“สวมถุงมือ” ก่อนสัมผัสอาหาร อาจไม่ช่วยลดการปนเปื้อน
“สวมถุงมือ” ก่อนสัมผัสอาหาร อาจไม่ช่วยลดการปนเปื้อน ?

เมื่อเห็นพ่อค้าแม่ค้า แม่ครัวทำอาหาร สวมถุงมือไม่สัมผัสอาหารจากมือของตัวเองโดยตรง เราอาจคิดว่าวิธีนี้จะช่วยให้อาหารที่เราได้รับสะอาด ลดการปนเปื้อนเชื้อโรคจากการหยิบจับอาหารด้วยมือจริง ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วความคิดนี้ถูกต้องเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น

ภาครัฐรณรงค์ผู้ประกอบอาหารสวมถุงมือทุกครั้ง

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ผู้สัมผัสอาหารสวมถุงมือยางในการปรุงประกอบอาหารทุกครั้ง หวังลดการปนเปื้อนเชื้อโรคจากการสัมผัสทางมือ เพื่อลดความเสี่ยงเชื้อโรคต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร หลังพบรายงานผู้ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงตั้งแต่เดือนมกราคม - สิงหาคม 2562 จำนวน 656,341 ราย

สวมถุงมือก่อนสัมผัสอาหาร อาจไม่ช่วยลดการปนเปื้อน ?

ข้อสังเกตคือ พ่อค้าแม่ค้าริมถนน หรือร้านอาหารบางร้าน อาจมีคนทำอาหาร คนเสิร์ฟ และคนคิดเงินเดียวกัน รวมถึงร้านขายผลไม้รถเข็น การสวมถุงมือเพื่อหยิบอาหารสด หรือเนื้อสัตว์ดิบ แล้วมาหยิบอาหารที่สุกแล้ว รวมถึงรับ-ทอนเงินจากลูกค้าโดยไม่มีเปลี่ยน หรือถอดถุงมือออกก่อน การสวมถุงมือก็ไม่ได้ช่วยลดการปนเปื้อนเชื้อโรคแต่อย่างใด เพราะเชื้อโรคอาจมาจากเนื้อสัตว์ดิบ ไข่ดิบ รวมถึงเงินสดทั้งธนบัตร และเหรียญ

ใช้ถุงมืออย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคในอาหาร

  1. ใช้ถุงมือยางสำหรับอาหารโดยเฉพาะ
  2. เลือกใช้ถุงมือกับอาหารประเภทเดียวกันเท่านั้น ไม่ใช้ปะปนกัน เช่น ถุงมือ 1 คู่ต่ออาหารดิบ อาหารปรุงสุกด้วยความร้อนแล้ว อาหารพร้อมปรุง อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูป เป็นต้น
  3. ควรเลือกถุงมือยางจากยางพาราธรรมชาติที่มีคุณภาพดี และมีความปลอดภัยในการใช้งาน ไม่สกปรก ไม่ฉีกขาด สวมใส่ง่าย
  4. ห้ามใช้ถุงมือที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล เพราะอาจจะปนเปื้อนและเป็นแหล่งนำเชื้อโรคและสิ่งสกปรกต่าง ๆ มาสู่อาหารได้
  5. หากต้องไปสัมผัสกับอาหารประเภทอื่น หรือต้องหยิบจับสิ่งของอื่น ๆ เช่น เงิน ควรถอดถุงมือออกก่อนทุกครั้ง
  6. ควรเปลี่ยนถุงมือทุกวัน ไม่ควรใช้ซ้ำ เพราะอาจทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคได้ หากถุงมือเปื้อนมากก็ควรรีบเปลี่ยนทันทีเช่นกัน

นอกจากความสะอาดของถุงมือแล้ว ผู้สัมผัสอาหารควรเข้มงวดในการสร้างสุขลักษณะที่ดีให้กับตนเอง ดังนี้

  1. ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำ และสบู่ทุกครั้งก่อนที่จะปรุงประกอบอาหาร 
  2. หลังจากใช้ห้องส้วม และไม่ควรใช้มือ หยิบจับอาหารโดยตรง ควรใช้อุปกรณ์หยิบจับ โดยเฉพาะอาหารที่พร้อมรับประทาน 
  3. สถานที่ในการใช้ปรุงประกอบอาหารต้องสะอาด เป็นระเบียบ เนื่องจากอาหารอาจถูกปนเปื้อนได้ง่ายจากเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป
  4. ทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรคบริเวณโต๊ะที่ใช้เตรียมปรุงอาหาร เตาหุงต้มอาหาร พื้น ผนัง เพดานของห้องครัวให้สะอาดอยู่เสมอ 
  5. ผ้าเช็ดทำความสะอาดต้องแยกใช้เฉพาะแต่ละบริเวณ เช่น ผ้าที่ใช้เช็ดโต๊ะ ต้องแยกจากผ้าที่ใช้เช็ดพื้น และต้องซักทำความสะอาดบ่อย ๆ

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ

iStock,กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และ https://www.sanook.com/health/17469/