สกว. จับมือภาคเอกชนและนักวิจัย เดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมเพื่อคนไทยและประเทศไทย 4.0 หวังส่งเสริมสุขภาพกระดูกที่ดีของคนไทย ชี้กลุ่มผู้สูอายุเป็นตลาดสำคัญในอนาคต พร้อมต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เปิดตัวเครื่องดื่มชนิดผงที่ปรับสูตรให้มีประสิทธิภาพดูดซึมได้ดีขึ้นและรสชาติดีดื่มง่าย
20 กันยายน 2559 ---- ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการประจำปี 2559 ศ. ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สกว. และ ศ. ดร. นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สังกัดหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก และภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมปาฐกถานำเรื่อง “ทิศทางของ สกว. ในยุคประเทศไทย 4.0” ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล โดยมีผู้แทนจากบริษัทเอกชนร่วมเสวนาความสำคัญและทิศทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียม และการบรรยายเรื่อง “ความท้าทายของฝ่ายวิชาการ สกว. ในการนำพาประเทศสู่เศรษฐกิจที่พึ่งนวัตกรรม” โดย รศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สกว.
ทั้งนี้งานวิจัยภายใต้ “โครงการวิจัยบูรณาการด้านเมแทบอลิซึมของแคลเซียมและการศึกษาโครงสร้างของกระดูกในระดับจุลภาค” ของ ศ. ดร. นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมสุขภาพกระดูกที่ดีของคนไทย ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของลำไส้ในการดูดซึมแคลเซียมและแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น ธาตุเหล็ก ทั้งในภาวะปกติและภาวะที่มีความต้องการแคลเซียมสูง รวมถึงโรคหรือบางภาวะที่ส่งผลกระทบกับการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้ เช่น ภาวะเครียดเรื้อรัง โรคเบาหวาน เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องคำนึงถึงการทำงานของฮอร์โมนที่ควบคุมการดูดซึมแคลเซียมหลายชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินดี ฮอร์โมนโพรแลคติน ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต และเฮปไซดิน
ในการทำงาน 1 ปีที่ผ่านมากลุ่มวิจัยได้ค้นพบองค์ความรู้ใหม่ที่มีความสำคัญ ได้แก่ (1) การดูดซึมเหล็กที่ลำไส้จะรบกวนการดูดซึมแคลเซียม ทำให้ร่างกายได้รับแคลเซียมน้อยลง ดังนั้นการรับประทานอาหาร อาหารเสริม หรือยาที่มีเหล็กเป็นองค์ประกอบ ต้องทิ้งระยะเวลาให้ห่างจากการรับประทานแคลเซียม นอกจากนี้ยังพบว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมให้ได้ผลดีจำเป็นต้องมีสารอาหารอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์กระตุ้นการดูดซึมแคลเซียมอยู่ในผลิตภัณฑ์ด้วย ซึ่งปัจจุบันกลุ่มวิจัยได้ทำงานร่วมกับบริษัทยาไบโอฟาร์มเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียม (2) โรคกระดูกพรุนพบได้ในโรคทางกายและจิตเวชหลายชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคธาลัสซีเมีย และโรคเครียด โดยมีพยาธิกำเนิดต่างจากกระดูกพรุนทั่วไป ทำให้การรักษาต้องมีการวางแผนอย่างเฉพาะเจาะจง ทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันและควบคุมไม่ให้โรคเหล่านั้นลุกลามจนส่งผลเสียต่อกระดูก ทั้งนี้หน่วยวิจัยฯ อยู่ในระหว่างการศึกษายาหลายชนิด ทั้งยารักษาเบาหวานชนิดใหม่ ๆ ตลอดจนการออกกำลังกายแบบต่าง ๆ เพื่อใช้ในการชะลอการลดลงของมวลกระดูกเมื่อเป็นเบาหวานหรือเมื่อร่างกายอยู่ในภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งเป็นระยะก่อนเป็นเบาหวาน (3) การค้นพบบทบาทของฮอร์โมนชนิดใหม่ ๆ เช่น ไฟโบรบลาสต์โกรทแฟคเตอร์-23 ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะใช้เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพว่ารับประทานแคลเซียมเพียงพอหรือไม่
“ขณะนี้เราได้พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมสำหรับแม่ที่กำลังให้นมลูก เป็นเครื่องดื่มชนิดผงที่ปรับสูตรให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น และรสชาติดีรับประทานได้ง่าย ซึ่งจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว ผลิตภัณฑ์นี้ใช้เวลาพัฒนานานกว่า 5 ปี โดยมี สกว. และมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้พื้นฐานที่จำเป็น และมี สวทช. เป็นผู้สนับสนุนให้ทดสอบในสัตว์ทดลองและมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยอีกหลายเรื่องที่ตีพิมพ์ระดับนานาชาติ รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับนักวิจัยที่มากความสามารถจากหลายสถาบัน อาทิ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช, คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจนมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยบริสตอล ประเทศสหราชอาณาจักร และมหาวิทยาลัยสตราส์บูร์ก ประเทศฝรั่งเศส ตลอดจนพัฒนากำลังคนด้านการวิจัย และเผยแพร่ผลงานในรูปแบบต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ” เมธีวิจัยอาวุโส สกว. กล่าว
ขณะที่งานวิจัย “โครงการวิจัยเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีแคลเซียมและคอลลาเจนสูงและวัสดุนาโนคอมโพสิตจากเกล็ดปลา” ของ ศ. ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ ปัจจุบันมีต้นแบบของวัสดุนาโนที่อาจใช้เป็นกระดูกเทียม ตลอดจนทราบวิธีการพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น อาทิ การเพิ่มกรดอะมิโนหรือเปปไทด์บางชนิดในสัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นการดูดซึมแคลเซียม เป็นต้น นอกจากนี้ยังพัฒนาเครื่องดื่มเสริมแคลเซียมจากเกล็ดปลา ซึ่งอยู่ในระหว่างการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อจดสิทธิบัตร โดยงานวิจัยบางส่วนมีความร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น อุตสาหกรรมอาหารทะเล และบริษัทมหาชนด้านการแปรรูปอาหารทะเล เป็นต้น
ด้าน ศ. ดร.เดวิด เชพเพิร์ด จากมหาวิทยาลัยบริสตอล สหราชอาณาจักร อธิบายถึงขั้นตอนการสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนายาเพื่อรักษาโรคซิสติกไฟโบรซิส ระหว่างการบรรยายเรื่อง “Drug therapies for cystic fibrosis targeting specific mutations” ว่าโรคดังกล่าวเป็นโรคทางพันธุกรรมที่รักษายาก และผู้ป่วยมักเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อในปอด หรือลำไส้อุดตัน ทางกลุ่มวิจัยฯ ยังพบว่ายีนที่กลายพันธุ์นี้เกี่ยวข้องกับการทำงานของพาราไทรอยด์ฮอร์โมนที่เซลล์ลำไส้ด้วย ซึ่งฮอร์โมนนี้มีความสำคัญเพื่อใช้เพิ่มระดับของแคลเซียมในเลือดและยังใช้ควบคุมการขนส่งไอออนประจุลบในลำไส้
“การสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านแคลเซียมและกระดูก ตลอดจนการต่อยอดให้กลายเป็นนวัตกรรม ต้องบูรณาการศาสตร์ที่หลากหลายทั้งฟิสิกส์ เคมี วัสดุศาสตร์ ชีวเคมี สรีรวิทยา และการแพทย์ เนื่องจากกระดูกมีทั้งส่วนที่เป็นชีวภาพ (เซลล์และโปรตีนต่าง ๆ) และกายภาพ (ความแข็งแรงและความยืดหยุ่น) กระดูกยังเป็นเนื้อเยื่อที่เปลี่ยนแปลงช้า ใช้เวลานานในการสร้าง และเมื่อเกิดความผิดปกติก็ต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไข อีกทั้งโรคกระดูกพรุนยังเกี่ยวข้องกับความเสื่อมในวัยชรา การวิจัยด้านนี้จึงต้องรอการบ่มเพาะความรู้ด้วยความอดทน รวมถึงความเข้าใจถึงธรรมชาติของศาสตร์แขนงนี้ของสถาบันการศึกษา แหล่งทุนวิจัย ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในยุคประเทศไทย 4.0 เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมที่พัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยไทยเพื่อคนไทย เป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างสุขภาพกระดูกที่ดีอย่างยั่งยืนในอนาคต
ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญและช่องว่างทางการตลาดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียม เนื่องจากปัจจุบันมีประชากรกลุ่มนี้มากถึงร้อยละ 13 ของประชากรทั้งหมด และจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ปริมาณแคลเซียมที่แนะนำให้คนไทยรับประทานต่อวัน คือ 800 มิลลิกรัม แต่คนไทยส่วนใหญ่จะได้รับเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น โดยคนทั่วไปไม่จำเป็นต้องรับประทานแคลเซียมเสริมเพราะต้องรับประทานต่อเนื่องเป็นประจำและราคาค่อนข้างสูง แต่สามารถรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากนม ปลาตัวเล็กตัวน้อย งาดำ ผักใบเขียว เช่น คะน้า ก็เพียงพอแล้ว ส่วนผู้ที่ดื่มนมแล้วท้องเสียแนะนำให้ดื่มนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ตที่มีน้ำตาลน้อยแทน สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องรับประทานแคลเซียมเสริม คือ กลุ่มผู้สูงวัยโดยเฉพาะหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งระดับฮอร์โมนจะลดลงเร็วกว่าผู้ชาย และมีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน 1 ใน 3 นอกจากนี้ยังควรลดอาหารที่มีออกซาเลตและไนเตรทในปริมาณสูง ๆ รวมถึงน้ำกระด้าง” ศ. ดร. นพ.นรัตถพล สรุปทิ้งท้าย
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ
http://www.trf.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=9964:2016-05-22-16-11-13&catid=44:2013-11-25-06-49-47&Itemid=369