏิรูการศึกษาของไทยอาจจะล้มเหลว ตราบใดที่หน่วนงานภาครัฐสำคัญๆ ด้านการศึกษา ไม่ได้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนทางการศึกษาของประเทศอย่างแท้จริง เราคงฝากความหวังให้คนทำงานยุคปัจจุบันไม่ได้แต่ต้องเตรียมฐานประเทศ สร้างคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ประถมวัยเป็นหลัก เราต้องทำให้เด็กไทยต่อจากนี้เป็นเหมือนน้องเมย์ รัชนก นักกีฬาแบดมินตัน ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมต้นแบบคนไทย แต่มีศักยภาพและการแสดงออกในระดับสากลให้ได้ ปัญหาด้านการศึกษามีหลายด้านแต่อีกสิ่งหนึ่งที่ตนมองเห็นคือ การปฏิรูปการศึกษาแต่ละที “เด็กยากจน” จะถูกผลักจากวงจร และทำให้เขาเข้าสู่ระบบ “ยุวอาชากร” โดยไม่ได้ตั้งใจ นอกจากนี้ เรายังละเลยด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดเวลาที่เด็กๆได้รับการศึกษา เช่น คุณภาพของของเล่นในสนามเด็กเล่น อาหารการกินที่เด็กสมัยนี้นิยมกินแต่อาหารแปรรูป เป็นต้น
พลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี
เวทีเสวนา
ภาพบรรยากาศ
เรียบเรียงเนื้อหา: วรรณสม สีสังข์
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ