7 กรกฎาคม 2559 --- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย จัดงาน Newton UK-South East Asia Innovation Leadership Conference ซึ่งเป็นงานสัมมนาและแสดงนิทรรศการผลงานนวัตกรรมระดับนานาชาติของผู้ได้รับทุนจากโครงการ Leaders in Innovation Fellowships Programme (LIF) ณ โรงแรมดุสิตธานี เพื่อเปิดเวทีให้นักวิจัยไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามได้ก้าวเข้าสู่โลกธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม การต่อรองเจรจาธุรกิจ การต่อยอดผลงานวิจัยกับนักลงทุน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจากสหราชอาณาจักร สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย รวมถึงขยายเครือข่ายวิจัยในระดับภูมิภาคอาเซียน
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวคิด “ประเทศไทย 4.0” ด้วยการยกระดับและต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมที่มีความได้เปรียบ ใช้ความรู้ เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ไปสร้างนวัตกรรมที่มีมูลค่าสูงขึ้น เพื่อให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องยกระดับรายได้ต่อหัวจาก 5,438 เหรียญสหรัฐฯในปัจจุบัน เป็น 12,616 เหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 2.32 เท่า ทั้งนี้การจะสร้างมูลค่าเพิ่มและมูลค่าการส่งออกของ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายนี้ให้เติบโตมากกว่าการเติบโตจากอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่เริ่มชะลอตัวลง กล่าวคือ “ทำน้อยได้มาก” กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเห็นความสำคัญและรับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาทั้งส่วนของนักวิจัยและผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก โดยได้มีนโยบายด้านการยกเว้นภาษี 300% ของค่าใช้จ่ายวิจัยพัฒนา สำหรับผู้ประกอบการการยกเว้นภาษีสำหรับผู้เชี่ยวชาญระดับสูงที่ทำงานในอุตสาหกรรม S -Curve ใหม่ การยกเว้นภาษีให้กับสตาร์อัพ เป็นต้น นอกจากนี้ยังส่งเสริมการแลกเปลี่ยนบุคลากรวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และภาคเอกชน หรือ Talent Mobility เพื่อแก้ปัญหาการกระจุกตัวขององค์ความรู้ที่อยู่กับบุคลากรในภาครัฐ ให้สามารถถ่ายทอดไปสู่ภาคเอกชนได้โดยจูงใจให้นักวิจัยในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของรัฐสามารถไปปฏิบัติราชการในภาคเอกชน โครงการ LIF จึงเป็นโครงการที่ดีที่นักวิจัยมีโอกาสจะได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งได้นำเสนอผลงานวิจัย อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ดีในการกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันและสร้างศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่เครือข่ายวิจัยอาเซียน อันจะทำให้ประเทศมีความยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต
ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ว่าเพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัย นักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสหราชอาณาจักร ให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานทางนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการและสร้างโอกาสทางการลงทุนให้เกิดนวัตกรรมจากงานวิจัยที่นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ส่วนกิจกรรมอื่น ได้แก่ Challenges Planning Session, Investor Matchmaking ซึ่งที่ผ่านมาสกว. ได้ร่วมมือกับ Royal Academy of Engineering ในการร่วมสนับสนุนโครงการ LIF ตั้งแต่ปี 2556 เพื่อมุ่งส่งเสริมศักยภาพของและความสามารถของนักวิจัยเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ ผ่านการอบรมทักษะทางธุรกิจพร้อมทั้งสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศจากผู้สร้างนวัตกรรมและผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม
ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า โครงการ LIF สนับสนุนการสร้างศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการให้กับนักวิจัยของไทย และสนับสนุนให้ผลงานวิจัยเกิดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ รวมถึงการสร้างเครือข่ายของนักวิจัยและผู้ประกอบการในระดับนานาชาติ รวมทั้งสิ้น 15 ทุน โดย สวทช. รับผิดชอบจำนวน 8 ทุน ผ่านการให้ทุนกับนักวิจัยและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่สนใจ ส่วนอีก 7 ทุน สกว.จะให้ทุนกับอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยตั้งแต่ปี 2015-2016 ได้มอบทุนวิจัยไปแล้ว 30 ทุน ขณะเดียวกัน RAEng ยังร่วมมือกับฟิลิปปินส์และเวียดนาม เพื่อสนับสนุนนักวิจัยของแต่ละประเทศด้วย จากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา 2 ปี พบว่าโครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก นักวิจัยที่ได้รับทุนได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง สามารถนำผลงานวิจัยของตนมาจัดทำแผนธุรกิจเพื่อผลักดันให้ผลงานเกิดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
อนึ่ง โครงการ LIF เป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักภายใต้การนำไปใช้ของ Newton Fund ซึ่งในประเทศไทยมีหน่วยงานความร่วมมือ คือ สกว. และ สวทช. โดยฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. ได้คัดเลือกนักวิจัยซึ่งมีนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างดีเยี่ยมเข้าร่วมโครงการมาแล้ว 2 รุ่น รุ่นละ 7 คน ในช่วงเวลา 2 ปี และในอนาคต สกว.จะสนับสนุนโครงการ LIF เพื่อสร้างเครือข่ายในภูมิภาคภายใต้ Newton Fund ในปี 2559- 2560 ประมาณช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักวิจัยไทยที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการรุ่นที่ 3 โดยจะต้องมีคุณสมบัติเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือพนักงานในหน่วยงานของรัฐหรือบริษัทผู้ประกอบการ และเป็นเจ้าของผลงานที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้จะต้องมีงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ด้านอาหาร เทคโนโลยีทางการเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมโยธา วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ การออกแบบทางวิศวกรรม วิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วิศวกรรมเครื่องยนต์ และวิศวกรรมทางการแพทย์ โดยต้องไม่เป็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ และมีทักษะภาษาอังกฤษในระดับดี
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ
http://www.trf.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=9682:2016-04-12-11-01-56&catid=44:2013-11-25-06-49-47&Itemid=369