ธกส. จับมือ สกว. ชูงานวิจัยพร้อมใช้ แก้ปัญหาให้เกษตรกร

          นายลักษณ์ วจนานวัช  ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  (ธ.ก.ส.) และศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ  ด้านวิชาการและการพัฒนางานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์  ณ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานใหญ่ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านวิชาการ ด้านการเผยแพร่ความรู้ และสนับสนุนงบประมาณในโครงการวิจัยที่เห็นชอบร่วมกัน เพื่อผลักดันและต่อยอดงานวิจัยที่ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องเกษตรกรไทย

10001

นายลักษณ์ ผู้จัดการ ธกส. กล่าวว่า พิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงฯวัน15 มิถุนายน 2559 เกิดขึ้น เนื่องจาก สกว.  และ ธกส. ได้เล็งเห็นประโยชน์ของประเทศชาติในการนำความรู้ที่ได้จากผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ เพื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร สามารถบริหารจัดการในการประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และสภาพภูมิอากาศ ทำให้การดำเนินงานด้านการเกษตรต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก ซึ่งต้องอาศัยความรู้เป็นฐานสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ด้านวิจัยและพัฒนา เพื่อนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้ ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการพัฒนาศักยภาพการประกอบอาชีพการเกษตร และภาคการเกษตร ให้มีความมั่นคงอย่างยั่งยืน สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในวัน15 มิถุนายน 2559  มีประเด็นสาระสำคัญ คือ  1.การตกลงร่วมมือทางด้านวิชาการ และการเผยแพร่ความรู้จากผลงานวิจัยเพื่อเกษตรกร และภาคการเกษตร 2.การร่วมกันสนับสนุนพัฒนางานวิจัย และการนำงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ เพื่อเกษตรกรและภาคการเกษตร

ด้าน ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผอ. สกว. กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือด้านวิชาการ การเผยแพร่ความรู้จากผลงานวิจัย การผลักดันและต่อยอดงานวิจัย ที่ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมแล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกร รวมถึงสนับสนุนงบประมาณในโครงการวิจัยที่เห็นชอบร่วมกันเพื่อตอบสนองความต้องการของเกษตรกร  และเพื่อพัฒนาภาคเกษตรและชนบทของไทยให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ที่ผ่านมา สกว. ทำหน้าที่สนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่น  ระดับจังหวัด ระดับประเทศ และระดับระหว่างประเทศโดยใช้การวิจัยเป็นกลไกสร้างฐานความรู้สำหรับการแก้ปัญหา สกว.มีเครือข่ายนักวิจัยทั่วประเทศ ทั้งนักวิจัยชาวบ้านหรืองานวิจัยเพื่อท้องถิ่น เพื่อสร้างการเรียนรู้ในระดับพื้นที่ ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตลอด 20 ปี

สำหรับภาคเกษตรและชนบทไทย สกว. ตระหนักว่าภาคเกษตรและชนบทไทยกำลังอยู่ในภาวะเปลี่ยนผ่านทั้งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดและการเปิดเสรีการค้าการลงทุนและความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน ปัจจัยเหล่านี้เป็นทั้งโอกาสและภัยคุกคาม หากภาคเกษตรไทยไม่สามารถปรับตัวได้ทัน  

ด้วยอุดมการณ์ร่วมกันที่จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร ภาคเกษตรและชนบทไทยความร่วมมือระหว่าง สกว. กับ ธกส. จะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันของสามฝ่ายคือ  เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร  ภาควิชาการ  และภาคการเงิน อันจะทำให้เกษตรกรและภาคเกษตรมีเครื่องมือทางการเงินและเทคโนโลยีที่ลดข้อจำกัดในการปรับตัว  มีพี่เลี้ยงในการปฏิบัติการระดับพื้นที่  มีข้อมูลความรู้เพียงพอที่จะทำให้ภาคเกษตรไทยปรับตัวได้อย่างมีภูมิคุ้มกัน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 

20002

30003

โดย สกว. และ  ธ.ก.ส. จะมีการดำเนินงานร่วมกันใน 4 แนวทาง ได้แก่

1) การขยายผลงานวิจัยสู่ชุมชน โดย สกว.ส่งมอบความรู้พร้อมใช้หรือพัฒนาเพียงเล็กน้อย  ในระดับปฏิบัติการจริง  อาทิ การส่งเสริมสายพันธุ์ไก่เนื้อโคราชเพื่อการผลิตเป็นอาชีพวิสาหกิจชุมชนการใช้เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดเพื่อลดต้นทุนการผลิต ชุดความรู้การท่องเที่ยวโดยชุมชน  ชุดความรู้พันธุ์พื้นเมืองศักยภาพสูงเพื่อ niche markets และเพื่อการปรับตัวในภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ  การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ ธ.ก.ส. ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีเนื้อหาทันสมัยตรงความต้องการ  การพัฒนาช่องทางสื่อสารความรู้ใหม่ๆสำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่

2) การพัฒนาฐานข้อมูลเกษตรกรเพื่อใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหา การวางแผนระดับพื้นที่หรือระดับประเทศเพื่อสนับสนุนการทำงานของ ธกส. และใช้ในการวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตรและชนบท

3) การติดตามข่าวภาคเกษตรและรับโจทย์จากพื้นที่เพื่อการกำหนดทิศทางการวิจัยและการพัฒนาใหม่ๆ

4) การร่วมทุนวิจัยด้านการเกษตรและการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ที่เป็นไปได้ อาทิ การปรับโครงสร้างภาคเกษตร การประกันภัยพืชผลเกษตร การพัฒนาสถาบันการเงินชุมชน การแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรอย่างเป็นระบบ  การสร้างนวัตกรรมจากเครือข่ายช่างชาวนา  การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชาวบ้านด้วยนวัตกรรม เป็นต้น

นอกจากพิธีลงนามความร่วมมือแล้ว ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้งานวิจัย ที่มีการเผยแพร่ขยายผลไปยังเกษตรกรหลายพื้นที่แล้ว อาทิ การสร้างสายพันธุ์ไก่เนื้อโคราช เพื่อการผลิตเป็นอาชีพวิสาหกิจชุมชนการใช้เทคโนโลยีปุ่ยสั่งตัดเพื่อลดต้นทุนการผลิต ฯลฯ

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ
http://www.trf.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=9637:2016-03-03-06-55-48&catid=44:2013-11-25-06-49-47&Itemid=369