ไบโอเทค สวทช. จับมือ มูลนิธิมั่นพัฒนาเพื่อสร้างบุคลากรและชุมชนต้นแบบพลังปัญญา เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ มูลนิธิมั่นพัฒนา ลงนามความร่วมมือสนับสนุนโครงการพลังปัญญา เพื่อสร้างบุคลากรและชุมชนต้นแบบ  ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชา ศาสตร์ปราชญ์ชาวบ้าน และศาสตร์สากล วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน  มาสู่การปฏิบัติจริง เพื่อสร้างความสุขอย่างยั่งยืนสู่ชุมชน ผ่านการเพิ่มศักยภาพของผู้นำให้มีศักยภาพในการพึ่งพาตนเองได้ เป็นเหตุเป็นผล มีคุณธรรม และพร้อมแบ่งปัน เพื่อสร้างสังคมแห่งความมีน้ำใจ ความเมตตา และการให้โอกาส เพื่อการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันที่สมดุลและยั่งยืน

alt

ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา  ประธานกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา กล่าวว่า มูลนิธิมั่นพัฒนา มีบทบาทในการเผยแพร่งานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ศาสตร์พระราชา” ซึ่งเป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เพื่อแก้ไขพัฒนาให้ประชาชนในแต่ละภูมิสังคมสามารถดำรงชีพได้อย่างสมดุลในมิติด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม อย่างมั่นคง และยั่งยืน จึงได้รวมพลังกับ สวทช. ในการดำเนินโครงการ “พลังปัญญา” มาแล้วกว่า 2 ปี และกำลังที่จะมุ่งพัฒนาโครงการให้มีพัฒนาการที่ดี โครงการนี้มุ่งสร้างผู้นำในชุมชนท้องถิ่นให้มีศักยภาพ ใช้เหตุและผลเป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิต ปรับกระบวนการความคิดให้ออกจากกรอบ แต่ยังคงอยู่ภายใต้ความรู้และคุณธรรมที่มีอยู่ ที่สำคัญคือการนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้คู่กับศาสตร์ท้องถิ่นและศาสตร์สากลที่เป็นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จนสามารถทำให้สร้างผู้นำพลังปัญญาและขยายผลออกไปเกิดเป็นเครือข่ายองค์ความรู้ อันจะนำไปสู่สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืนตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

alt  alt

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า สวทช. ซึ่งมีพันธกิจในการมุ่งสร้างเสริมการวิจัย พัฒนา ออกแบบ และวิศวกรรม จนสามารถถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์ พร้อมส่งเสริมด้านการพัฒนากำลังคน และโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จำเป็น เพื่อสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน รวมถึง พัฒนาชุมชนชนบทซึ่งเป็นรากฐานของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ด้วยการส่งเสริมการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละชุมชน โดยมุ่งเป้าเพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งพลังปัญญามุ่งเป้าตอบโจทย์ดังกล่าวได้อย่างตรงจุด เกิดการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ส่งเสริมการคิดนอกกรอบ และการสร้างกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ตามหลักวิทยาศาสตร์บนฐานสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

alt  alt

โครงการพลังปัญญาได้เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2557 ภายใต้ความร่วมมือก่อตั้งจาก 5 องค์กร คือ มูลนิธิมั่นพัฒนา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กองทัพบก เอสซีจี และหอการค้าไทย เพื่อสร้างผู้นำยุคใหม่ ด้วยหลักการคิดนอกกรอบ คิดเป็นเหตุเป็นผลตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาตนเอง และชุมชนอย่างสมดุล (พอเพียง) และยั่งยืน ใน 4 มิติ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม โดยเริ่มดำเนินการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ให้กับเกษตรกร และประชาชน มากกว่า 25,000 คน เกิดผู้นำในท้องถิ่นกว่า 600 คน ที่กำลังดำเนินการขยายผลสร้างชุมชนแห่งความสุขกว่า 39 ชุมชน  ใน 200 หมู่บ้าน สร้างเครือข่ายพัฒนาชุมชนให้พึ่งพาตนเอง ที่เติบโตร่วมกันอย่างสมดุลและยั่งยืน  สามารถศึกษารายละเอียดโครงการพลังปัญญา และติดตามความก้าวหน้าของโครงการได้ที่  www.palangpanya.com หรือ  Face Book: พลังปัญญา

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ 

http://www.nstda.or.th/news/22127-nstad